OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

A House บ้านที่ดีจากข้างใน ออกแบบโดย Green Dwell

A House

เจ้าของ : จิรสีห์ – สุพินดา เตชาชาญ

สถาปนิก : Green Dwell โดย คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์

ตกแต่งภายใน : interior design farm

ภาพ : จิตตรัตน์ จินตศิริกุล

บ้านอยู่สบาย หรือ Well Being ที่เรามักได้ยินบ่อยๆนั้น แท้จริงแล้วมีความหมายในแง่มุมของการออกแบบบ้านสักหลังอย่างไร ครั้งนี้เราได้ไปคุยกับคุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ แห่ง Green Dwell ที่จะมาเล่าความเป็นมาของบ้าน A House หลังนี้ ที่เต็มไปด้วยความคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีกัน

img_5904“เราเชื่อว่า รูปฟอร์มของสถาปัตยกรรมไม่สำคัญเท่าความรู้สึก หรือความสุขของคนที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่อาศัยภายใน เพราะความงามของสถาปัตยกรรมไม่ได้ขึ้นกับรูปทรงเพียงอย่างเดียว  แต่ผู้ที่อาศัยต้องมีความสุขทั้งกายและใจ เพราะหากอาคารใดที่มีแต่รูปทรงที่ดี น่าสนใจ แต่กลับใช้งานไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ หรือกระทั่งก่อเกิดอันตราย สิ่งนั้นก็ไม่สามารถเป็นสถาปัตยกรรมที่ดี” คุณรักศักดิ์พูดถึงสถาปัตยกรรมที่ดีในสายตาของเขา

img_5910

จากความใส่ใจ สู่การออกแบบบ้าน

แนวทางในการออกแบบบ้านแต่ละหลัง คุณรักศักดิ์จะคิดถึงปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนในบ้าน นอกจากความชอบเรื่องสไตล์แล้ว จะลงรายละเอียดถึงเรื่องการใช้ชีวิต มีเรื่องของเวลาและกิจกรรมที่ใช้ของเจ้าของบ้าน เช่นเดียวกับบ้าน A House หลังนี้ “โดยก่อนที่เราจะทำการออกแบบ เราจะมีแบบสอบถามส่งให้เจ้าของบ้านตอบ จะเป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบ้านและนอกบ้าน ลักษณะความชอบ รสนิยมต่างๆ แล้วเราจะนำมาเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบ” คุณรักศักดิ์กล่าวเสริม

img_5904

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านถนนพระราม 9 เจ้าของบ้านเป็นคู่สามีภรรยาที่ตั้งใจจะมีลูกเพียงคนเดียว รักความเป็นส่วนตัว โดยบ้านนี้สร้างขึ้นในพื้นที่ดินเดียวกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ ของคุณจิรสีห์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน แต่ด้วยพื้นที่ดินเพียง 70 ตารางวา ซึ่งค่อนข้างน้อย แต่สถาปนิกมองว่าสามารถทำได้ โดยที่ยังมีพื้นที่สีเขียวเพียงพออยู่ โดยเจ้าของบ้านมีเพื่อนมาหาและจัดปาร์ตี้บ่อย จึงออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับพบปะเพื่อนๆที่ห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหาร ที่เชื่อมต่อไปยังระเบียงและสระว่ายน้ำได้ อีกทั้งยังมีห้องนั่งเล่นที่ชั้น 2 ในกรณีที่มีแขกคนสนิท ก็สามารถขึ้นไปใช้พื้นที่ได้

img_5981

“ส่วนของสระว่ายน้ำ เราถามเจ้าของบ้านว่าส่วนใหญ่ว่ายน้ำเวลาใดมากที่สุด ก็พบว่าจะว่ายน้ำช่วง 4 โมงเย็นเป็นต้นไป เราจึงเลือกวางตัวบ้านเป็นรูปตัวยู (U) ให้ร่มเงาของบ้านพาดไปยังสระว่ายน้ำหลังจาก 4 โมงเย็นเป็นต้นไป ก็จะเกิดการใช้งานที่ตรงจุดและใช้งานได้ดี” สถาปนิกกล่าวถึงการกำหนดตำแหน่งของสระว่ายน้ำ

img_5984

บ้านที่ดี บ้านต้องส่งเสริมคนให้มีความสุข

บ้านที่ดี ต้องส่งเสริมคนใช้งาน ไม่ใช่การที่เจ้าของบ้านต้องปรับตัวตามบ้าน โดยมีตัวสถาปัตยกรรม เป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางการใช้ชีวิตในบ้าน ส่งเสริมให้ครอบครัวแข็งแรง อบอุ่น ยกตัวอย่างบ้านหลังนี้ที่มีการออกแบบพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ในขณะที่เมื่อถึงเวลาส่วนตัว ก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่ดี การมองเห็นกันและกัน ในพื้นที่ที่มีความสบาย บรรยากาศดีๆ บ้านจะมีนัยยะสำคัญในการช่วยให้ครอบครัวแข็งแรง “เพราะทุกครั้งที่เราออกแบบบ้าน เราจะคิดเสมอว่าเราไม่ได้ออกแบบเพียงตัวอาคาร แต่เราได้มีส่วนช่วยในการออกแบบชีวิตคนในบ้านด้วย ซึ่งเราต้องรู้จักเจ้าของบ้าน รวมถึงทุกคนในบ้านให้ลึกที่สุด เพื่อนำมาออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมที่สุด”

img_5735

ถ้าเราคิดว่าเราออกแบบเพื่อผลงานของเรา เป็นอาคารที่เราออกแบบ เราก็จะมีจุดหมายและแนวทางอย่างหนึ่งแต่หากเราคิดตั้งต้นจากเจ้าของบ้านเป็นหลัก เราจะคิดถึงผู้อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก บางอย่างที่อาจไม่ได้เป็นความต้องการของเรานัก แต่สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งจำเป็นต่อเจ้าของบ้าน หน้าที่ของเราคือการเปลี่ยนความต้องการนั้น ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดและแนวทางของเราผสมผสานลงไปอย่างกลมกล่อมที่สุด

img_5712

เมื่อคุณรักศักดิ์ได้ทำงานออกแบบบ้านลูกค้ามาพักใหญ่ ก็เริ่มมีข้อมูลขั้นพื้นฐานที่จะเป็นรายละเอียดส่งเสริมให้บ้านนั้นเป็น บ้านที่อยู่สบาย หรือ Well Being จัดทำขึ้นเป็นคู่มือในการออกแบบบ้านที่ดี คุณรักศักดิ์ยกตัวอย่างรายละเอียดดังกล่าวให้เราเข้าใจง่ายๆว่า “เวลาเราออกแบบห้องน้ำ ทำยังไงให้ใช้งานง่าย จัดการง่าย โดยส่วนใหญ่เราใช้สบู่แบบกด การออกแบบขนาดช่องวางสบู่จึงสามารถกำหนดได้อย่างแน่นอน อาจมีตัวเลือกสัก 4-5 ขนาดตามจำนวนคนอยู่อาศัย หรือจะเป็นเรื่องครัวไทย การจัดเรียงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีควรเป็นอย่างไร เช่นที่วางฟองน้ำ ที่วางเครื่องปรุง ตำแหน่งของเตาที่เหมาะสม ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การอยู่อาศัยนั้นเข้าใกล้คำว่า ภาวะน่าสบาย มากที่สุด หรือแม้แต่เรื่องของห้องเก็บของ เรามีสูตรคำนวณขนาดของห้องเก็บของที่เหมาะสม เพราะยิ่งเรามีห้องเก็บของน้อย เราจะยิ่งมีของที่กองในบ้านมากมาย และการจัดการภายในห้องเก็บของ เราออกแบบชั้นต่างๆเพื่อให้เก็บของได้อย่างเป็นระเบียบ ใช้ง่าย จำง่าย เป็นต้น”

img_5722

Green Dwell ยังใช้โปรแกรมที่ช่วยคำนวณการรับและถ่ายเทอากาศของบ้านหลังนั้นๆได้อย่างแม่นยำ โดยปัจจัยที่สำคัญคือการรู้ว่าบ้านนั้นตั้งอยู่ที่ใด มีพื้นที่รอบข้างเป็นอย่างไร เราก็จะคำนวณหรือคาดการณ์การพัดพาของอากาศได้ และนำมาออกแบบช่องเปิด ช่องแสงที่เหมาะสม บ้านที่ประหยัดพลังงาน จึงไม่ใช่บ้านที่ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศเลย แต่เป็นบ้านที่ใช้งานสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด เช่นบ้านหลังนี้ที่เราตั้งใจวางตัวบ้านให้รับลมและหลบแดดมากที่สุด อีกทั้งผนังบ้านด้านทิศตะวันตก เรายังออกแบบให้ตัวผนังนั้นยื่นออกมาจากผนังของห้องจริงๆด้วยโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพื่อไม่ให้ความร้อนที่สาดส่องผนังด้านนั้นถ่ายเทความร้อนสู่ห้องได้

img_5708

ติดกับส่วนรับประทานอาหารนั้นคือบันไดที่ขึ้นไปยังชั้นบน ที่มีลักษณะที่เปิดโล่ง ทุกคนในบ้านสามารถมองเห็นกันและกันได้ เป็นการเชื่อมโยงทุกคนในบ้านได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็ค่อยแยกไปตามห้องส่วนตัวของแต่ละคน และที่เลือกการเปิด Double Space ที่ห้องรับประทานอาหารเพราะมองแล้วว่าเจ้าของบ้านใช้เวลารับประทานอาหารมากกว่าการนั่งเล่นที่ห้องนั่งเล่น และหากใช้เวลาน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นการประหยัดพลังงานได้มากimg_57211

บ้านเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่สมดุลที่สุด

ส่วนเรื่องของวัสดุ Green Dwell มองว่าทุกวันนี้ ทุกวัสดุมี “ตัวแทน” สถาปนิกต้องเลือกวัสดุ ที่นอกจากจะเหมาะกับเจ้าของแล้ว ยังเหมาะกับการใช้งานและโลกใบนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไม้สังเคราะห์ที่มาแทนไม้จริง ไม้เอ็นจิเนียร์วูดที่มาแทนไม้จริงทั้งท่อน วัสดุทดแทนเหล่านี้ใช้งานได้ทนทานกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าของบ้านต้องชอบและยินดีที่จะใช้ด้วยเช่นกัน

img_5730

ที่เลือกใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นโครงสร้างหลักนั้น เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับการก่อสร้างในพื้นที่นี้มากๆ เพราะสร้างในพื้นที่ดินติดกับบ้านของพ่อแม่เจ้าของบ้าน จึงต้องก่อมลพิษน้อยที่สุด และก่อสร้างเสร็จเร็วที่สุด อีกทั้งงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ยังตรวจเช็คงานง่าย เช็ครอยต่อ การเชื่อมการยึดได้ง่าย ชัดเจน

img_5980

เหล็กรูปพรรณรีดร้อนยังสามารถนำไปขายเพื่อหลอมขึ้นรูปใหม่ได้เกือบ 100 % เป็นการประหยัดทรัพยากรที่ดีมากๆวิธีหนึ่ง แถมตอนก่อสร้างยังเกิด “เศษวัสดุ” น้อย เพราะมีการตัดเชื่อมมาจากโรงงาน ไม่ต้องมีน้ำปูนหรือฝุ่นผงเหมือนงานคอนกรีตimg_5715

เรื่องของการไม่กักเก็บความร้อนก็เป็นอีกประโยชน์ที่ต่างจากคอนกรีตมาก แม้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนจะสามารถดูซับความร้อนได้ดี ได้เร็วกว่า แต่อีกแง่หนึ่งก็สามารถคลายความร้อนออกไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ต่างจากคอนกรีตหรือปูน ที่จะค่อยๆ สะสมความร้อนไว้ อาจร้อนช้ากว่าเหล็ก แต่จะเก็บความร้อนไว้นานกว่า เห็นได้จากเมื่อเวลากลางคืนแล้ว คอนกรีตยังคงคลายความร้อนอยู่ บ้านจึงร้อนและต้องเปิดเครื่องปรับอากาศหนักขึ้นนั่นเอง

img_5713

หลายครั้งที่เรามองอะไรมากมายบนโลกนี้จากสิ่งที่เป็นเปลือก หรือสิ่งที่อยู่ภายนอก โดยตัดสินจากสิ่งที่เห็นเท่านั้น แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ หากยังไม่ได้เห็นข้างใน เช่นบ้านหลังนี้ ที่มีการออกแบบที่เริ่มต้นจากคนอยู่อาศัยจริงๆ บวกกับการเลือกใช้วัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ไม้สังเคราะห์ ทุกวัสดุล้วนมีเหตุผลในการใช้งาน ทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ “ดี” จากข้างใน และส่งผลถึงคนอยู่อาศัยจริงๆ
img_5724

sys-logo-bottom

ขอขอบคุณ

เจ้าของ : จิรสีห์ – สุพินดา เตชาชาญ

สถาปนิก : Green Dwell โดย คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์

ตกแต่งภายใน : Interior design farm

ภาพ : จิตตรัตน์ จินตศิริกุล

และ Siam Yamato Steel (SYS)