OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านที่หายใจได้ด้วยกำแพง.. ‘The Breathing Wall Residence’

“บ้านไซส์มินิ ที่มีกำแพงเป็นเครื่องช่วยหายใจ ทำให้บ้านมีชีวิตชีวาได้ภายในพื้นที่จำกัด”

The Breathing Wall Residence

Location: Thrissur,India

Architects: LIJO.RENY Architects

Photographs: Praveen Mohandas, LRa

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” บ้าน..ที่แม้จะมีขนาดเล็ก ดูคับแคบ แต่ถ้าสามารถออกแบบสเปซให้ลงตัวมีความเหมาะสมกับการใช้งานกับเจ้าของบ้าน รวมถึงมีการระบายอากาศที่ดี ก็สามารถเป็นบ้านที่มีประสิทธิภาพ อยู่แล้วสุขสบายเช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ “The Breathing Wall Residence” บ้านหลังเล็กที่หายใจได้ในพื้นที่เพียง 6×16 เมตร หรือ 96 ตารางเมตร

The Breathing Wall Residence บ้านสามชั้นที่ตั้งอยู่ในเมือง Thrissur ตอนใต้ของประเทศอินเดียที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งในฤดูร้อนนั้นอุณหภูมิจะสูงถึง 32 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว และด้วยพื้นที่ขนาดเล็กที่ถูกล้อมรอบด้วยบ้านด้านข้างถึงสามด้าน นับเป็นความท้าทายของสถาปนิกชาวอินเดียอย่างบริษัท LIJO.RENY Architects ที่จะออกแบบบ้านหลังนี้อย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการอยู่อาศัย

โดดเด่นภายใต้ความเรียบง่าย

ภาพ Façade เหล็กสีน้ำตาลที่ถูกเจาะรูพรุนเป็นรูปทรงเรขาคณิตไร้เหลี่ยมอย่างวงกลม ล้อมรอบด้วยกรอบสีขาวของตัวบ้าน ทำให้รูปลักษณ์ภายนอกของบ้านหลังนี้ดูโดดเด่นแตกต่างจากบ้านอื่นๆ ความนิ่งเรียบที่ไม่คุ้นตายิ่งเพิ่มความน่าค้นหายิ่งนัก

ด้านหลังประตูที่ซ่อนการตกแต่งภายในรูปแบบเรียบง่ายจากกำแพงสีขาวเปลือย เฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ตัดกับสีเขียวของต้นไม้ภายในบ้าน ดูครบครันและลงตัวแบบที่ไม่น่าเป็นไปได้ในพื้นที่เล็กขนาดนี้

พื้นที่นำพาธรรมชาติ

จากข้อจำกัดในการออกแบบการระบายอากาศภายในบ้าน ทำให้สถาปนิกขีดเส้นแบ่งพื้นที่ภายในบ้านออกเป็นสองฝั่งนั่นคือ ฝั่งด้านหน้าที่เป็นห้องรับแขก กับฝั่งด้านหลังที่เป็นห้องทานอาหาร โดยมีพื้นที่เชื่อมเล็กๆตรงกลางขนาด 3.3×1.8 เมตร เพื่อปลูกสร้างธรรมชาติภายใต้พื้นที่เปิดโล่งจากชั้นหนึ่งถึงชั้นสาม

ซึ่งนอกจากจะนำพาความธรรมชาติจากต้นไม้ให้คนในบ้านได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังนำแสงและลมธรรมชาติจากภายนอกพัดเข้ามาผ่านกำแพงคัดกรองอย่าง “Breathing Wall” กำแพงที่เป็นหัวใจหลักของบ้านหลังนี้

บันไดเชื่อมต่อชั้นสองถูกวางอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งนี้ เพื่อให้ทุกคนที่เดินผ่านได้สัมผัสกับธรรมชาติ

เมื่อ‘กำแพง’กลายเป็น‘จมูก’

กำแพงเหล็กกล้าที่เป็นเสมือนจมูกช่วยให้บ้านหายใจได้อย่างสะดวกในพื้นที่คับแคบ ซึ่งมีการเจาะรูขนาดไล่ระดับเล็กใหญ่ที่แตกต่างกัน เป็นshadeเพื่อคัดกรองให้ธรรมชาติผ่านเข้าออกได้ แต่ยังคงความรู้สึกปลอดภัยและสามารถปกป้องพื้นที่ภายในบ้านได้ด้วยวัสดุเหล็กกล้า Corten ที่ทนทานต่อความร้อนจากแสงแดดภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนระอุได้เป็นอย่างดี

โดยกำแพงถูกตั้งขนาบคู่ โอบกอดพื้นที่เปิดโล่ง ที่ไม่เกรงกลัวต่อธรรมชาติ ยอมให้แสงแดด สายฝน สายลม เข้ามาภายในสวนขนาดเล็กนี้ ทำให้บ้านสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างแท้จริง เต็มไปด้วยความอบอุ่น มีชีวิตชีวาเหมือนมีลมหายใจดังเช่นชื่อ ‘The breathing wall’

เมื่อ‘กำแพง’ กลายเป็น ‘ผิวหนัง’

นอกจากนี้ กำแพง breathing wall ยังถูกแปลงร่างเป็นผิวหนังหรือ Façade ด้านหน้าของตัวบ้าน ที่เชื่อมต่อกับห้องนอน โดยมีช่องว่างระหว่างผนังที่สามารถปลูกต้นไม้ได้ด้วย ทำหน้าที่เดียวกันคือระบายอากาศและถ่ายเทความร้อนภายในบ้าน

รับรู้กาลเวลาและสภาพอากาศ

บรรยากาศภายในบ้านที่โปร่งสบาย เหมือนได้พักผ่อนอยู่ข้างๆสวนแนวตั้งขนาดเล็กที่มีสกายไลท์ด้านบน ทำให้แสงแดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกๆที่ภายในบ้านโดยไม่ต้องพึ่งแสงประดิษฐ์ในเวลากลางวัน อีกทั้งยังสามารถรับรู้กาลเวลาและสภาพอากาศที่เกิดขึ้นภายนอกได้อีกด้วย

ช่องเปิดบนหัวเตียง ที่ออกแบบให้เป็นหน้าต่างยาว สามารถเปิดเพื่อระบายอากาศ เพื่อไม่ให้บ้านดูมืดอับในตอนกลางวัน พร้อมทั้งหลอดไฟสีขาวที่ออกแบบเป็นขีดยาวกลมกลืนไปกับกำแพง ทำให้มองแล้วเหมือนแสงจากธรรมชาติส่องเข้ามาจริงๆอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าบ้านไซส์เล็กที่เรียบง่ายหลังนี้ มีการสร้างลูกเล่นสำหรับพื้นที่ที่ยินดีต้อนรับธรรมชาติ โดยไม่เกรงกลัวต่อฟ้าฝน แสงแดด สายลม ไม่ต่อต้านสภาพแวดล้อมของอินเดียที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อบ้านเท่าไหร่นัก เป็นการเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างแท้จริง ใช้วัสดุในการตกแต่งอย่างเรียบง่ายเพียงไม่กี่อย่างแต่บ้านก็สวยงามน่าอยู่และมีชีวิตชีวา สร้างลมหายใจให้กับบ้าน ซึ่งเป็นนิยามของการอยู่อาศัยแบบมีความสุข

 

ขอบคุณข้อมูลจาก archdaily และ designboom