กระจกเงา อุปกรณ์พื้นๆที่ช่วยเปลี่ยนห้องธรรมดาให้กลายเป็นวังวนแห่งภาพลวงตา
Hongkun Art Auditorium
Architects : Penda
Location : Beijing , China
Area : 270 m2
Photographs : Xia Zhi
ปกติเวลาที่ได้ยินคำว่า auditorium หรือ หอประชุม เรามักจะติดภาพอาคารขนาดใหญ่ ที่ภายในมีห้องโถงกว้างและมีเพดานสูง เพื่อใช้จุคนจำนวนมาก แล้วจะเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าหอประชุมไม่ได้อยู่ในตึกขนาดใหญ่ แต่หลบมาซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวขนาดกว้างเพียง 1 คูหา ดังเช่นที่ Hongkun Art Auditorium หอประชุมขนาดจิ๋ว ที่ตั้งอยู่บนถนน the Southern 3rd ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่สร้างถัดจาก Hongkun Museum of Fine Arts โดยดีไซน์ออกมาในสไตล์โมเดิร์นเรียบง่าย แต่แฝงลูกเล่นกระจกเงาลวงตาภายในอาคาร
ก่อร่างสร้างกระจก
ทีมสถาปนิกได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากผลงานศิลปะของ Mc Escher ศิลปินชาวดัตช์ และ Salvador Dali ศิลปินชาวสเปน ซึ่งทั้งคู่นิยมสร้างงานศิลปะแบบลวงตาเหมือนกันทั้งคู่ จึงนำภาพเหล่านั้นมาตีความ เป็นคอนเสบต์ในการออกแบบหอประชุมแห่งนี้
…กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิด ห้องใครกว้างสุดในปฐพี…
เนื่องจากตัวอาคารด้านนอกเป็นตึกแถวขนาด 1 คูหา จึงค่อนข้างเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักออกแบบอยู่พอสมควรในการย่อฟังก์ชั่นการใช้งานของห้องขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กพอที่อยู่ในตึกแถว จึงนำวิธีการแก้ปัญหาห้องแคบเบื้องต้นอย่างการติดกระจกเงาที่ผนัง เพื่อสะท้อนให้เห็นความกว้างของห้องแบบไม่สิ้นสุดเข้ามาใช้ในอาคาร
ซึ่งทางทีมสถาปนิกได้เลือกใช้วิธีการจัดสรรพื้นที่แต่ละส่วน โดยสมมติเป็นก้อนแมสที่มีขนาดแตกต่างกันตามฟังก์ชั่นการใช้งาน ส่วนหอประชุม ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นหลักของอาคารก็มีขนาดใหญ่หน่อย ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีขนาดเล็กลดหลั่นกันไป ตามลำดับความสำคัญ
และเลือกใช้วิธีติดกระจกเงาในห้อง ซึ่งเป็นวิธีสุดเบสิกในการสร้างพื้นที่แคบให้มีขนาดกว้างขึ้น แต่จะติดตั้งกระจกเงาบานสี่เหลี่ยมเข้าไปเลยก็ดูจะธรรมดาเกินไป จึงเพิ่มลูกเล่นโดยการออกแบบกรอบผนังให้เป็นทรงโค้ง และเจาะรูวงกลมตรงกลางผนังทั้งสองด้าน จากนั้นจึงค่อยติดกระจกเข้าไป ส่วนเพดานก็กรุกระจกเงาให้เต็มพื้นที่เพดาน ให้คล้ายว่ายืนอยู่ท่ามกลางวังวนของภาพลวงตาที่สะท้อนให้เห็นความกว้างแบบไม่สิ้นสุด
ภายในอาคารได้เลือกใช้สีในโทน Neutral สร้างบรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่น ดูสบายตา ได้แบ่งที่นั่งออกเปน 2 ส่วน คือที่นั่งแบบสโลปขั้นบันได และเก้าอี้นั่งปกติ
มีการติดตั้งไฟ up-light ไว้ใต้ขั้นบันไดบางขั้น เพื่อสร้างบรรยากาศ
เมื่อเราได้เห็นแนวคิดและวิธีการที่ทางทีมสถาปนิกเลือกใช้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว ก็ทำให้เรารู้สึกว่าบางครั้งเราไม่จำเป็นคิดอะไรให้ซับซ้อนยุ่งยากหรอก เพราะวิธีการที่มันยากๆ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันดีความสวยงามของงานออกแบบเสมอไป บางครั้งวิธีการเบสิคๆ ที่เรามักมองข้ามนี่ล่ะ ที่มักจะช่วยให้เราสร้างสรรค์งานออกมาได้ดีไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกนำมันมาประยุกต์ใช้กับงานแบบไหนต่างหากล่ะ