OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Architecture of Perception ก้อนความรู้สึกจากสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรม

หากมีคนถามว่า “หิน” หนัก 10 กิโลกรัม กับ “ทองคำ” หนัก 10 กิโลกรัม อะไรมีมูลค่ามากกว่ากัน… ผู้คนทั่วไปคงจะตอบว่า “ทองคำ” แต่คุณรู้ไหมว่าในมุมมองของ ศิลปิน เขาจะตอบว่า “วัสดุทุกวัสดุ ล้วนมีคุณค่าเท่ากัน”

ซึ่งกับสถาปนิก… เหมือนพวกเขาถูกสั่งสอนมาให้ใส่คุณค่าหรือมูลค่า ลงไปในวัสดุทุกวัสดุด้วย ผนังก่ออิฐฉาบปูน ย่อมดูมีมูลค่าน้อยกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูนแล้วกรุด้วยไม้สักทั้งผนัง นั่นเพราะเรื่องของวัสดุ มีผลต่อสิ่งที่เรียกว่า “การรับรู้” ของมนุษย์ และการรับรู้นี่เอง เป็นสิ่งสำคัญที่วนเวียนอยู่ในการทำงาน การคิดงานของสถาปนิกทุกคน

การรับรู้ มีผลต่อทุกความรู้สึก

การออกแบบสถาปัตยกรรมสักชิ้น ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าจินตนาการ การคาดเดา และการจำลองพื้นที่ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง รวมถึงยังต้องนำเสนอต่อลูกค้าหรือเจ้าของอาคารนั้นๆ ให้เห็นภาพและคล้อยตามในสิ่งที่สถาปนิกต้องการ ทุกองค์ประกอบของอาคารที่มีผลต่อความรู้สึกของผู้เข้าใช้งาน จึงถูกคิดมาตั้งแต่เริ่มออกแบบแล้ว

ความรู้สึกสงบ หรูหรา สนุก อบอุ่น ปลอดภัย ผ่อนคลาย เป็นความรู้สึกนามธรรมที่ต้องถูกแปลงออกมาเป็นรูปธรรมแบบที่จับต้องได้ นอกจากเรื่องของวัสดุ ยังมีเรื่องของระยะ ขนาด แสง เงา ละเอียดไปกว่านั้น อาจมีเรื่องของกลิ่น เสียง และโสตสัมผัสอื่นๆที่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตา

 

และหากมองข้ามเรื่องของการก่อสร้างและการผลิตในระบบอุตสาหกรรม มองข้ามว่ามาตรฐานขนาดวัสดุอยู่ที่ 2.4 เมตร มองข้ามขีดจำกัดของการผลิตวัสดุต่างๆ หรือมองข้ามสิ่งเดิมๆที่ทำต่อกันมา งานสถาปัตยกรรมจะสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้มากมายนัก เช่น โรงพยาบบาลแห่งหนึ่ง มีแนวคิดเรื่องการออกแบบอาคารให้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเยียวยาคนป่วย ให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ด้วยสถาปัตยกรรมและการออกแบบ… โดยคิดถึงเรื่องของ “ความรู้สึก” ของผู้ป่วยเป็นหลัก สถาปัตยกรรมโรงพยาบาลนี้จะมีรูปแบบที่ต่างจากรูปแบบโรงพยาบาลเดิมๆ อย่างเห็นได้ชัด ห้องผู้ป่วยอาจล้อมด้วยกระจกใส มองออกไปเห็นสวนและท้องฟ้าใส หรือทางเดินภายในวอร์ดก็จะมีแสงธรรมชาติ รวมถึงความสูงจากพื้นถึงฝ้าที่มากกว่าปกติ เพราะไม่ได้ยึดกับความสูงมาตรฐานเดิมอีกต่อไป เป็นต้น

เราไม่ได้ออกแบบห้องนั่งเล่น แต่เราออกแบบพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

เมื่อสถาปนิกออกแบบบ้านสักหลัง เขามักได้รับโจทย์มาเป็นพื้นที่ใช้งานหรือฟังก์ชั่น แต่สิ่งที่เขาจะทำต่อจากนั้น คือการคิดถึง “การรับรู้” ที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัย “รู้สึก” อะไรบางอย่าง เช่นห้องนั่งเล่น เขาจะคิดถึงความรู้สึกของคนที่จะมาใช้งานก่อน ว่าอยากให้รู้สึกอย่างไร ผ่อนคลาย สบาย อบอุ่น เมื่อได้คีย์เวิร์ดแล้ว ก็มองหาบริบทที่มีอยู่ และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ลงไปในพื้นที่นั้นๆ

เพิ่มมูลค่า ด้วยสถาปัตยกรรมที่รับรู้ได้

คุณเคยรู้สึกทำตัวไม่ถูก เมื่อเดินไปยังพื้นที่ หรือ Space ที่ไม่คุ้นเคยไหม ไม่รู้ว่าจะเดินต่อไป หรือหันหลังกลับดี รวมไปถึงพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น อึดอัด ไม่สบายกายสบายใจ รู้สึกถูกยกย่อง รู้สึกต้อนรับ รู้สึกอบอุ่น หรือบางครั้งรู้สึกสนุกสนาน ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้ออกแบบ แต่ในบางครั้ง พื้นที่ต่างๆไม่ได้เกิดจากการออกแบบของสถาปนิกเสมอไป บางพื้นที่เกิดขึ้นโดยชาวบ้าน เจ้าของบ้าน หรือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ

โครงการบ้านจัดสรร จึงคิดเรื่องการออกแบบให้ตัวสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง “ดูแพง” เพื่อจะได้ขายได้ในราคาที่ต้องการ หรือร้านอาหารที่ตกแต่งสวยงาม มีระดับ จัดแสงสว่างที่ขับเน้นสิ้นค้าได้ตรงจุด บอกลูกค้าทุกคนว่า ของในร้านนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพราะบรรยากาศและ Space ในนั้นช่วยส่งเสริม

สถาปัตยกรรมแห่งการรับรู้… หาได้ที่ไหน

อาคารที่สร้างการรับรู้ที่ดี ไม่ต้องเข้าใจยาก เพียงแต่เป็นสถาปัตยกรรมที่สื่อสารกับเราได้อย่างตรงวัตถุประสงค์ของมัน ก็ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีชิ้นหนึ่ง เช่น ร้านอาหาอีสาน ที่เมื่อเข้าไปแล้วรู้สึกสนุก เผ็ด ร้อน ตั้งแต่เดินเข้าไปในร้าน ด้วยสีสันที่ใช้ แสงไฟที่ร้อนแรง หรือแม้แต่เสียงเพลงที่เข้ากัน หรือวัดที่เราเข้าไปทำบุญไหว้พระ ที่เมื่อเราเข้าไปในโบสถ์ครั้งใด เราจะรู้สึกสงบ เย็น และมองเห็นความร่มเย็นทันที… เพราะอะไร?

จริงๆแล้วมันคงไม่มีคำตอบตายตัว เพราะมันเป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ที่รวมกันเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถสื่อสารกับเราได้ และแน่นอนว่าตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ เราจะพบกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่เด่นเรื่อง “การรับรู้” มาร่วมเดินทางหาคำตอบ เพื่อตั้งคำถามใหม่….ไปพร้อมกันครับ

Architecture of Perception