‘สายตาช่างสังเกต มือของนักประดิษฐ์ ความคิดอย่างศิลปิน และจิตวิญญาณของนักออกแบบ ส่วนผสมที่จะทำให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่คนอื่นมองผ่าน สร้างสรรค์งานออกแบบได้อย่างมีเอกลักษณ์และมีเสน่ห์เฉพาะตัว’
Location : 149-153 Wualai Road Hai-Ya District Muang Chiang Mai 50100
Owner & Lead Designer : คุณภู ภูริทัต คุณุรัตน์
Photo : Chaiyaporn Sodabunlu / DsignSomething
การรีโนเวทอาคารที่มีอายุเก่าแก่ อาจเหมือนการแกะกล่องของขวัญจากอดีตอันไกลโพ้น ไม่มีใครรู้ว่าช่างหรือนักออกแบบในสมัยก่อนซ่อนอะไรไว้ภายในนั้นบ้าง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราต้องค่อยๆคลายเชือกริบบิ้นออก แกะห่อกระดาษและเปิดกล่องอย่างระมัดระวัง นอกจากอะไรก็ตามที่อยู่ภายในจะไม่เสียหายแล้ว ยังจะได้วัสดุเก่าสภาพดี ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่นเดียวกันกับมุมมองและแนวคิดของกลุ่มภูมิสถาปนิกทั้งเจ็ดคน ที่เข้ามารื้อความทรงจำภายใน เพื่อฟื้นชีวิตโกงดังเก่าให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการเป็นที่พักพิงที่จะทำให้นักเดินทางได้สัมผัสกับความเป็นเชียงใหม่ในแบบ Oxotel บนถนนวัวลาย ถนนคนเดินสายศิลปหัตถกรรมแห่งนี้
‘ผลลัพธ์ไม่ได้อยู่ที่ความเพอร์เฟ็กต์ แต่คือประสบการณ์ที่ได้จากการทดลองในงานดีไซน์ มากกว่า … ‘
ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นภูมิสถาปนิกหันมาจับงานรีโนเวทพร้อมทั้งดีไซน์พื้นที่ภายในอาคาร แต่คุณภู Lead designer เล่าว่า นี่คือสิ่งที่เขาชอบและถนัดอยู่แล้วเป็นทุนเดิม Oxotel จึงถูกสร้างขึ้นจากมุมมองหลายมิติ นอกจากจะเป็นงานซ่อมบำรุงอาคารเก่าให้กลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว มันยังถูกเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานจากโกดังไปเป็นที่พักอาศัย นี่จึงเป็นงานทดลองในการสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน ภายใต้โครงสร้างอาคารเก่าที่เป็นโจทย์เดิม
Harmony In Contrast
เริ่มจากการออกแบบที่มีแค่ แปลน หรือ ผังพื้น เพื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอยของอาคาร ส่วนดีไซน์และการตกแต่งล้วนตามมาหลังจากนั้น โดยเมื่อรื้ออาคารเก่าออกอย่างระมัดระวัง ทำให้เห็นโครงสร้างภายใน และชิ้นส่วนประกอบอาคาร ที่มีความน่าสนใจซ่อนใจอยู่ คุณภูจึงหยิบยกสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวกำหนดทิศทางรูปแบบในการดีไซน์ทั้งหมด เป็นที่มาของกลิ่นอายสไตล์ Retro ที่ตลบอบอวลอยู่ในโครงสร้างแบบ Industrial Loft นั่นเอง
โลโก้ของโฮสเทล มีที่มาจากราวบันได สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงยุคสมัยของตัวอาคารเดิม
บานหน้าต่างเก่า ถูกดัดแปลงให้เป็นส่วนหนึ่งของเคาน์เตอร์ reception
Façadeเดิมด้านหน้า ที่มีฟอร์มเชื่อมโยงกับฟอร์มของราวบันไดและโลโก้
ประตูเหล็กยืดที่ถูกรื้อออก นำมาดีไซน์ให้สะท้อนรูปแบบเดิมของอาคาร ด้วยการเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งาน หรือนำไปประยุกต์ใช้ในการตกแต่งตามส่วนต่างๆ
เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่คุณปูเลือกมาใช้ ต่างก็มีแบล็คกราวน์เป็นของตัวเอง บางชิ้นเป็นของเดิมที่อยู่มากับตึก เก้าอี้บางตัวก็หามาได้จากร้านขายของเก่า หรือออกแบบแล้วสั่งทำ หากเป็นของที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไปเช่นหมอนและพรม ก็จะพยายามเลือกสีหรือลวดลายที่เชื่อมโยงกับรูปแบบของโลโก้ ซึ่งเป็นกิมมิคของโฮสเทล
ส่วนของห้องพัก แบ่งเป็น 3 Type คือ Dormitory, Private Shared และ Private Caravan ใช้ห้องน้ำรวม แยกชาย-หญิง บนชั้นสองของตึกด้านหลังที่สร้างขึ้นใหม่เชื่อมต่อกับตึกเก่า เพื่อแยกระบบสุขาภิบาลออกไป ลดปัญหาความยุ่งยากในการจัดการระบบท่อในการรีโนเวทอาคาร
ชั้นสามส่วนของ Private Shared เคยเป็นดาดฟ้ามาก่อน เก็บโครงสร้างหลังคาเก่าเอาไว้ กลายเป็นโครงสร้างตกแต่ง แล้วใช้วิธีก่อผนังเบากั้นเป็นห้องพัก
ห้องน้ำ ถูกจัดไว้ในตึกที่สร้างขึ้นใหม่ เชื่อมกับตึกเก่าด้วยทางเดินช่วงโถงบันได
ห้องพักในรถบ้าน เป็นส่วนของห้องพักที่มีห้องน้ำในตัว ตั้งอยู่ในสวนด้านหลัง
Green Common Area
จุดเด่นที่ไม่เหมือนโฮสเทลที่ไหน คือการมีพื้นที่สีเขียวแทรกอยู่ทุกที่ เป็นเสมือนปอดที่ทำให้อาคารถ่ายเทอากาศได้สะดวก และไม่กักเก็บความร้อน คุณปูยังให้ความสำคัญกับต้นไม้เดิมในโครงการ เช่น ต้นหม่อนขนาดใหญ่ หรือต้นมะรุม แม้จะเป็นพันธุ์ไม้ที่ยากต่อการดูแลรักษา เพราะเชื่อว่า ต้นไม้เหล่านี้มีชีวิตร่วมอยู่ในความทรงจำของเจ้าของเดิมไม่มากก็น้อย จึงเลือกที่จะปรับรูปแบบอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ หรือต้นไม้ที่ถูกเพิ่มเข้ามาให้เข้ากับต้นไม้เดิมแทน
ส่วนของ pantry ที่เปิดโล่งรับกับสวนโดยรอบ
บริเวณโถงบันไดชั้นสองและระเบียงด้านหน้า ปูหญ้าเทียม เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน
ตัดห้องพักออกไปหนึ่งห้อง เพื่อทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นสำหรับชั้นสาม ทำให้ทั้งชั้นมีความโปร่ง ไม่ทึบตัน
Artisan – ศิลปินที่เป็นได้ทั้งช่างฝีมือและดีไซเนอร์
ด้วยความชอบสะสมของเก่า รักการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และทำข้าวของใช้เองอยู่เสมอ จึงเกิดเป็น Artisan Café จากสาขาแรกที่ทำให้คุณปู ได้รับหน้าที่เป็น Lead Designer ในการออกแบบ Oxotel ทั้งหมด สู่สาขาสองของ Artisan ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการหยิบจับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งมาmatchกันได้อย่างลงตัว ที่มากกว่าความสมบูรณ์แบบ คือการทำให้สิ่งของที่ถูกทิ้งไปแล้วกลับมาใช้ได้ใหม่ ทั้งยังนำเสนอความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบการใช้งานที่ต่างออกไปจากเดิม
เสน่ห์โครงสร้างเก่า
เมื่อรื้อฝ้าเพดานออก ทำให้เห็นตงไม้รับพื้นชั้นสอง คานที่ปูนถูกกะเทาะออกเผยให้เห็นหินกรวดขนาดใหญ่ที่ช่างสมัยก่อนใช้ผสมปูน เสริมคานเหล็กเข้าไปช่วยให้พื้นรับน้ำหนักของชั้นสองได้มากขึ้น ลดความดิบ เพิ่มความนุ่มนวลด้วยการใช้แสง Warm White โดยเลือกรูปแบบดวงโคมให้เข้ากับภาพรวม
แนวคิดหลักที่คุณปูอยากสื่อสารผ่านการออกแบบ คือต้องการให้คนทั่วไปมองเห็นความสวยงามในความดิบ ความหยาบของวัสดุ การค้นหาความพอดีด้วยการ match สิ่งต่างๆ ด้วยรูปทรง สี หรือ ลวดลาย ที่ทำให้ดีไซน์ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไป เรียกได้ว่ามีความ ดิบแต่เนียบ เท่แต่นุ่มนวล เป็นคู่ตรงกันข้ามที่คอยเบรกกันให้พอดี
คุณปูเล่าทิ้งท้ายไว้ว่า ความภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้จากงานชิ้นนี้ คือการที่เจ้าของเดิมกลับมาเห็นตึก แล้วกล่าวขอบคุณที่ยังเก็บรายละเอียดบางอย่างของที่นี่เอาไว้ ทำให้ความทรงจำของเขายังมีส่วนร่วมอยู่ในชีวิตใหม่ของตึกหลังนี้