สถาบัน The American Institute of Architects (AIA) และคณะกรรมการ Committee on the Environment (COTE) ได้คัดเลือกโปรเจคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1997 และ 10 โปรเจคต่อไปนี้ ได้รับเลือกให้เป็นผลงานที่ผสมผสานการออกแบบกับเทคโนโลยี และระบบของธรรมชาติได้ดีที่สุดแห่งปี 2016
1. Biosciences Research Building (BRB); Galway, Ireland
ออกแบบโดย Payette and Reddy Architecture + Urbanism
2. Center for Sustainable Landscapes (CSL); Pittsburgh
3. Exploratorium at Pier 15; San Francisco

Exploratorium เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีจุดเด่นที่นิทรรศการ Interactive จัดแสดงเกี่ยวกับนวัตกรรมและความยั่งยืน ในส่วนอาคารของ Exploratorium นั้น ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยปรับปรุงท่าเรือประวัติศาสตร์ของซาน ฟรานซิสโก ชื่อ Pier 15 มาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีแผงโซลาร์เซลล์ยาวถึง 800 ฟุต (ประมาณ 244 เมตร) ผลิตไฟฟ้าได้ 1.3 เมกะวัตต์ ใช้น้ำบริเวณชายฝั่งในการหล่อเย็นจากใต้อาคาร วัสดุที่ใช้ก็ต้องทั้งยั่งยืนและแข็งแรง ทนต่อสภาพภูมิอากาศผันผวนของชายฝั่งทะเลได้ ที่นี่ยังเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Museum) แห่งแรกของประเทศอีกด้วย
4. H-E-B at Mueller; Austin, TX
ออกแบบโดย Lake|Flato Architects, H-E-B Design + Construction, Selser Schaefer Architects
ห้างสรรพสินค้าที่รวบรวมเอาร้านค้าระดับ 4 ดาว ตลาด ร้านขายยา ร้านกาแฟ ห้องประชุม รวมไปถึง ปั๊มน้ำมันที่ต้อนรับผู้คนจาก 16 ชุมชนโดยรอบ ตั้งอยู่ที่ Mueller ชุมชนยั่งยืนของ Austin, Texas กลยุทธ์ในการออกแบบที่นี่เริ่มตั้งแต่มีการวิจัย ตั้งเป้าหมาย ก่อนนำเอาผลลัพธ์ที่ได้มาออกแบบระบบทำความเย็นทั้งหมด การใช้แสงธรรมชาติในอาคาร ทั้งด้านความสว่าง และการผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านโซลาร์เซลล์ มีแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ใช้หลอดไฟ LED ทั้งโครงการ และยังนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำไปรดน้ำต้นไม้ ชักโครก และใช้ใน Cooling Tower
5. Jacobs Institute for Design Innovation; Berkeley, CA
ออกแบบโดย Leddy Maytum Stacy Architects
6. Rene Cazenave Apartments; San Francisco
ออกแบบโดย Leddy Maytum Stacy Architects and Saida + Sullivan Design Partners, Associated Architect
เป็นอาคารสร้างใหม่หลังแรกของโครงการพัฒนาเขต Transbay มีจุดประสงค์เพื่อสร้างชุมชนที่มีราคาไม่สูง มีสังคมที่ดี และยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แนวคิดในการออกแบบคือ “Healthy, Transparent, Nurturing และ Life Changing” ภายในประกอบด้วยสตูดิโออพาร์ทเมนต์ขนาดเล็กราคาย่อมเยาสำหรับผู้อาศัยที่มีรายได้น้อย และสาธารณูปโภคเบื้องต้น นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น Solar Canopy สวนบนหลังคา และ Shear wall ที่ปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงชั้นผนังภายนอกที่มีประสิทธิภาพสูง ถูกนำมาใช้ร่วมกับการออกแบบจนทำให้อพาร์ทเมนต์หลังนี้ใช้แสงธรรมชาติถึง 96% ของแสงสว่างภายในอาคาร และมีการระบายอากาศตามธรรมชาติถึง 68% นอกจากนี้ทุกห้องพักยังมองเห็นวิวสวนหรือคอร์ทกลาง และยังมีแผนจะพัฒนาระบบการนำน้ำจากท่อน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ นับเป็นโปรเจคที่สร้างมาตรฐานไว้สูงสำหรับการพัฒนาพื้นที่ส่วนอื่นของโครงการ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนไม่แพ้กัน
7. The Dixon Water Foundation Josey Pavilion; Decatur, TX
ออกแบบโดย Lake|Flato Architects
อาคารอเนกประสงค์ของสถาบัน The Dixon Water Foundation สำหรับเป็นห้องเรียน และจัดประชุมให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน ภารกิจของสถาบันคือ “การส่งเสริมพื้นที่ลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยการจัดการที่ดินแบบยั่งยืน” มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทุ่งปศุสัตว์ในเชิงลึก และการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อทุ่งหญ้า และพื้นที่ลุ่มน้ำ อาคารทั้งหลังไม่มีระบบไฟฟ้าและปรับอากาศ แต่ใช้การ “พับ” ผนังเพื่อเปิดรับ หรือปิดกั้นตามสภาพอากาศในแต่ละวัน ทำให้ทั้งโปรเจคมีการใช้แสงและการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติ 100% นอกจากนี้ยังมีระบบเก็บน้ำฝนทั้งหมดไว้ใช้ และที่น่าสนใจอีกเรื่องคงหนีไม่พ้นการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Wetland แทนระบบบ่อเกรอะซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลภาวะในน้ำใต้ดิน
8. The J. Craig Venter Institute; San Diego
ออกแบบโดย ZGF Architects LLP
ห้องทดลองชีววิทยาแห่งแรกของประเทศ ที่ได้รับประกาศนียบัตรการใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Biological Lab) ในพื้นที่ 44,607 ตารางฟุต (ประมาณ 4,144 ตารางเมตร) แบ่งเป็นส่วนห้องแล็บเปียก และห้องแล็บแห้งรวมกับสำนักงาน เนื่องจากการออกแบบงานระบบของทั้ง 2 ส่วนแตกต่างกัน เชื่อมต่อพื้นที่ด้วยลานกลาง ซึ่งเป็นที่พบปะพูดคุยของกลุ่มนักวิจัย ที่นี่มีแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้า แต่ในช่วงกลางวันก็สามารถใช้แสงและการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติได้ถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมด รวมไปถึงมีระบบกักเก็บน้ำฝนนำมาใช้ในส่วนต่าง ๆ ทำให้ลดการใช้น้ำประปาไปได้ถึง 41%
9. University of Wyoming – Visual Arts Facility; Laramie, WY
ออกแบบโดย Hacker Architects and Malone Belton Able PC
อาคารถูกออกแบบให้มีความทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย และสามารถปรับเปลี่ยนสเปซได้ตามการใช้งานและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างแสงแดดและพื้นที่ภายในอาคาร เพื่อออกแบบการใช้สอย พื้นที่ส่วนมากใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สตูดิโอ และที่ส่วนกลางจึงใช้แสงและการระบายอากาศตามธรรมชาติ มีเพียง 15% เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ควบคุมแสง นอกจากการใช้งานแล้ว ความสวยงามทางสถาปัตยกรรมของโปรเจคนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานของนักศึกษาหลายคนอีกด้วย
10. West Branch of the Berkeley Public Library; Berkeley, CA
ออกแบบโดย Harley Ellis Devereaux
เมือง Berkeley มีแผนจะปรับปรุงหรือสร้างห้องสมุดใหม่ 4 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน หลังจากทำเวิร์คชอปร่วมกับคนในเมืองแล้วพบว่าการสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมน่าจะดึงคนเข้ามาใช้บริการได้มากกว่า ห้องสมุดแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้น โปรเจคประกอบด้วยพื้นที่ส่วนห้องสมุด ห้องประชุม สำนักงาน ที่จอดจักรยาน ที่พบปะพักผ่อน และส่วนงานระบบ เนื่องจากห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ติดถนนการใช้หน้าต่างอาจทำให้มีเสียงการจราจรเข้ามารบกวนกิจกรรมด้านใน จึงใช้ปล่องลม (Wind Shimney) มาระบายอากาศแทน และมีการวางแผนใช้พลังงานระบบ Active และ Passive ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงทำให้ได้รับประกาศนียบัตรการเป็นห้องสมุดสาธารณะที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Museum) แห่งแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย
ภาพและข้อมูลจาก http://www.aiatopten.org และ http://www.archdaily.com