OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

รับรู้ความเป็นเมือง ผ่านนิทรรศการ “The Wall”

The Wall และ Bangkok Design Week จัดแสดงงานระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 โดยอยู่ในพื้นที่ทั่วกรุงเทพ ซึ่งจะมีทั้ง แกลอรี่ นิทรรศการ Workshops และShowcases ซึ่งถ้าสนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ Bangkok Design Week ในส่วนของโปรเจค The Wall ทั้ง 10 จุดนั้น จัดแสดงอยู่ในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย

ตลาดน้อย ในยามกลางวันจะเต็มไปด้วยผู้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมตลอดทั้งวัน เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย – จีน เข้าไว้ด้วยกัน แต่ทว่า ความมีสีสันของชุมชนตลาดน้อยจะค่อยๆเลือนหายไปตามแสงสว่างที่มืดลง ในตอนกลางคืนย่านนี้กลับมืดสนิท ร้านค้าต่างปิดทำการ

ตลอดทางของโปรเจค The Wall จะพบกับ แสง สี ที่ส่องสว่างจากขั้นตอนและวิธีที่หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการเชิญชวนให้คนในชุมชน และผู้ที่หลงใหลในงานศิลปะ ได้ลองเดินสำรวจตลาดน้อยในมุมมองที่แปลกใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนกลางคืนและเกิดขึ้นในงานนี้เท่านั้น

The Wall ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชาวไทย 10 กลุ่ม จาก LDT (Lighting Designers Thailand) มีแนวคิดในการจัดแสดงคือการออกแบบแสงกับพื้นผิววัสดุแนวตั้ง (ซึ่งคือกำแพง) โดยแต่ละผลงานจะจัดแสดงอย่างกระจัดกระจายในชุมชนตลาดน้อยถึง 10 แห่งด้วยกัน แสงจะอยู่ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นบนกำแพง พื้น ฝาผนัง หรือแม้แต่จัดแสดงเป็น Installation ผู้คนสามารถค้นหาและร่วมรู้สึกไปกับการเดินทางสำรวจแสง รับรู้ความเป็นเมือง ผ่านการใช้แสงเป็นสื่อกลางในการสื่อความหมาย

แสง เงา และสี ทั้งหมดนี้ ก่อเกิดมิติบนกำแพงเรียบๆ เพียงการออกแบบด้วยวิธีเหล่านี้ ก็สามารถสร้างอารมณ์ ความรู้สึกร่วม ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมงานได้เป็นอย่างดี

การสร้างสรรค์งานศิลปะในพื้นที่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

The Wall 1: ผนังและทางเดินที่โรยไปด้วยกุหลาบ

วัดกาลหว่าร์ มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Holi Rosary Church ซึ่ง Rosary แปลว่ากุหลาบ

ตรอกทางเดินเล็กๆที่มุ่งหน้าไปสู่วัดกาลหว่าร์ จึงถูกเติมเต็มไปด้วยแสงไฟรูปทรงกุหลาบก่อนที่จะถึงทางเข้าวัด

The Wall 2: แสงสีก่อเกิดมิติของอาคาร

เอกลักษณ์ของอาคารสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ คืออาคารที่มีแผงกันแดดสไตล์โมเดิร์นซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน แผงกันแดดก่อให้เกิดความตื้นลึกของแสงในช่วงกลางวัน และการจัดแสงในช่วงกลางคืนเช่นนี้ยิ่งแสดงตัวตน แสดงมิติของอาคารให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น จากแสงและสีที่เปลี่ยนไปมา

The Wall 3: ความเงียบสงบท่ามกลางชีวิตสับสนวุ่นวาย

แสงสีและลวดลายก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายใจ มีเพียงก็แต่จุดสีเหลืองตรงกลางภาพที่ปลอบประโลมให้เกิดความเงียบสงบขึ้นมาในทันที ด้วยแสงสีและลวดลายบนผนังที่ว่างเปล่า ช่วยแต่งเติมพื้นที่ย่านตลาดน้อยให้ดูมีชีวิตชีวา น่าค้นหามากขึ้น

The Wall 4: จร

จากการใช้เจลย้อมสีและผงเรืองแสง จึงช่วยเปลี่ยนผนังที่ว่างเปล่า ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ด้วยการขีดๆ เขียนๆ ตามแต่ละสไตล์ลงบนกำแพง

The Wall 5: หมุนเวียน

วงเวียน ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปตามแต่ละช่วงเวลา ก็เหมือนกับแสงที่คอยนำทางให้แต่ละคนสามารถเดินผ่านวงเวียนนี้ไปได้อย่างมีสวัสดิภาพ

The Wall 6: ตามมาเพื่อน

แมวน้อย 2 ตัว คอยทักทายและนำทางผู้ชมงาน ไปสู่ผลงานบนผนังชิ้นต่อไป

The Wall 7: เลี่ยง

แสงที่ทำให้เราจดจำได้ดีที่สุด คือแสงที่มาพร้อมกับประสบการณ์ เช่น แสงทำให้เกิดความมีชีวิตชีวา ทำให้รู้สึกหวาดกลัว หรือแสงที่ทำให้เกิดความสงบในบางครั้ง แสงเช่นนี้ เป็นแสงที่เรามักจะจำได้ดีกว่าแสงในรูปแบบอื่นๆ

แสงในรูปแบบใหม่ ที่เกิดจากการออกแบบอารมณ์ร่วมของผู้เข้าชม ไปพร้อมกับการออกแบบแสง แล้วคุณจะพบว่าแสงเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ความมืดหรือแสงสว่าง

The Wall 8: เซียมซี

การเสี่ยงเซียมซียุคดิจิตอล ด้วยการใช้แสงไฟเป็นการทำนายดวงชะตา

The Wall 9: House by the river

แสงสีน้ำเงินสลัวที่เกิดจากการสะท้อนของพระจันทร์ที่ตกกระทบลงบนพื้นน้ำ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นแสงสีน้ำเงินและแสงสีแดงที่สื่อถึงขนบธรรมเนียมและความเชื่อของชาวจีน ในบริเวณหน้าประตูบ้าน และเมื่อเปิดประตูเดินเข้ามาภายในบ้านจะพบกับคอร์ทยาร์ดตรงกลางขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยบ้าน 2 ชั้นเก่า สไตล์จีน ซึ่งในตอนกลางวันพื้นที่แห่งนี้เปิดเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำและร้านกาแฟ

The Wall 10: Fiat 600

ซากรถ Fiat 600 และกำแพงเก่า คือจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาถ่ายรูปเมื่อใดก็ตามที่มาตลาดน้อย เมื่อมีโปรเจค The Wall แน่นอนเลยว่าการสร้างบรรยากาศตอนกลางคืนให้กับพื้นที่นี้ จึงเป็นการเน้นภาพความโดดเด่นของตลาดน้อยให้เป็นที่จดจำทั้งในตอนกลางวันและกลางคืนมากขึ้น

โปรเจคนี้เป็นการกระตุ้นให้คนกรุงเทพได้สนใจเดินสำรวจบ้านเมืองมากขึ้น และบางคนอาจจะฉุกคิดได้ถึงอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบ้านเมืองของเรา หรือแม้แต่กระทั่งได้รับแรงบันดาลใจ จากการเดินชมงานนี้ก็เป็นได้ แต่ถึงแม้จะไม่ใช่คนที่อินในงานศิลปะมากเท่าไหร่นัก เราก็อยากจะเชิญชวนให้มาลองเล่นกับแสงสี ที่ทั้งน่าสนุกและน่าตื่นเต้น จากฝีมือเหล่าสถาปนิกทั้ง 10 กลุ่มที่ได้สร้างสรรค์ออกมาภายในงานนี้

นอกจากเรื่องของการออกแบบแสงสว่าง ให้ขับเน้นพื้นที่คุ้นชิน ให้เกิดความพิเศษและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว งานแสดงแสงไฟ The Wall นี้ ยังทำให้เรามองความเป็น “เมือง” ในอีกมุมที่ต่างไป เพราะแท้จริงแล้วเนื้อหาสำคัญของงานนี้ ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบแสงไฟ แต่กลับเป็นสภาพของบ้านเมือง ชุมชน และบริบท ที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน เพราะระหว่างทางที่เดินชมแสงไฟ เราได้ใกล้ชิดผู้คนและชุมชนมากที่สุด ความงามที่แท้จริงนั้น คือสิ่งเดิมที่มีมานานแล้ว และโปรเจค The Wall นี้ ทำให้เรามีโอกาสได้กลับมามองความงามเหล่านั้นอีกครั้ง…

บริเวณที่จัดงาน The Wall ทั้ง 10 แห่ง