“เพราะการออกแบบ ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยพลักดันนักออกแบบรุ่นเยาว์ ให้มีความพร้อมและเติมเต็มพลังความคิดสร้างสรรค์ ก่อนที่จะออกไปสู่สนามออกแบบจริง กับการประกวด “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” (RUBBERLAND Design Contest) ซึ่งมีโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุโฟมยางพารา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “FutureLiving ปั้นยางให้เป็นงาน” ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต จัดโดยรับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพารานั่นเอง
ซึ่งวันนี้ได้ผู้ชนะการประกวดแล้ว ลองไปชมแนวคิดในการออกแบบกันดีกว่าครับ ว่าน้องๆจะสามารถ นำยางพารามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ได้น่าสนใจแค่ไหน
กว่า 4 เดือนแห่งการทุ่มเทของทั้ง 3 คน คือ นุธสิญจน์ เทือกตาหลอย, กาญจนา ศรีรินทร์ และรัฐนันท์ ชั่งเพ็ชรผล นักศึกษาชั้นปีที่3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผ่านเวทีการประกวดมาแล้วเป็น 10 เวที แต่นี่คือเวทีแรกและครั้งแรกที่พวกเขาได้รับรางวัล ในผลงานการออกแบบที่นอนสำหรับเด็กจากวัสดุโฟมยางพารา ที่มีชื่อว่า “Kid and Attentive เพราะชีวิตคือการเดินทาง” และนี่คือความในใจของเด็กที่พูดถึงโครงการประกวดในครั้งนี้
ทำไมถึงสนใจเข้าร่วมโครงการ “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์”?
ที่สนใจเข้าประกวดกับรับเบอร์แลนด์ เพราะอยากได้ประสบการณ์เพื่อเป็นต้นทุนตั้งต้นในการทำงาน และโครงการดีๆที่ช่วยสนับสนุนเราตั้งแต่วันแรกที่เข้าโครงการด้วยการแนะนำเกี่ยวกับวัสดุจนถึงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับคำแนะนำจากนักออกแบบที่มีชื่อเสียง และสำหรับผู้ชนะงานดีไซน์จะได้นำไปใช้ในการผลิตและจำหน่ายจริง โครงการแบบนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และที่สำคัญที่สุดคือการแบ่งปันความรู้จากรับเบอร์แลนด์ เพราะเมื่อผ่านเข้ารอบ 20 ทีม พวกเราได้มีโอกาสทำเวิร์คชอปร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากรับเบอร์แลนด์ ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับวัสดุโฟมยางพารามากขึ้นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ก่อให้เกิดแบคทีเรีย และไรฝุ่น ทำให้เราเข้าใจและใช้คุณสมบัติของยางพาราได้ 100% และใช้ประสิทธิภาพของยางพาราได้มากขึ้น
ตีโจทย์ Future Living ของโครงการประกวดนี้อย่างไร?
ในส่วนของโจทย์คือ future living เรามองว่าในสังคมในอนาคตมันไม่ได้มีแต่ผู้สูงอายุ มันก็จะต้องมีเด็กที่ต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ ที่จะต้องใช้ชีวิตในอนาคต เราคิดว่าจะทำยังไงให้เค้าโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และมีคุณภาพมากที่สุด โดยแรกเริ่ม เราตั้งต้นกันว่าจะออกแบบกระเบื้องยางพารา แต่เมื่อเริ่มลงมือคิดจริงจังก็พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะเมื่อคิดถึงยางพารา เราจะนึกถึงความนุ่ม จึงตัดสินใจรื้อคอนเซ็ปต์กันใหม่ จนมาลงตัวที่ “ที่นอนสำหรับเด็ก
อะไรเป็นตัวจุดประกายในการออกแบบที่นอนสำหรับเด็ก
เริ่มแรกเราสังเกตจากพฤติกรรมการนอนของเราก่อนว่า ตอนเด็กการนอนของเรามีปัญหาในด้านใดบ้าง ซึ่งพวกเราเป็นคนไม่ชอบนอนที่นอนแบบแข็ง เลยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการปวดหลัง เราเลยมองเห็นว่าปัญหานี้อาจจะเป็นปัญหาส่วนมากกับเด็กหลายๆคน เราเลยสังเกตจากตามโรงเรียนอนุบาลทั่วไปหรือไม่ก็น้องๆหลานๆที่อยู่บ้านรวมถึงผู้ใหญ่ด้วยว่ามีอาการแบบที่พวกเราคิดรึเปล่า แล้วก็ค้นคว้างานวิจัยที่วิจัยไว้ทั่วโลกแล้วว่าการนอนของเด็กมีปัญหาและส่งผลอย่างไรในอนาคตบ้าง ซึ่งสิ่งที่พบก็คือ ที่นอนส่วนมากจะเป็นแบนๆแข็งๆ ราบกับพื้นทำให้ไม่สบายต่อการนอน ซึ่งปัญหาสุขภาพการนอนที่ไม่ถูกต้องผลที่ตามมาตอนเป็นผู้ใหญ่ คืออาการกระดูกสันหลังคด อีกอย่างคือ ที่นอนเด็กทั่วไปในปัจจุบันจะดูเรียบๆ เราอยากสร้างจินตนาการให้เด็กด้วยการออกแบบให้เป็นคาแรคเตอร์ที่หลากหลาย และให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเลือกด้วย มันจะทำให้เค้ารู้สึกดีกับตัวละครที่เค้าชอบ
ใช้เวลาเท่าไหร่ในการศึกษาหาข้อมูลและการทำดีไซน์ครั้งนี้
เราเริ่มทำงานตั้งแต่ได้รับโจทย์มาในเดือนสิงหาคม พัฒนามาเรื่อยๆ แก้ไขผลงาน หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับการนอนของเด็กเล็กว่ามีพฤติกรรมการนอนอย่างไร สรีระของเด็ก และสีที่เหมาะกับการนอนของเด็กเล็ก สังเกตพฤติกรรมเด็กๆ และออกแบบเป็นคาแรคเตอร์ต่างๆ จนถึงส่งประกวดรอบสุดท้าย รวมๆแล้วก็ร่วม 3 เดือน จนกลายมาเป็น “Kid and Attentive เพราะชีวิตคือการเดินทาง” มี 3 คอลเลคชั่น คือ Monster, Animal และ Dinosaur ที่นอนและผ้าห่ม ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี
ขั้นตอนก่อนที่จะออกมาเป็นโมเดลว่าเริ่มต้นยังไงบ้าง
หลังจากศึกษาค้นหาข้อมูล ก็เข้าสู่ขั้นตอนทำสเก็ตแบบ ซึ่งส่วนนี้ก็ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา จากนั้นเราก็ได้ทดลองทำโมเดลที่มีขนาดจริงออกมาก่อน โมเดลขนาดจริงตัวแรกเราทำจากผ้า ใช้การเย็บ และสอดไส้ด้วยผ้า เพื่อให้มันเป็นที่นอน แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อให้เราได้รู้ขนาดจริง แล้วก็ต้องมาเลือกสีที่จะช่วยส่งผลต่อจินตนาการของเด็กในเรื่องการพัฒนาทักษะ เช่น สีโทนอ่อน สีเนื้อ สีฟ้า สีฟ้าพาสเทล พวกสีอ่อนๆ จะช่วยเสริมทักษะด้านความจำของเด็กเพิ่มขึ้นถึง 10% และทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย หลับได้สบาย อีกด้วย
สำหรับการประกวดครั้งนี้ได้มีคิดว่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากกระทรวงพาณิชย์, TCDC, MTEC และนักออกแบบด้านกรีนดีไซน์ อย่าง รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต คิดว่าจุดเด่นอะไรของงานเราที่ทำให้ชนะในการประกวด
อย่างแรกคือเราจับกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น เพราะปกติแล้วกลุ่มอื่นจะตีโจทย์ทำผลิตภัณฑ์สำหรับคนวัยชราเพื่อสุขภาพ เราเล่นในกลุ่มเด็กที่เป็นผู้บริโภคใหม่ ประกอบกับการนำคอนเซ็ปต์ Zero waste ลดมลพิษจากขยะโดยใช้วัสดุโฟมยางพาราทั้งหมด แบบไม่ให้เหลือเศษยางเพื่อตอบโจทย์ Future Living การออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องนำไปใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หมอนเราจะทำจากเศษโฟมยางพาราแทนการใช้นุ่นหรือวัสดุสังเคราะห์ทั่วไป ตัวที่นอนก็ทำงานโฟมยางพารา และเพิ่มความน่าสนใจด้วยตัวการ์ตูนที่มีคาแรคเตอร์ ที่ทำให้งานดีไซน์ดิ้นได้ “เพราะที่นอนแบบเดิม เพิ่มเติมคือลวดลาย”
สิ่งที่ได้จากเข้าร่วมโครงการนี้
พวกเราได้เรียนรู้ในเรื่องแนวคิดใหม่ๆ อย่าง future living เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้เราได้คิดต่างจากที่อื่น และยังช่วยให้เข้าใจว่างานดีไซน์ต้องใช้ความเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานจริงๆบวกกับความคิดสร้างสรรค์ แถมยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่างๆได้ด้วยอย่างเช่น ยางพารา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี สำหรับในส่วนของกระบวนการทำงาน ทำให้เราโตขึ้น ยิ่งเราได้มาเวิร์คชอป ยิ่งรู้สึกสนุก ท้าทาย มีไอเดียที่จะพัฒนางานให้งานดีขึ้น มีประโยชน์สำหรับพวกเราในการทำงานในอนาคต สุดท้ายคือความภูมิใจว่าสิ่งที่เราคิดจะได้นำมาผลิตจริง ได้ใช้งานและขายได้จริง
ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่มีค่าของทีม Group จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเข้าร่วมโครงการรับเบอร์แลนด์ดีไซน์ คอนเทสต์ ที่ไม่ใช่ในเรื่องของเงินรางวัล ถ้วยเกียรติยศ แต่คือความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อต่อยอดยางพาราไทย สนใจสามารถติดตามชมผลงานของน้องๆทีม Group และทีมรองชนะเลิศ ได้ที่ “งาน Bangkok Design Week : Student Show Case ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11.00 – 20.00 น. ณ ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thairubberland.com