ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในชีวิตประจำวัน “พลาสติก” เป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์ที่เราพบเจอบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นถุง ขวดน้ำ กล่องข้าว และอื่นๆ แม้มีการใช้งานที่สะดวกสบาย แต่ต่างทราบกันดีว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายและเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้นในทุกๆวัน
พลาสติกกับงานสถาปัตยกรรมดูเป็นเรื่องห่างไกลกัน แต่ “Pavilion Waste side story” หนึ่งในงานที่น่าสนใจของ Bangkok Design week 2018 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการก้าวข้ามขีดจำกัดของวัสดุที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพลาสติก โดยนำมารีไซเคิลและสร้างองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา การนำขยะพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ในฐานะงานที่สร้างสรรค์
“Pavilion Waste side story” ผนังสีชมพูสดใสและดีไซน์ล้ำสมัยจากพลาสติก ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบ “TCDC ไปรษณีย์กลางบางรัก” นอกจากสถาปัตยกรรมที่ทำจากพลาสติกแล้ว ด้านในยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้และผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆที่ผลิตจากพลาสติกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) กับ Cloud-Floor กลุ่มนักออกแบบที่มีแนวความคิดอยากพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ
เมื่อชิ้นส่วนผนัง เปลี่ยนเป็น เก้าอี้ ได้
เมื่อเข้าไปสัมผัสในระยะใกล้ พบว่าผนังสีชมพูนั้นเป็นบลอคพลาสติกทรงเหลี่ยมที่เชื่อมต่อกันแบบ“เดือยขัด” คล้ายการต่อตัวของเล่นที่สามารถถอดประกอบได้ ผสานกันอยู่บนโครงสร้างเหล็กของพาวิลเลียน ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการก่อสร้าง และขนย้ายได้สะดวก โดยแต่ละบลอคเกิดขึ้นจากการนำเม็ดพลาสติกเหลือใช้ที่รีไซเคิลมาเข้ากรรมวิธีขึ้นรูปใหม่ในแม่พิม ซึ่งมีทั้งหมด 6 รูปแบบด้วยกัน
เมื่อมีการรื้อถอนพาวิลเลียนแห่งนี้แล้ว ชิ้นส่วนบลอคทั้งหมด 4,388 ชิ้น บลอคเหล่านี้สามารถแปลงร่างให้กลายเป็น ‘เก้าอี้’ ที่มีขนาดและองศาโค้งรับกับสรีระของมนุษย์ได้ด้วยการเข้าเดือยขัดกับโครงไม้ที่เป็นขาของเก้าอี้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการหลอมใหม่อีกด้วย
ตัวอย่างเม็ดพลาสติกและเครื่องขึ้นรูปบลอคพลาสติก ที่เป็นผนังของพาวิลเลียน
เรื่องราวของ “มุ้งไนลอน” ในร่างสถาปัตยกรรมและกระเป๋า
อีกหนึ่งวัสดุโปร่งแสงที่ถูกนำมาผสมผสานทำให้พาวิลเลียนนี้ไม่ให้ดูทึบตันจนเกินไป คือ ‘มุ้งไนลอน’ ที่อนุญาตให้แสงธรรมชาติ ส่องผ่านเข้ามาในพื้นที่จัดนิทรรศการได้ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนนั้น ผ่านการออกแบบในเรื่องของขนาดและการประกอบเข้ากันให้เหมาะสมกับพาวิลเลียน เมื่อรื้อถอนแล้วยังสามารถดัดแปลงโดยการเย็บติดกันให้เป็นกระเป๋าใส่ของได้ เช่นเดียวกับพลาสติกใสส่วนหลังคาที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้อีกมากมาย
ท่องโลกผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเหลือใช้
นอกจากด้านนอกที่โชว์ศักยภาพของพลาสติกในรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมแล้ว ภายในยังมีงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากขยะพลาสติกอีกด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โคมไฟ ไปจนถึงกีต้าร์ไฟฟ้าเลยทีเดียว
เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากผ้าฝ้ายที่ทอขึ้นใหม่โดยผสมพลาสติกรีไซเคิลถึงร้อยละ 40 (ด้านซ้าย) และผลิตจากวัสดุเหลือใช้อย่าง ขวดพลาสติกและแหอวน (ด้านขวา)
แก้วน้ำกระดาษเคลือบฟิล์มพลาสติกชีวภาพลายเบญจรงค์ ที่ย่อยสลายได้100% ภายใน180วัน
กีต้าร์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนมาใช้พลาสติกในการผลิตในส่วนหัว คอ และ ฟิงเกอร์บอร์ด ที่นอกจากจะมีน้ำหนักเบา สะดวกสบายในการเล่นแล้ว ลักษณะการออกแบบที่กลวง ยังเพิ่มความกังวาลของเสียงให้แก่ตัวกีต้าร์อีกด้วย
โรงงานขึ้นรูปพลาสติกไซส์มินิ
โรงงานขึ้นรูปพลาสติกขนาดจิ๋ว อีกหนึ่งความน่าสนใจภายในพาวิลเลียนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาสนุกกับการทดลองทำงานศิลปะจากพลาสติก ซึ่งจะมีเครื่อง Respawn หรือเครื่องขึ้นรูปพลาสติกเล็ก ที่สามารถรองรับพลาสติกได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เส้น เม็ด และเศษพลาสติก ซึ่งเครื่อง Respawn ที่นำมาให้ทดลองกันนั้น มีรูปทรงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขนมไทย โดยผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำมาแปลงโฉมเป็นเครื่องประดับและโมบายแขวนรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งขั้นตอนในการผลิตนั้นใช้หลักการเดียวกับการทำผนังด้านนอกนั่นเอง
โมบายแขวนทรงขนมไทย ที่แปรรูปมาจากเม็ดพลาสติก โดยผ่านเครื่อง Respawn ซึ่งเป็นหนึ่งในการแปรรูปจากขยะพลาสติกมาเป็นงานศิลปะที่สวยงามได้
ท้ายที่สุดแล้วพลาสติกไม่ได้เป็นเพียงแค่วัสดุที่ทำลายหรือสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากเรารู้จักลดการใช้ มองหาสิ่งดีๆในตัวของพลาสติก แล้วนำมาปรับและกลับมาใช้ให้ถูกวิธี คงมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังเช่นพาวิลเลียน Waste side story หลังนี้ ที่ในอนาคตอาจกลายเป็นเก้าอี้ ทำให้เราเห็นคุณค่า และมองว่าพลาสติกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ส่วนใครที่สนใจสามารถเข้าชม Waste side story ได้จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2561 นี้