OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

รู้สักนิดก่อนคิด คบเหล็กสร้างบ้าน Q&A with SYS part 1

กลับมาอีกครั้งกับ “รู้สักนิดก่อนคิด คบเหล็กสร้างบ้าน” แต่ครั้งนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหล็กอย่าง SYS (Siam Yamato Steel) มาช่วยตอบคำถาม โดยรวบรวมคำถามจากผู้อ่านที่ส่งกันเข้ามาครับ ไปชมกับ 10 คำถาม-คำตอบ เรื่องเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่ค้างคาใจหลายๆคนกันเลยดีกว่า

01

1. บ้านเหล็ก ฟ้าผ่าไหม?

ตามหลักการแล้ว การเกิดฟ้าผ่าเกิดจากการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าในก้อนเมฆ จนถ่ายเทประจุไฟฟ้าลงมาที่พื้นดินหรืออาคาร ซึ่งปกติต้องมีตัวรองรับเพื่อถ่ายลงดิน โดยส่วนใหญ่จะลงตำแหน่งที่สูงที่สุดก่อน โอกาสที่ฟ้าผ่าลงดินหรือบ้านเลยมีน้อยมาก ต้องเป็นบ้านที่อยู่กลางทุ่มนาโล่ง หรือพื้นที่โล่งแจ้งจริงๆ

โดยการที่ฟ้าผ่านั้น จะผ่าลงส่วนที่อยู่สูงที่สุดในบริเวณนั้น กล่าวคือหากมีบ้านโครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีเพื่อนบ้านสูง 4 ชั้นแต่เป็นโครงสร้างคอนกรีต บ้าน 4 ชั้น มีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่ามากกว่าบ้านเหล็ก เป็นต้น ซึ่งหากถามว่าเหล็กเป็นวัสดุที่เพิ่มโอกาสในการถูกฟ้าผ่าไหม คำตอบคือใช่ แต่ทั้งหมดนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบอาคารรอบข้างว่าสูงเท่าไรด้วย

การป้องกันคือการติดตั้งสายล่อฟ้าที่ต่อลงไปยังพื้นดิน สำหรับอาคารที่มีความเสี่ยง เช่น บ้านที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง หรืออาคารที่มีความสูงมากๆ เรื่องเหล็กกับการถูกฟ้าผ่าจึงไม่ต้องเป็นกังวลเลย เพราะสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่เป็นเหล็ก อย่างเรือเดินสมุทร สะพาน เครื่องบิน รถยนต์ ก็เป็นเหล็กเช่นกัน แต่ก็ยังปลอดภัยจากการถูกฟ้าผ่าได้สบายๆ โดยมีสายล่อฟ้าเป็นตัวป้องกันที่สำคัญ

02

2. บ้านเหล็ก ร้อนไหม?

คนส่วนใหญ่เข้าใจและเปรียบเทียบจากการสัมผัส เช่นการจับเหล็ก กับ การจับคอนกรีตกลางแดดจ้า แน่นอนว่าการสัมผัสเหล็กนั้นจะรู้สึกว่าร้อนมือกว่า แต่เมื่อนำมาเป็นโครงสร้างของอาคาร เราไม่ได้สัมผัสโครงสร้างเหล่านั้นตลอดเวลา

หากเทียบพื้นที่ในการรับแดด โครงสร้างเหล็กสัมผัสกับแสงแดดน้อยกว่าผนังมาก มีเพียงเสาหรือคานที่อยู่ภายนอกเท่านั้น แต่ส่วนเสาคานเหล็กภายในนั้นก็ไม่ได้โดนแดด บ้านจะร้อนหรือไม่นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่นระบบผนัง และหลังคาว่าเป็นอย่างไร ระบบผนังและหลังคาที่ดี ที่สามารถป้องกันความร้อนได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าที่จะนำมาบอกว่าอาคารนั้นร้อนหรือไม่

เปรียบเทียบง่ายเหมือนเราอยู่ในรถยนต์ ซึ่งโครงสร้างเป็นเหล็กทั้งหมด เราจะไม่ค่อยรู้สึกถึงความร้อนที่ส่งผ่านมาจากส่วนโครงสร้าง เพราะมีฉนวนกันความร้อนช่วยกันอยู่ แต่เราจะรู้สึกถึงความร้อนที่สุดจากทางกระจกรถ ซึ่งอาจเปรียบได้กับผนังของบ้าน และตัวถังรถเปรียบได้กับโครงสร้างเหล็กนั่นเอง ฉะนั้น เหล็กไม่ได้มีผลให้บ้านร้อน ขึ้นอยู่กับระบบผนังและหลังคาบ้าน ว่าจะสามารถกันความร้อนได้มากเพียงใด

03

3. งานเหล็กที่อยู่ริมทะเล (มีไอเกลือ) จะดูแลรักษาต่างกับงานเหล็กที่ไม่ได้ตั้งอยู่ริมทะเลอย่างไร

สนิมเกิดจากปฏิกริยาออกซิเดชั่นของเหล็ก กับน้ำและออกซิเจน (อากาศ) เกิดสารเคมีตัวหนึ่งมีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาล หรือ ที่เราเรียกว่า “สนิม” นั่นเอง โดยเหล็กที่เพิ่งออกมาจากโรงงานใหม่ๆ จะมีชั้นฟิลม์ที่ช่วยป้องกันอยู่ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ชั้นฟิลม์จะเริ่มหายไป และสนิมจะเริ่มเกิดขึ้นให้เห็นได้

หลักในการป้องกันคือ ให้เนื้อเหล็กโดนน้ำกับอากาศน้อยที่สุด โดยการทาสีเคลือบเอาไว้ เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ต้องมีการทาสีพ่นสีเคลือบเช่นกัน โดยสีมีหลายประเภทในการทาเหล็ก ซึ่งต้องเลือกให้ถูก อาคารที่อยู่ริมทะเลไม่ควรใช้สีน้ำมัน เพราะไอทะเลมีความเป็นกรดเมื่อเจอสีน้ำมัน จะไม่สามารถต้านทานกรดจากไอเกลือได้และทำให้เกิดสนิม ต้องใช้สีอีพ็อกซี่ทาเหล็ก เพราะจะทนกรดจากไอเกลือมากกว่า หรือสีโพลียูริเทน ก็จะเป็นอีกเกรดหนึ่งที่ทนทานมากกว่า ทนทานต่อแสงแดดมากกว่าสีอีพ็อกซี่

ส่วนบ้านที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สีอีพ็อกซี่ หรือ โพลียูริเทนเพื่อกันไอทะเล ใช้สีน้ำมันได้แต่ต้องทาให้ได้ความหนาของชั้นสีที่เหมาะสม โดยการทาแต่ละรอบต้องเว้นระยะเวลาให้ได้ตามที่มาตรฐานกำหนด ก็เพียงพอแล้ว

Tip : บ้านที่อยู่ริมทะเล ไอเกลือไม่ได้สัมผัสบ้านทั้งหลัง แต่จะโดนเพียงบางส่วนที่ลมมาปะทะ ส่วนอื่นๆที่อยู่ด้านหลัง ไม่ต่างอะไรจากบ้านที่ไม่ได้อยู่ริมทะเล ฉะนั้น อาจใช้การออกแบบระบบสีผสม เพื่อให้เหมาะสมกับที่ตั้ง ก็จะช่วยลดปัญหาจากไอเกลือได้

04

4. การหด / ขยายตัวของเหล็กตามอุณหภูมิ มีผลกับผิว Finishing หรือไม่ อย่างไร แก้ไขอย่างไร

เหล็กกับการยืดหดตัวเนื่องจากอุณหภูมิเป็นของคู่กัน สถาปนิกรวมถึงวิศวกรต้องมีการคิดรอยต่อวัสดุเหล็กกับวัสดุอื่นให้ดี ไม่ต่างจากงานคอนกรีตที่ต้องมีเช่นกัน ซึ่งทุกวัสดุนั้นจะมีการยืดหดตัวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามากหรือน้อยต่างกันไป ต้องศึกษาว่าวัสดุที่มาต่อนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร จะได้ออกแบบรอยต่อได้ถูกต้องเหมาะสม โดยประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การยืดหดตัวจึงรุนแรง การใช้ผนังเบาก็จะมีอัตราการยืดหดน้อยกว่าผนังปูน

แบบรายละเอียดรอยต่อ (Detail) นั้น หากเป็นเรื่องของความงามของอาคาร สถาปนิกผู้ออกแบบต้องเป็นผู้ที่คิดและเขียนขึ้น แต่รอยต่อที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง วิศวกรจะเป็นผู้ทำรายละเอียดนั้นๆ แทน

และอาจจะเรียกได้ว่าแบบมาตรฐานนั้นมีอยู่จริง แต่หากจะได้แบบรายละเอียดรอยต่อที่ดีนั้น ต้องเกิดจากการศึกษา ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้แบบที่ดีที่สุด

05

5. การเทปูนหรือคอนกรีตอมเหล็ก มีผลให้เหล็กเสียหายหรือไม่ ถ้าเสียหายแก้ปัญหาอย่างไร?

ในความเป็นจริงแล้ว เหล็กนั้นจะมีการสัมผัสคอนกรีตตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวของเหล็กเสริม ก็จะสัมผัสคอนกรีตตลอดเวลา เพราะสุดท้ายแล้วคอนกรีตจะแข็งตัวปราศจากน้ำและอากาศ ที่จะเข้าไปทำให้เหล็กเกิดสนิมได้

ฉะนั้นประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องเหล็กรูปพรรณรีดร้อนนั้น จะสัมผัสกับปูนหรือคอนกรีตที่เทลงไป แต่ควรพิจารณาเรื่องดีเทลรอยต่อ หรือส่วนที่คอนกรีตชนกับเหล็กมากกว่า โดยควรเทคอนกรีตให้เรียบร้อย เรียบ ไม่มีรูหรือช่องว่างให้น้ำขัง และหากเป็นไปได้ควรทำให้มีความลาดเอียงเทออกไปจากเหล็ก เพื่อไม่ให้น้ำขังเวลาฝนตก ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสนิมนั่นเอง

 

ผ่านไปแล้ว 5 ข้อ เหลืออีก 5 ข้อกับคำถามเรื่องเหล็กที่มีคนถามกันเข้ามากที่สุด ติดตามกันต่อไปนะครับ

ขอขอบคุณ SYS (Siam Yamato Steel)

ขอบคุณภาพจาก pinterest.com