เมื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ภายในห้องเรียนอีกต่อไป แต่กลับเป็นทุกสถานที่ ที่เด็กๆได้ใช้ชีวิตในแต่ละวัน ในวัยเด็กเราใช้เวลาครึ่งวันอยู่ที่โรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนจึงเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์การใช้ชีวิต และโรงเรียนยังเป็นสถาปัตยกรรมชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความคิด และการใช้ชีวิตของเด็กๆเหล่านั้นไม่น้อย
D1 Kindergarten and Nursery โรงเรียนที่ไม่เกรงกลัวต่อสายฝน แสงแดด และธรรมชาติ เพราะแนวคิดของที่นี่คือ “โรงเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว” เพราะธรรมชาติคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ดีขึ้นได้
โดยสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่เมืองคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมรอบข้างส่วนมากเป็นตึกรายล้อม มีสวนหรือธรรมชาติค่อนข้างน้อย ผู้ปกครองและครูเล็งเห็นว่าด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้จะทำให้เด็กห่างไกลจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ
HIBINOSEKKEI + youji no shiro สถาปนิกผู้ออกแบบ คือบุคคลที่แก้ไขปัญหานี้ โดยออกแบบโรงเรียนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่าที่มี สร้างสรรค์ห้องเรียนให้มีความยืดหยุ่นสำหรับการทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน ไม่มีกำแพงกั้นในระหว่างห้อง เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานให้สอดคล้องกับแต่ละบทเรียนและหลักสูตรได้ นอกจากนั้นยังดีไซน์ให้มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาของเด็ก มีสเปซสำหรับทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ มีพื้นที่อเนกประสงค์ตรงกลางอาคารให้เด็กได้สัมผัสถึงธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู
-Rain Pool-
ย้อนกลับไปสมัยเด็กเวลาฝนตกคุณเคยอยากกระโดดลงไปในแอ่งน้ำขังรึเปล่า? เราเชื่อว่าในอดีตเด็กๆเกือบทุกคนจะต้องมีช่วงเวลานี้ เด็กมักจะสนุกกับการเล่นในแอ่งน้ำที่มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน สถาปนิกสร้างสรรค์การละเล่นรูปแบบต่างๆในแอ่งน้ำนั้น ให้กับโรงเรียน D1 Kindergarten and Nursery โดยออกแบบพื้นที่อเนกประสงค์ภายในตึก เมื่อฝนตก จะเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมา ให้เด็กนักเรียนได้เล่นกันอย่างสนุกสนาน
-Adaptable activities in Courtyard-
หลังคาบริเวณส่วนกลางของโรงเรียนสามารถเลื่อนเปิดปิดได้ เพื่อปรับเปลี่ยนฟังก์ชันจากพื้นที่ข้างในตึกให้เป็นพื้นที่กึ่งภายนอก หลังคาจะถูกสไลด์เปิดออกเมื่อเวลาฝนตก และน้ำฝนจะไหลรวมไปบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ที่ทำไว้ให้เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และเด็กๆจะเข้ามาเล่นกับแอ่งน้ำนี้อย่างมีความสุข ในฤดูหนาวก็เช่นกัน น้ำจะเปลี่ยนเป็นน้ำแข็ง ทำให้พื้นที่ส่วนกลางกลายเป็นลานไอซ์สเกตสำหรับเด็กนักเรียน และเมื่อใดก็ตามที่หิมะตก เด็กจะสามารถเล่นกับหิมะได้แม้ว่าจะอยู่ภายในอาคารเรียนก็ตาม นอกจากนั้นในฤดูร้อน พื้นที่อเนกประสงค์นี้จะกลายเป็นลานกิจกรรม เช่นเป็นสนามแบตมินตัน วอลเลย์บอล หรือสนามฟุตบอลนั่นเอง
และในบริเวณนี้ยังสามารถเลื่อนหน้าต่างเปิดออกทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน จะเห็นได้ว่าการมีพื้นที่อเนกประสงค์ ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานไปได้หลายรูปแบบ และทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับเด็ก ซึ่งวิธีนี้จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
-Flexible plan-
ภายในห้องเรียนจะแบ่งโซนด้วยการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แทนการกั้นห้อง โต๊ะกับเก้าอี้สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างอิสระ พื้นที่และรูปทรงของห้องจะเปลี่ยนตามการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับการใช้งานในห้องเรียนสำหรับกิจกรรมที่แตกต่างกันได้ โดยการจัดห้องในรูปแบบนี้จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการใช้ผนังกั้นห้องในแบบปกติ
-Flexible Furniture-
เมื่อเด็กเริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียนจะต้องซื้อโต๊ะและเก้าอี้ตัวใหม่สำหรับตนเอง เมื่อเรียนจบจะนำทั้งสองอย่างกลับไปใช้ที่บ้าน ด้วยวิธีเช่นนี้จะทำให้เฟอร์นิเจอร์ในโรงเรียนดูใหม่และสะอาดอยู่เสมอ รวมถึงภายในห้องเรียนจะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น และทุกครั้งที่เด็กเข้าใหม่ ยังสามารถเปลี่ยนรูปทรงของโต๊ะและเก้าอี้ให้ตามเทรนด์ในแต่ละปีได้ ซึ่งในแต่ละชั้นปีจะแตกต่างกัน ทำให้เฟอร์นิเจอร์ภายในโรงเรียนมีความสดใหม่และหลากหลายอยู่ตลอด
-Semi outdoor space-
ประตู ประตูบานเลื่อน และหน้าต่างในโรงเรียน สามารถเปิดกว้าง เพื่อเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดในตึกเรียนไว้ด้วยกัน และยังสามารถเปิดสู่บริเวณเอ้าดอร์ กลายเป็นพื้นที่กึ่งภายในและภายนอก โดยเปิดออกเพื่อรับบรรยากาศจากธรรมชาติ รับแสงแดดและรับลม ให้พัดผ่านเข้าไปในตึกได้
แต่ในเวลาที่แดดร้อนจัดหรือฝนตกหนักก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบกับการเรียนการสอนในห้อง เพราะอาคารเรียนนี้ถูกออกแบบมาให้มีหลังคายื่นออกไปจากห้องเรียนช่วยหลีกเลี่ยงจากปัญหานี้ได้
-Open kitchen–
พื้นที่ส่วนกลางอยู่ใกล้กับห้องครัว ใช้วัสดุเป็นกระจกโปร่งแสงแทนกำแพงทึบ ซึ่งเหมือนกับห้องอื่นๆในโรงเรียน การใช้กระจกโปร่งแสงทำให้เด็กมองเห็นห้องครัว และกรรมวิธีการทำอาหารได้อย่างชัดเจน เด็กจะสนใจใคร่รู้ในตอนแรก และในเวลาต่อมาจะค่อยๆเรียนรู้ขั้นตอนทำอาหารด้วยตนเอง
-Brightness toilet-
สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของโรงเรียนคือ ห้องน้ำที่มีความแตกต่างจากโรงเรียนอื่น โดยปกติแล้วเด็กหลายคนจะมีความคิดที่ว่าห้องน้ำนั้นมืดทึบ สกปรก และน่ากลัว จึงกลัวการเข้าใช้ห้องน้ำเพียงคนเดียว บางครั้งต้องอดทนอดกลั้นเพื่อเข้าห้องน้ำ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกับสุขอนามัยของเด็กโดยตรง เพราะฉะนั้นการดีไซน์ห้องน้ำให้เหมาะสมสำหรับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการออกแบบ โดยโรงเรียน D1 Kindergarten and Nursery สถาปนิกได้สร้างสรรค์ห้องน้ำในรูปแบบใหม่ ที่สว่าง โล่ง สะอาด ปลอดภัย และมีความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของเหล่าเด็กน้อยที่เกรงกลัวกับการเข้าห้องน้ำคนเดียวให้หมดไป
D1 Kindergarten and Nursery คือโรงเรียนอนุบาลที่เน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมที่นำข้อจำกัดจากบริบทรอบข้าง มาแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น เช่นสร้างสรรค์พื้นที่ส่วนกลางทำให้นักเรียนใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าที่เคย ออกแบบพื้นที่ภายในให้มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนฟอร์มตามการใช้งานได้ จนกลายเป็นโรงเรียนที่ส่งผลต่อการพัฒนาของเด็ก ทำให้เด็กรับรู้ถึงความเป็นอิสระ การเปิดกว้างทั้งทางความคิด ทางร่างกาย และทางจิตใจ ซึ่งล้วนสนับสนุนการเรียนรู้ในวัยเด็กให้มีประสิทธิภาพละพัฒนาอย่างชาญฉลาดไปตามวัยนั่นเอง
แสงแดดอุ่นๆในตอนเช้า หรือเสียงลมที่กระทบกับต้นไม้ ก่อให้เกิดการรับรู้ที่มีความแตกต่างกัน สถาปัตยกรรมที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การรับรู้ผ่านทางการมองเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการใช้โสตสัมผัสหลายๆอย่างพร้อมกัน เพื่อที่จะได้รับรู้ ได้สัมผัส ได้เสพบรรยากาศ เก็บไว้ในความทรงจำ ซึ่งการรับรู้นี้ก็ไม่ได้จำกัดแต่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กก็มีการรับรู้ที่สำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก www.designboom.com, www.allarchitecturedesigns.com,www.archdaily.com