OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

5 Façades อัจฉริยะที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและฤดูกาล

Façade ที่สามารถเคลื่อนไหวและขยับไปมาได้ โดยมีปัจจัยของธรรมชาติ เช่น แดด ลม ฝน เป็นสิ่งที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงของ Facade สร้างความน่าสนใจให้กับแต่ละอาคาร และในแง่ของการใช้งานยังทำให้อาคารเหล่านี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

เพราะธรรมชาติและการออกแบบ Façade นั้น เกี่ยวเนื่องกัน

ธรรมชาติคือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งมนุษย์ต้องปรับตัวและพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต แต่ในบางครั้งธรรมชาติก็นำพาความยากลำบากในการอยู่อาศัย เช่น อากาศร้อน-เย็น ลม ฝน พายุ เป็นต้น ซึ่งการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้น ก็เป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับปัญหาจากธรรมชาติ ผ่านการสร้างสรรค์ที่กลมกลืนและนำธรรมชาติมาประยุกต์ใช้กับอาคารให้เกิดความสวยงามและตอบสนองการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบ Façade ที่เปรียบเสมือน ผิวชั้นนอกสุดของอาคาร ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้นั่นเอง

Façade หรือเปลือกอาคาร มีการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความสวยงาม เพื่ออธิบายตัวตนของอาคาร ซึ่งในบทความนี้ จะเกี่ยวกับ Façade ที่สามารถแปรเปลี่ยนรูปแบบไปตามสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างภาวะน่าสบายให้กับผู้ใช้งาน และยังเป็นการประหยัดพลังงานให้กับอาคารได้อีกด้วย


 – Water –

Project: Tipping Water

Architect: Ned Kahn, Moshe Safdie

Location: Marina Bay Sands, Singapore

Facade ของอาคาร Cooling Tower ที่ถูกปกคลุมไปด้วยแผ่นโลหะมากกว่า 10,000 ชิ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำไหลลงมา ตัวแผ่นโลหะที่สามารถขยับได้นั้นจะเอียงซ้าย หรือเอียงขวา ตามทิศทางที่น้ำตกลงมา และจะส่งต่อน้ำไปเรื่อยๆ จนไปสู่ส่วนกักเก็บน้ำข้างล่างอาคาร จนเกิดเป็น Façade ที่เกิดการเคลื่อนไหวตลอดเวลา (Dancing Façade) โดยมีความหลากหลายไม่ซ้ำกันและไม่สามารถคาดเดาถึงการไหลของน้ำได้ เพราะรูปแบบการไหลของน้ำในแต่ละครั้งล้วนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา โดยการออกแบบ Façade วิธีนี้ เป็นขั้นตอนทำงานของ Cooling Tower ในการผสมน้ำกับอากาศ และช่วยระบายความร้อนของน้ำ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอาคารอีกครั้งนั่นเอง

 

– Wind Direction –

Project: Brisbane Airport Parking Garage 

Architect: Ned Kahn, Hassel Architecture, UAP, Brisbane Airport Corporation

Location: Brisbane Airport, Australia

อาคารจอดรถในสนามบิน Brisbane ซึ่งเป็นอาคาร 8 ชั้น มีพื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตร ถูกปกคลุมด้วย Façade ที่สร้างจากแผ่นอะลูมิเนียมทั้งหมด 118,000 ชิ้น ซึ่งแผ่นอะลูมิเนียมแต่ละชิ้น จะมีการตอบสนองต่อทิศทางลมที่เข้ามาปะทะกับตัวอาคาร จนเกิดเป็น Façade ที่เกิดรูปแบบลักษณะจากสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ แผ่นอะลูมิเนียมจะสะท้อนกับแสงและสีของท้องฟ้าในเวลา เปรียบได้กับระลอกคลื่นที่เคลื่อนไหวอยู่บนกำแพง

แผ่นอะลูมิเนียมเหล่านี้ให้ลมผ่านได้ ภายในที่จอดรถจึงไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท มากไปกว่านั้นยังเกิดแสงและเงาภายในอาคาร ซึ่งจะแปรเปลี่ยนไปตามแสงธรรมชาติที่ส่องผ่าน Façade อีกด้วย

รายละเอียดของแผ่นอะลูมิเนียมจิ๋ว ที่ Façade ของอาคาร

 

– Light & Heating –

Project: SDU Campus 

Architect: Henning Larsenis Architect

Location: Denmark

มหาวิทยาลัย SDU Campus มี Façade รูปทรงสามเหลี่ยมเป็นชิ้นๆต่อกัน โดยมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความร้อนและแสงสว่างจากสิ่งแวดล้อมนอกอาคาร

แผ่น Façade ทั้งหมด 1,600 ชิ้น มีรูปทรงสามเหลี่ยมซึ่งอ้างอิงมาจาก Plan อาคารที่เป็นสามเหลี่ยม  Façade มีหน้าที่คอยป้องกันแสงแดดจากภายนอก โดยสามารถเคลื่อนไหว  เปิด – ปิด ได้โดยอัตโนมัติ มีเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนและแสงแดดที่อยู่รอบอาคาร ในกรณีที่ Façade สามเหลี่ยมถูกปิดทั้งหมด อาคารก็ไม่ได้ดูอึดอัดหรือทึบแต่อย่างใด เพราะแสงธรรมชาติสามารถส่องผ่าน รูวงกลมเล็กๆในแผ่น  Façade แต่ละชิ้น เข้ามาภายในอาคารได้นั่นเอง

“เพราะที่ตั้งของอาคารอยู่ติดกับแม่น้ำ พวกเราจึงออกแบบอาคารที่สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ เพื่อเป็นการช่วยให้นักศึกษาเกิดความผ่อนคลายระหว่างการเรียนรู้ แต่ด้วยความที่ด้านหน้าอาคารตั้งอยู่ในทิศใต้ ซึ่งจะโดนแสงแดดและความร้อนในเวลากลางวัน เราจึงออกแบบ Façade ที่สามารถป้องกันแดดแต่สามารถเปิดรับลมและวิวธรรมชาติได้” สถาปนิกกล่าว

 

 – Daytime –

Project: Apple Store Dubai 

Architect: Foster + Partners

Location: Dubai

แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่ Façade ซึ่งสามารถยืด หด ได้ตามเวลาของ Apple Store Dubai จะกางออกในตอนกลางวันเพื่อป้องกันแสงและความร้อน และปิดกลับในตอนกลางคืนเพื่อเปิดรับวิวตึก Burj Khalifa ตึกที่สูงที่สุดในดูไบ

 ในขณะที่ปิด Façade ผู้ใช้งานสามารถเดินออกมาในบริเวณพื้นที่ระเบียงได้ เพื่อรับชมวิวตึก Burj Khalifa ในยามค่ำคืน

การเคลื่อนไหวของ Façade ในเวลากลางวันและกลางคืนเช่นนี้ สถาปนิกเรียกว่า Solar Wings ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวของปีกนกอินทรีย์ในตอนที่กำลังกระพือปีกบิน

 

– Season –

 Project: Sharifi ha House 

Architect: Next Office

Location: Tehran, Iran

Sharifi ha House ตั้งอยู่ที่เมืองเตหะราน ประเทศอิหร่าน เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนในแต่ละปี ในช่วงฤดูร้อนจะร้อนจัด และในฤดูหนาวก็จะหนาวจัด สถาปนิกจึงออกแบบให้ Plan ด้านหน้าของอาคาร สามารถหมุนและเคลื่อนย้ายไปมาได้ถึง 90 องศา ผู้ใช้งานสามารถหมุนผนังด้านที่มีช่องเปิดออกสู่ข้างหน้าอาคาร เพื่อรับลมและแสงแดดในช่วงฤดูร้อน และหมุนกลับไปอีกด้านในช่วงหน้าหนาว ช่วยกันลมและความเย็นจากภายนอกเข้ามาภายในอาคาร

สถาปนิกออกแบบระนาบ Façade 2 มิติ ให้กลายเป็น 3 มิติ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผ่านตัวผู้ใช้งานเอง การทำเช่นนี้ยังเป็นการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้พักอาศัยอีกด้วย นั่นคือ ผู้พักอาศัยจะไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเมื่ออยู่ภายในบ้าน

จากทั้ง 5 อาคารที่เรายกตัวอย่างมานี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากความสวยงามของ Façade ที่สามารถขยับไปมาได้แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นและเหตุผลที่ออกแบบ Façade ให้สามารถเคลื่อนไหวได้ เช่นการออกแบบ Façade โดยคำนึงถึงสภาวะน่าสบายของผู้ใช้งานใน มีการเปิดรับลม และปิดบังแสงแดดจากภายนอกอาคาร รวมไปถึงการออกแบบอาคารอย่างยั่งยืนโดยการนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดพลังงานนั่นเอง

 

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Archdaily, Designboom, Ned Kahn, Stairtimes