ยังมีหลายสิ่งบนโลกนี้ ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่กลับสร้างประโยชน์สูงสุดได้
ยังมีหลายสิ่งบนโลกนี้ ที่แสดงให้เห็นว่า การให้ คือการได้รับกลับคืนมาอย่างมหาศาล
เช่นเดียวกับโครงการดีๆ ที่เหล่า “เด็กค่ายอาสา” จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มอบให้แต่เด็กๆ โรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่นครั้งนี้
ที่มาของโครงการ?
ค่ายอาสาเป็นโครงการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับงบประมาณเป็นเงินแผ่นดิน เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ต่อสังคม มีชื่อเต็มๆว่า ค่ายยุวสถาปนิกอาสาพัฒนาชนบท โดยช่วงแรกจะเป็นการเข้าไปยังพื้นที่ป่า ไปทำฝาย แต่ด้วยปัจจุบัน ด้วยสัดส่วนชาย : หญิง ที่เกือบเป็น 30 : 70 ทำให้ต้องปรับลักษณะการออกค่ายไปยังที่ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อันตรายน้อยลง แต่ยังคงเน้นเป้าหมายไปที่โรงเรียนตามชนบทที่ขาดแคลน โดยมีทีมครูอาสาสอนหนังสือน้องๆไปด้วยในตัว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงจุดประสงค์เดิมคือนำความรู้ที่ได้จากการเรียนในคณะไปใช้จริง ไปทำประโยชน์ให้สังคม และเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนมากที่สุด
และแน่นอน นอกจากนักศึกษาจะได้แบ่งปันความรู้ส่งชุมชนแล้ว ตัวนักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้จากช่างผู้ก่อสร้างในชุมชน เรื่องการใช้วัสดุ วิธีคิดของคนในพื้นที่อีกด้วย
โดยปีที่ผ่านมา ได้เดินทางไปสร้างอาคารขนาดเล็ก ที่เพิ่มประโยชน์ใช้สอยแก่พื้นที่ขาดแคลน หรือเป็นพื้นที่ยืดหยุ่นได้ตามแต่ชุมชนหรือชาวบ้านที่นั่นต้องการจะให้เป็น อาทิ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบภาคกลาง – ภาคตะวันตก
ทำไมเลือกโรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น?
เนื่องจากปีนี้ในทีมค่ายอาสามีคนในพื้นที่ คือจังหวัดสุพรรณบุรี แนะนำอำเภอด่านช้าง ใกล้เขื่อนกระเสียว อยู่ไกลจากตัวจังหวัดพอสมควร รอบๆอำเภอจะมีหมู่บ้านเล็กๆกลางไร่อ้อยอยู่หลายหมู่บ้าน โรงเรียนวัดแถบนั้นก็ขาดแคลนในระดับหนึ่ง ทีมค่ายจึงได้ไปสำรวจพื้นที่กับอาจารย์โซ่ รศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ก็มีโรงเรียน 3 แห่งที่ขาดแคลน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว โรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น เป็นโรงเรียนที่เหมาะสมที่สุด ที่เราจะทำค่ายอาสากันที่นี้
ทำไมเลือกสร้างอาคารห้องสมุด?
ผอ.วิลาวรรณ โรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น แกบอกตั้งแต่วันแรกที่ไปสำรวจเลยว่า ต้องการห้องสมุดสบายๆให้เด็กอ่านหนังสือ ขอแค่อาคารขนาดย่อมๆ เพราะเดิมห้องสมุดอยู่ติดกับห้องเรียนอนุบาล (อ.1 – 3 เรียนรวมกัน มีครูดูแลคนเดียว) จึงอยากมีห้องสมุดแยกเป็นอาคารเอกเทศ จะได้ขยายส่วนของอนุบาลให้มีพื้นที่มากขึ้นด้วย และอยากให้เด็กๆสนใจการอ่านหนังสือมากขึ้น เราก็เลยตกลงกันว่าจะทำห้องสมุดให้นักเรียนกัน
ประกอบกับสถานที่ก่อสร้างที่เหมาะสมมากๆ กล่าวคือพื้นดินนั้นค่อนข้างแน่น มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่ร้อนมากนัก อีกทั้งยังเป็นตำแหน่งที่มีลมพัดผ่านตลอดเวลา เราจึงเห็นพ้องว่าอาคารห้องสมุดและตั้งบริเวณนี้ น่าจะเหมาะสมที่สุด
แนวคิดในการออกแบบก่อสร้าง และ เลือกวัสดุ?
ที่ตั้งของอาคารเราเลือกเป็นที่โล่งใต้ร่มไม้ ใกล้กับทางเข้า-ออกของโรงเรียน มีลานเปตอง,โต๊ะปิงปองทำเองเก่าๆอยู่ด้านหลังอาคารห้องสมุดนี้ และไม่ไกลจากตัวอาคารเรียนหลัก (ชั้นประถมเดินมาได้สบายๆ ส่วนอนุบาลจะมีครูพามา แต่ปกติก็จะฝึกอ่านกันอยู่ในห้องอนุบาลอยู่แล้ว)
ข้อดีอีกข้อของการที่อาคารตั้งใกล้ทางเข้าออกโรงเรียน คือสามารถเป็นที่นั่งรอพ่อแม่มารับกลับบ้านตอนเลิกเรียน หรือนั่งเล่นตอนเช้าก่อนเข้าแถวได้ แถมยังมีต้นมะขามเทศ ต้นสัก และต้นหูกวาง 15 – 20 ต้น อยู่หลังอาคาร ให้ความร่ม สร้างร่มเงาได้ตลอดวัน การออกแบบห้องสมุดเป็นห้องสมุดกึ่งเปิด จึงสามารถทำได้โดยที่ไม่ร้อนมากนัก หรือแม้จะมีแสงแดดร้อนแดง เราก็ออกแบบอาคารทรงจั่วที่สูงมากกว่าปกติ เพื่อให้อากาศร้อนลอยขึ้นและสามารถระบายออกไปได้อย่างรวมเร็ว
เราอยากให้ห้องสมุดนี้ ให้ความรู้สึกที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอก อากาศถ่ายเทได้ ใช้แสงธรรมชาติ อยากให้มันน่ามานั่งอ่านหนังสือนั่งเล่น ไม่ใช่ห้องปิดอุดอู้ เสียงดังไม่ได้
ส่วนวัสดุและวิธีการก่อสร้าง ทางทีมนักศึกษาฝ่ายออกแบบก่อสร้าง เลือกใช้เป็น wood-framing เพราะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างไม้กันมาตั้งแต่ปี 1 การก่อสร้าง ดีเทลต่างๆ การดูแลรักษากันปลวกกันชื้น หรือองค์ความรู้เรื่องไม้เป็นสิ่งที่นักศึกษาคุ้นเคย และไม้ยังเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง บวกกับช่างในท้องถิ่นก็เชี่ยวชาญ รู้แหล่งซื้อขาย น้องๆผู้หญิงก็สามารถทำได้ ต่างจากงานเหล็กที่อุปกรณ์ใช้ยากกว่า คอนกรีตก็ใช้แรงมากกว่า ไม้จึงเป็นวัสดุที่เราเลือก
ออกแบบเป็น frame 10 ชิ้น ที่ประกอบด้วยไม้แดงขนาด 2’x4′ เป็นโครงสร้างหลัก โดยตัวโครงสร้างเองทำหน้าที่เป็นชั้นวางหนังสือ,โต๊ะ,เก้าอี้ไปในตัวด้วย
แต่ละชิ้นส่วนก็แจกงานกันตัดได้ง่าย แถมสนุกด้วย น้องๆได้จับเลื่อย สว่าน เต๊าตีเส้น ฉาบปูนพื้น ปีนไปติดตั้งแป ปีนขึ้นไปทาสีเคลือบไม้ ฯลฯ สารพัดที่ได้ลองทำกันจริงๆ ก็ถือว่าตรงกับจุดประสงค์ของค่ายแล้ว
ส่วนของพื้นก็ได้การสนับสนุนจาก CONWOOD เป็นพื้นไม้เทียมที่ทางบริษัทก็มาช่วยแนะนำการติดตั้งถึงที่ค่ายเลย ทนทาน ผิวเหมือนไม้จริง ส่วนหลังคาและผนังด้านหลังอาคาร ได้การสนับสนุนแผ่นกระเบื้องขาวขุ่นจาก SCG กรองแสงแดดได้ประมาณ 56 % เบา ติดตั้งง่าย เพราะมีขนาดยาวถึง 5 – 6 เมตร ไม่ต้องเสียเวลาติดตั้งทีละแผ่นเหมือนกระเบื้องทั่วไป ทำให้ออกแบบแปให้วางห่างกันได้ (ประหยัดโครงสร้าง) และยังลดโอกาสในการรั่วของน้ำฝนได้ด้วย
ประตู-หน้าต่าง เลือกใช้เป็นแผ่นโพลีคาร์บอเนต เนื่องจากไม่ได้เป็นจุดที่โดนแดด-ฝนโดยตรง โพลีคาร์บอเนตจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะน้ำหนักเบา เด็กๆเปิดปิดได้สบาย มีความโปร่งตามแนวคิด ตีกรอบด้วยแผ่นไม้ที่ดีไซน์เรียบง่าย
หลังคาชัน 45 องศา ทำให้หลังคาสามารถระบายอากาศได้ดี ระบายน้ำเร็ว (ที่นั่นมีฝนแต่ลมไม่แรง) ตัว frame ที่ห่างกัน 1 เมตร ก็จะมีช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ออกแบบเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางหนังสือที่เป็นโครงสร้างไปด้วยในตัวได้ มีช่องเปิดด้านหน้าให้ลมเข้าในระดับต่ำ และออกด้านหลังและด้านข้างในระดับสูง ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี
ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีเงาไม้เกือบตลอดทั้งวัน ทำให้ความโปร่งแสงของหลังคาไม่ทำให้อาคารร้อน (ร้อนที่สุดช่วง 12:00 – 13:00 น. ซึ่งเป็นเวลาเรียนของเด็ก เด็กจะมาใช้ช่วงเช้า 6:30 – ช่วงพักเที่ยง และช่วงหลังเลิกเรียน 15:00 ที่มีเงาไม้บัง) ส่วนช่องเปิดด้านหน้าก็มีลูกเล่นเป็นระแนงบานเลื่อนขึ้น – ลง เวลาจะอ่านหนังสือหย่อนขาก็เลื่อนขึ้นรับลม เวลาไม่ใช้ก็ปิดลง เพื่อกันสุนัขเข้าได้ ประตูเข้าออกก็เน้นเปิดให้ระบายอากาศและรับวิวร่มรื่นรอบๆอาคารได้ดี
งบประมาณเบ็ดเสร็จรวมค่าวัสดุก่อสร้างและช่าง 150,000 บาท
ขอขอบคุณ
ห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
ผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง : นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่ปรึกษาการก่อสร้าง
อาจารย์ธารา จำเนียรดำรงการ (construction), อาจารย์จีระศักดิ์ เกื้อสมบัติ(design), อาจารย์ทยากร จารุชัยมนตรี(structure)
ผู้สนับสนุนหลัก : งบประมาณแผ่นดิน, สมาคมนักศึกษาเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร(FASA), CONWOOD, SCG
ศิษย์เก่าสถาปัตย์ ศิลปากร รุ่น 35, 41, 52
บริษัท ไอ ไลด์ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
ภาพ : Beersingnoi ArchPhoto