“ช่วงนี้ไม่ค่อยมีงานเข้ามาเลยพี่ งานก่อนๆ ก็ไม่ได้สร้าง เจ้าของติดปัญหาเรื่องเงิน คือสรุปแล้วตั้งแต่จบมา 5 ปี ผมยังไม่มีงานที่สร้างเสร็จสักหลังเลย…”
เสียงโอดครวนจากรุ่นน้องผุดขึ้นกลางวงสนทนา ที่มีทีท่าน่าจะเปิดประเด็นเรื่องชีวิตการทำงาน “สถาปนิก”
ประโยคแบบนี้ผมได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน เหมือนเป็นปัญหาระดับชาติของเด็กที่จบใหม่ หรือทำงานในบริษัทออกแบบมาแล้วช่วงหนึ่ง และตัดสินใจออกมาเป็นฟรีแลนซ์ หรือรับงานเอง… ทำให้ผมคิดย้อนไปเมื่อตอนเพิ่งจบการศึกษา ครั้นที่ได้ทำงานในบริษัทออกแบบ ก็ได้ฝึกฝีมือและเรียนรู้การทำงานจริงมากมาย แม้งานหรืออาคารที่ได้มีส่วนร่วมตอนนั้น จะไม่สามารถเอามาเป็น Portfolio ของตนเองได้ 100% แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามีคุณค่ามากกว่านั้นคือเรื่องของ “Connection”
“Connection” คำสั้นๆนี้นำมาซึ่ง “โอกาส” ในรูปแบบหรือเวลาที่เราไม่ได้ตั้งตัว หากใครๆก็คิดถึงเรา มันก็ไม่ยากเลยที่เมื่อมีงานอะไร เขาเหล่านั้นก็คิดที่จะแจกจ่ายงานให้เราทำเสมอๆ
อาจไม่ต่างกันนักกับอาชีพอื่น ที่บางครั้งเราไม่สามารถเลือกลูกค้าได้ ยิ่งเป็นสถาปนิกหน้าใหม่ งานไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือน THESIS หลายครั้งเป็นงานต่อเติมครัว ทำห้องทำงานเล็กๆในสวน หรืองานตกแต่งร้านเล็กๆ ซึ่งคุณรู้ไหมว่า สถาปนิกทุกคน ไม่ได้จบมาแล้วได้สร้างอาคารใหญ่โต อาคารที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ต้น กลับกัน เขาเหล่านั้นต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ดูไม่มีความหมายมาก่อนทั้งนั้น…
หลายวันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับพี่สถาปนิกหลายคน ทั้งหมดล้วนมีชื่อเสียงในวงการออกแบบแล้วระดับหนึ่ง ต่างให้ความเห็นเรื่องงานชิ้นแรกของตัวเองว่า…
“ผมคิดว่าอาจจะใช้คำว่า “งานชิ้นที่โดน” มากกว่า “งานชิ้นแรก” นะ เพราะอย่างผมทำงานออกแบบตั้งแต่ออกมารับงานเองก็ 4 – 5 ปี งานเสร็จไปหลายหลัง แต่ก็ธรรมดา ไม่ได้เป็นงานที่จะเปิดตัวเราเท่าไหร่ แต่พอมีงานหนึ่งที่เราคิดว่า ใช่ คิดว่างานนี้แหล่ะเป็นเราที่สุด อยากโชว์ที่สุด และสุดท้ายเมื่อมันเสร็จ ผลตอบรับมันก็ดีจริงๆ และผมก็ได้งานต่อเนื่องจากงานชิ้นนี้มาตลอด… ผมว่าเราจะมีความรู้สึกเอง รับรู้ได้เองว่างานไหนคือ “งานชิ้นที่โดน”
“ในการทำงาน โดยเฉพาะน้องๆจบใหม่ ผมอยากให้มองเรื่องคุณค่า คุณภาพ และแรงบันดาลใจ ที่อยากจะใส่ลงไปในงานเยอะๆ บางครั้งดูแล้วว่างานนั้นๆแทบไม่ได้กำไร บางงานเป็นงานการกุศล ผมกลับมองว่างานเหมาะนี้แหล่ะเหมาะมากๆ เหมาะกับการฝึกฝีมือ ไม่มีกรอบเรื่องราคา ไม่มีความคาดหวังจากเจ้าของมากนัก สถาปนิกสามารถใส่สิ่งที่เป็นคุณค่าให้กับอาคารนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่… และงานชิ้นนั้นก็จะมีคุณค่า และเป็นที่รู้จัก”
“ถ้างานชิ้นแรกคือออกแบบห้องน้ำ ก็จงออกแบบให้เป็นห้องน้ำที่ดีที่สุดในโลก” เพราะในตอนแรกนั้น คนจะเลือกงาน แต่หลังจากนั้น งานจะเลือกคนแทน
และหลายครั้ง ที่ลูกค้าจะเดินมาหาเรา เพราะรู้ว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องอะไรมากที่สุด ทั้งหมดนั้นสื่อสารผ่านงานของเราเอง บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัว แต่มันจะมีลายเซ็นต์อะไรบางอย่าง ที่บอกว่าคนไหนถนัดเรื่องอะไร…
พูดมายืดยาว น้องคนที่บ่นข้างต้นนั้นยังอยู่ไหม… ผมอาจไม่สามารถตอบน้องคนนั้นได้ว่าทำยังไงให้มีงานเข้ามาตลอด แต่สิ่งที่แนะนำได้คือการกลับมามองตัวเอง ว่าที่ผ่านมาเราทำงานได้ดี ได้เต็มที่แค่ไหน เพราะงานออกแบบหรือสถาปัตยกรรม ลูกค้าจะมาจากการบอกต่อ หรือการได้รับรู้จากคนรอบตัวเสียส่วนใหญ่ บ้างก็มาจากเจ้าของบ้านด้วยกัน บ้างก็มาจากกลุ่มช่าง ทั้งหมดบอกเราว่า “Connection” เป็นสิ่งสำคัญ บวกกับสิ่งที่เรียกว่า “Passion” ให้ทั้ง 2 คำนี้ดำเนินคู่กันไป ผมเชื่อว่า งานจะออกมาดี และคุณจะภูมิใจกับมันที่สุด และสุดท้ายความต่อเนื่องของงานก็จะเกิดขึ้น…
ขอให้สนุกกับการสร้าง “Connection” และ “Passion” ครับ