“บ้านหารร่วมมาก” บ้านตัวอย่างที่จะชวนทุกคนมาหาคำตอบของสมการความเป็นไปได้ในรูปแบบ “การอยู่อาศัย” ที่แตกต่างจากเดิม แนวคิดที่จะทำให้บ้านเป็นมากกว่าพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ของการพึ่งพาอาศัย ไม่ใช่เพียงพื้นที่ส่วนตัว
หากพูดถึง ‘บ้าน’ ในสภาพสังคมเมืองปัจจุบัน ภาพแรกที่ทุกคนนึกถึงคงเป็นบ้านจัดสรรที่มีผู้อยู่อาศัยอยู่ร่วมกันหลายครอบครัว มีการแบ่งขอบเขตการครอบครองบ้านโดย ‘รั้ว’ อย่างชัดเจน ทำให้บ้านกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่มีความปลอดภัยมากขึ้นแต่กลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนลดลง
คอนเซ็ปต์บ้านตัวอย่างในปีนี้มีชื่อว่า “หารร่วมมาก” ชื่อบทเรียนในวิชาคณิตศาสตร์สมัยเด็กๆที่ถูกเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับการออกแบบบ้าน โจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่รอการแก้ไข วันนี้ได้เผยคำตอบที่แฝงแง่คิดดีๆภายในงานบ้านและสวนแฟร์ 2017 เรียบร้อยแล้ว
ตั้งโจทย์ ห.ร.ม.
“บ้านหารร่วมมาก” บ้านรูปแบบเรียบง่ายสไตล์บ้านไทยในชนบท ไม่มีความหวือหวาแต่โดดเด่นในเรื่องของแนวคิดการออกแบบ ซึ่งเกิดจากการตีโจทย์ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ เป็นพื้นที่ส่วนรวม ต่างจากเดิมที่ทุกคนมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว โดยมีการศึกษาจากชุมชนตัวอย่าง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความสนใจในเรื่องคล้ายๆกัน มาอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน เกิดความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งด้านการงานและการดำเนินชีวิต จากโจทย์ที่ว่าจะสร้างชุมชนแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของคำตอบในบ้านหารร่วมมากหลังนี้นี่เอง
โดยแนวความคิดการตีความหมายของ ‘หารร่วมมาก’ คือ
- หาร = หารพื้นที่ใช้สอย สิ่งของ ทรัพยากร เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่า
- ร่วม = ร่วมกันสร้างความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน
- มาก = มากกว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการได้อยู่ร่วมกัน
ผู้ค้นพบคำตอบของสมการ
เมื่อมีโจทย์จะทำให้บ้านเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนรวม บริษัทสัญชาติเชียงใหม่ที่มีใจรักการออกแบบงานชุมชนอย่าง “ใจบ้าน สตูดิโอ” จึงชักชวน กลุ่มสถาปนิกรุ่นน้องอย่าง “ฮอมสุข สตูดิโอ” มาร่วมสร้างสรรค์ความคิดทำให้บ้านหลังนี้สวยงามเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เรื่องราวของสูตรและวิธีแก้โจทย์ ห.ร.ม.
บ้านหารร่วมมาก เป็นการจัดแสดงกลุ่มบ้านในรูปแบบกึ่งบ้านกึ่ง community space เกิดขึ้นจาก 3 ครอบครัวที่รวมกลุ่มกันสร้างที่อยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งสมาชิกแต่ละบ้านไม่ใช่เพียงคนในเครือญาติ แต่เป็นเพื่อนหรือกลุ่มคนรู้จักหลากวัยหลายเพศที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน เลือกที่จะมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยมีตัวละครสมมติเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เริ่มที่บ้านหลังใหญ่ 2 ชั้น มีสมาชิกอาศัยอยู่กัน 3 คน พ่อแม่ลูก ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งบ้านให้เช่าอีก 2 หลัง บ้านหลังเล็กชั้นเดียวเป็นบ้านของหญิงสาวที่อาศัยอยู่กับแม่สูงอายุ 2 คน ส่วนอีกหลังเป็นบ้านของศิลปินหนุ่มอาศัยในบ้านชั้นครึ่ง ที่มีสตูดิโอทำงานส่วนตัว
การก่อเกิดความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ครอบครัวคือ ‘ความเกื้อกูลในการอยู่อาศัย’ บ้านแต่ละหลังได้ ‘สลายรั้ว’และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอย่าง แต่จะมีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้ร่วมกัน ดูแลร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนรับประทานอาหาร ครัว ไปจนถึงสวนปลูกผัก พื้นที่ส่วนกลางนี้นอกจากจะเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมเล็กๆโดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการประหยัดทรัพยากรอีกด้วย
รูปแบบบ้านไทยโบราณวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติบนความพอเพียง
ผนังบ้านไม้ไทยโบราณมุมในห้องรับแขก ประดับรูปที่มีทุกบ้าน ชวนในระลึกถึงพระองค์ท่านในบรรยากาศที่อบอุ่น
ขณะเดียวกันในแต่ละอาคารยังมีส่วนพักผ่อน และส่วนทำกิจกรรมที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความน่าอยู่ตามแบบฉบับของผู้อยู่อาศัยไว้อย่างสมบูรณ์ เป็นที่มาของความสมดุลของการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดความงอกงามอย่างมั่นคงไม่ว่าจะเป็นคนกับคน หรือคนกับธรรมชาติ ซึ่งผู้ที่เตือนสติให้เราตระหนักถึงความจริงข้อนี้ก็คือบุคคลที่… ‘เราจะไม่ลืม’
ชมงานออกแบบดีๆและแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับบ้าน ได้ที่ งานบ้านและสวนแฟร์ 2017 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 เวลา 9.30 – 21.00 น.
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Baanlaesuan , Jaibaan studio , Homesook studio