ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แสงแดด” คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหลีกเลี่ยง แต่ก็รู้ดีว่าเราขาดมันไม่ได้และที่สำคัญในแง่ของการอยู่อาศัย นอกจากต้นไม้ใบหญ้าแล้ว แสงธรรมชาตินี่แหละ ที่จะทำให้บ้านของเรามีชีวิตชีวา น่าอยู่ได้แม้ไม่ได้ประดับตกแต่งอะไรมากมาย
Baan Phermsang-Ngam
สถานที่: เมือง, เชียงใหม่
สถาปนิก: Blank Studio
เจ้าของบ้าน: คุณ ณพิชญา เพิ่มแสงงาม
‘Use daylight as raw material’
เช่นเดียวกับบ้านเพิ่มแสงงามหลังนี้ ที่สร้างขึ้นจากความต้องการของเจ้าของซึ่งควบตำแหน่งวิศวกรดูแลการก่อสร้างไปด้วย ต้องการที่จะสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นโดยใช้พื้นที่เต็มที่ดิน รูปทรงอาคารที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามรูปร่างของที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวด้านยาวขนานไปกับถนนเล็กๆในซอย โดยออกแบบให้มีความโมเดิร์น ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนนัก เน้นใช้สีขาว ไม้และแผ่นเหล็กเป็นหลัก แต่ภายใต้ภาพรวมที่ดูเรียบง่ายนี้ ก็มีการลบมุมอาคารด้านหนึ่งให้โค้งมน รับไปกับแนวผนังชั้นสองที่เจาะช่องโล่งเป็นจังหวะ ทั้งมีส่วนช่วยดึงแสงเข้ามาภายในและบังสายตาจากภายนอก ทำหน้าที่เป็นfacade ลอยอยู่เหนือรั้วสีขาวทึบได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็ยังกลมกลืนไปกับบริบทที่เงียบสงบของละแวกบ้าน
ทางเดินเข้าตัวบ้านปูด้วยไม้ระแนงเชื่อมไปยังระเบียงหน้าบ้าน ผ่านคอร์ดที่มีต้นกันเกราเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยบ่อปลาคาร์ฟ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่transition ที่ค่อยๆเปลี่ยนถ่ายความรู้สึกของการเข้าถึงจากภายนอกเข้าสู่ภายในได้อย่างไหลลื่น
ผนังตกแต่งกรุเผ่นเหล็กสีดำวางตัวแนวเดียวกันจากด้านนอกเข้าสู่ด้านในเป็นแกนหลักของบ้าน จากบริเวณที่จอดรถ ไล่ไปถึงส่วนpantry ที่ใช้ผนังร่วมกับโถงบันไดขึ้นชั้นสอง ตัดสีขาวเรียบๆให้ดูเด่นและเท่ห์ขึ้นอีกหน่อย เบรคด้วยสีของวัสดุไม้ ทำให้บ้านไม่ดิบจนเกินไป
ในส่วนของฟังก์ชันและพื้นที่ต่างๆภายในบ้านถูกจัดวางให้เป็นไปตามธรรมชาติของทิศทางของลมและแสงแดด โดยพื้นที่ Living-dining มีลักษณะเป็น double space เปิดพื้นที่ด้านบนสูงไปถึงฝ้าชั้นสอง รายล้อมด้วยบานเลื่อนกระจก ที่เปิดออกสู่ระเบียงและสนามหญ้าเล็กๆหน้าบ้านได้ ทำให้ภายในบ้านโปร่งโล่ง ถ่ายเทอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งยังอยู่ทางทิศเหนือ จึงได้แสงธรรมชาติแบบindirectที่ไม่ร้อนตลอดวัน
มุมมองจากภายในบ้าน ที่ซึ่งห้องนั่งเล่นอยู่ห่างจากถนนเพียงไม่กี่เมตร แต่ก็ได้รั้วหน้าบ้านที่กลายมาเป็นเหมือนผนังชั้นนอก ที่สูงขึ้นมาแค่ในระยะบังสายตาของคนภายนอก ทำให้ผนังด้านที่ติดถนน ติดตั้งเป็นบานกระจกได้ทั้งแผง ส่วนผนังกระจกด้านบนก็มีแนวช่องแสงช่วยบาลานซ์ให้แสงไม่เข้าบ้านเยอะจนเกินไป ทำให้Living- dining พื้นที่ที่ถูกใช้งานบ่อยที่สุดนี้ มีบรรยากาศที่โปร่งสบาย แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวอยู่มาก
วางทางสัญจรอย่างบันไดขึ้นชั้นสอง หรือพื้นที่ที่ใช้งานเป็นบางช่วงเวลาอย่างห้องน้ำและห้องครัวไว้ทางด้านหลัง ช่วยชะลอความร้อนจากทิศใต้ก่อนถึงพื้นที่Living เจาะช่องแสงด้านบน เพื่อดึงแสงสว่างเข้ามาอย่างอ้อมๆ ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นไม่มืดอับจบเกินไป
แนวผนังกรุแผ่นเหล็กที่ใช้ร่วมกันระหว่าง pantry และ โถงบันได
ช่องแสงที่ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของแสงและเงา ตามการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์
พื้นที่ชั้นสองแยกเป็นสองปีก คือฝั่งของห้องนอนเล็กและห้องนอนมาสเตอร์ เชื่อมถึงกันด้วยระเบียงทางเดินที่เป็นเหมือนสะพานลอยอยู่เหนือliving-dining และระเบียงภายในนี้ยังเชื่อมไปยังห้องนอนมาสเตอร์โดยผ่านคอร์ดที่เปิดโล่งกลางบ้าน ดึงแสงธรรมชาติเข้ามาหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบ ทั้งยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชั้นหนึ่งและสองที่ผู้อยู่อาศัยสามารถมองเห็นกันได้ ให้ความรู้สึกยังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แม้จะทำกิจกรรมใช้พื้นที่อยู่คนละชั้น
จากห้องนอนมาสเตอร์สามารถเปิดออกสู่ระเบียงทางเดินเบื้องหลัง facadeหน้าบ้าน สามารถออกมาทำความสะอาดช่องแสงได้ง่าย
จะเห็นได้ว่าบ้านโมเดิร์นสีขาวที่เรียบง่ายหลังนี้ มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อยู่อาศัยทั้งหมด แต่กลับไม่รู้สึกอึดอัดด้วยสเปซที่โปร่งโล่ง ใช้วัสดุในการตกแต่งเพียงไม่กี่อย่างแต่บ้านก็สวยงามน่าอยู่และมีชีวิตชีวาได้ด้วยการเล่นกับการเปิดช่องโล่งทั้งในระนาบผนังและเพดาน อยู่ร่วมกับแดดประเทศไทยที่ความร้อนของมันไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับเราเท่าไหร่นัก ได้อย่างมีชั้นเชิง