OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพิ่มเติมความโมเดิร์น… Long An House

Long An House บ้านสไตล์ทรอปิคอล ที่นำแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของเวียดนามมาใช้ เช่นการมีพื้นที่เปิดโล่ง การใช้แสงแบ่งขอบเขตพื้นที่ในอาคาร มาผสมผสานกับความโมเดิร์น และการเลือกใช้ “อิฐ” เป็นวัสดุหลัก โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมได้อย่างชาญฉลาดและลงตัว

Location: Long An Province, Vietnam
Architecture: Tropical Space
Year: 2017
Site area: 750 Sq.M.
Building area: 300 Sq.M.

อิฐ ไม้ คอนกรีต และช่องเปิดคือองค์ประกอบของ “บ้านสไตล์ทรอปิคอล” ที่เข้ากันได้ดีกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น การออกแบบสไตล์ทรอปิคอลมักจะเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ภายในบ้านให้มีความโปร่ง โล่ง เพื่อระบายความร้อนและอากาศในช่วงเวลากลางวัน รวมทั้งมีการใช้วัสดุจากพื้นถิ่น ที่มีความโปร่ง ไม่ทึบ เพื่อสร้างความกลมกลืนกับบริบทรอบข้างและมีช่องเปิดพอที่ลมจะสามารถพัดผ่านได้ทุกพื้นที่ภายในบ้าน

Long An House บ้านสไตล์ทรอปิคอลหลังนี้ก็เช่นกัน ตั้งอยู่ที่เมือง Long An ประเทศเวียดนาม มีสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้น ซึ่งคล้ายกับภูมิอากาศของประเทศไทย ทำให้เป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี

Long An House มีพื้นที่บ้านทั้งหมด 300 ตารางเมตร ออกแบบโดย Tropical Space สถาปนิกผู้หลงใหลในงานสไตล์ทรอปิคอล โดยการเลือกใช้อิฐ และคอนกรีตเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์บ้านที่โปร่ง โล่ง และเข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อมรอบข้างอาคาร

– สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบ “เวียดนาม” –

บ้านพื้นถิ่นในแบบฉบับของเวียดนาม “สเปซ” ระหว่างด้านหน้าและด้านหลังจะถูกยืดขยายออกมา ไม่ติดกัน ก่อเกิดเป็นช่องว่างที่ไหลต่อเนื่องกันภายในอาคาร มีทางเดินยาว มีสวนกลางบ้าน เชื่อมต่อระหว่างสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน และมีการเลือกใช้ปริมาณ “แสง” ที่ต่างกัน เช่น ความสว่างและความเข้มของแสงจะแตกต่างกันตามแต่ละส่วน เพื่อแบ่งขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และบ้านพื้นถิ่นของเวียดนามจะถูกออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางลมอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเปิดรับลมที่พัดผ่านมาได้ในทุกฤดูกาล

มากไปกว่านั้นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเวียดนามยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่เด่นชัด คือการเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด มีพื้นที่เปิดโล่ง เพดานสูง และมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าบ้านในปัจจุบัน มีการออกแบบภายในและภายนอกอาคารให้มีความสมดุล ใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ไม้ อิฐ เป็นต้น ในการออกแบบทุกครั้งผู้ออกแบบจะสังเกตและวิเคราะห์ถึงทิศทางลม แสงแดดที่จะกระทบกับบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ใช้งานเป็นประจำมักจะออกแบบให้หันหน้าไปทางทิศใต้ เพราะสามารถรับแสงแดดธรรมชาติได้ตลอดฤดูหนาว และในฤดูร้อนก็ยังสามารถรับลมพัดพาความร้อนไปจากบ้านได้อีกด้วย

– ความโมเดิร์นที่ผสมผสานกับความดั้งเดิมได้อย่างลงตัว –

สถาปนิกได้แรงบันดาลใจจากบ้านพื้นถิ่น โดยใช้โครงสร้างแบบดั้งเดิม กล่าวคือมีพื้นที่แยกจากกัน 3 ส่วน คือส่วนหน้าบ้าน สวนกลางบ้าน และหลังบ้าน อีกทั้งมีการใช้หลังคาที่ลาดชันและเจาะช่องบางส่วนของหลังคา เพื่อระบายอากาศในตอนกลางวัน และสถาปนิกยังผสมผสานความโมเดิร์นเข้าไปในอาคารอย่างเห็นได้ชัดจากการแบ่งหลังคาเป็น 2 ส่วน โดยตรงกลางระหว่างหลังคาทั้ง 2 นั้น จะมีสวนและบ่อน้ำตั้งอยู่ใจกลางบ้าน มีทางเดินล้อมรอบสวนที่เปิดโล่ง และเชื่อมต่อระหว่างพื้น ผนังแต่ละด้าน จากการออกแบบเช่นนี้ จะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลางบ้านขนาดใหญ่ เพื่อเปิดช่องรับลมและระบายอากาศภายในบ้าน

“ผมออกแบบบ้านหลังนี้โดยต้องการให้พื้นที่แต่ละส่วนในอาคาร สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่นอกอาคารได้ ไม่มีการปิดกั้นว่าบริเวณนี้อยู่ภายในหรือภายนอกอาคาร เพราะผู้ใช้งานในบ้านนี้มีเด็กอาศัยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเด็กๆจะสามารถวิ่งเล่นได้ตามที่ใจคิดและรู้สึกเป็นอิสระ เพราะไม่มีกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างภายใน ภายนอกอาคาร เป็นการเปิดจินตนาการของเด็กๆให้กว้างไกลมากขึ้น” สถาปนิกกล่าว

 – การใช้งาน…สะท้อนแนวคิดที่แตกต่าง –

แผนผังอาคารชั้น 1

เมื่อเดินเข้ามายังบริเวณหน้าบ้านจะพบกับสวนบริเวณด้านหน้าบ้าน สวนนี้สร้างจากอิฐที่มีรูพรุน ทำให้สามารถดูดซับน้ำฝนได้ดี สามารถช่วยลดความร้อนบนพื้นในอาคาร และยังมีผนังที่ก่อขึ้นจากอิฐ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงของ “แสง” ให้กับอาคารอีกด้วย แสงและเงาจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มจากสวน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องนอน โดยแต่ละห้องจะมีความเข้มและปริมาณแสงที่แตกต่างกันออกไป ผู้ใช้งานจะรู้สึกได้ถึงความมีมิติของอาคาร จากแสงและเงาที่พาดผ่านในแต่ละห้อง

ห้องครัวตั้งอยู่ใจกลางติดกับสวนกลางบ้าน ส่วนห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นจะเรียงรายกันไปตามแผนผังอาคาร ข้อดีของการออกแบบห้องครัวเช่นนี้ คือการเพิ่มความผูกพันให้กับคนในบ้าน ผู้พักอาศัยและเด็กๆในครอบครัวจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสนุกในการทำอาหารด้วยกันได้มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของห้องครัวที่อยู่ใจกลางบ้าน และถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิด เข้าถึงได้ง่าย เพราะโดยปกติแล้วห้องครัวจะอยู่ในพื้นที่ ที่เข้าถึงยากและอยู่บริเวณหลังบ้านนั่นเอง

แผนผังอาคารชั้น 2

บริเวณชั้นลอยของบ้านประกอบไปด้วยห้องนอน 2 ห้อง พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่อ่านหนังสือ และทางเดินยาวที่เป็นตัวเชื่อมต่อแต่ละพื้นที่ภายในบ้านไว้ด้วยกัน

– วัสดุสร้างลวดลาย (แสงและเงา) –

วัสดุที่ใช้ในบ้านคืออิฐที่มีรูพรุนและคอนกรีต อิฐจะใช้ในบริเวณกำแพงและหลังคาเป็นส่วนใหญ่ เพราะการใช้อิฐที่มีรูพรุน จะช่วยในการระบายอากาศ ดูดซับฝน และสร้างเฉดเงาในบ้าน ซึ่งเป็นการออกแบบ Transition Space ด้วยแสงและเงา นอกจากนั้น วัสดุที่ใช้ในบ้านอีกชนิดคือคอนกรีต  โดยนำมาใช้เป็นพื้นและผนังบางส่วนของอาคาร

Long An House บ้านสไตล์ทรอปิคอลที่นำสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ตั้งเป็นหลักสำคัญในการออกแบบ จนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและบ้านสไตล์โมเดิร์น สามารถเชื่อมถึงกันได้อย่างงดงาม

ขอบคุณที่มาจาก Archdaily, Tropical Space