อาคารสาธารณะและที่พักอาศัยที่ถูกรีโนเวทขึ้น โดยผสมผสานความเก่าของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ กับความใหม่อย่างวัสดุภายใน และคอร์ทยาดหลายชั้นเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงในรูปแบบที่ลงตัว
Layering Courtyard in Beijing
Architects: ARCHSTUDIO
Location: Qianmen, Beijing, China
Area: 530 sq.m.
ประเทศจีน ประเทศที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งนอกจากจะมีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว สถาปัตยกรรมของจีน ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกวัฒนธรรม ความเป็นมาและเอกลักษณ์ของจีนแผ่นดินใหญ่ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Hutongs หนึ่งในย่านชุมชนเก่าแก่ของปักกิ่งที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิมไว้มากมาย มีหนึ่งสถาปัตยกรรมหลังใหม่ในรูปแบบเก่าที่น่าสนใจอย่าง “Layering Courtyards” อาคารพาณิชย์สาธารณะที่ถูกแปลงโฉมใหม่ ด้วยการปรับปรุงต่อเติมอาคารซ้อนทับพื้นที่คอร์ทยาดเพื่อสร้างมิติใหม่บางอย่างให้กับชุมชนนี้อย่างแนบเนียน โดยฝีมือสถาปนิกจีน ARCHSTUDIO
“เดิมเป็นซ่อง ปรับเป็นอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัย”
ภาพของทิวไผ่ที่เรียงรายผ่านหน้าต่างโค้งบนกำแพงอิฐ กระจกใสที่สะท้อนให้เห็นพื้นที่ภายในได้แบบเลือนลางนี้ คงยากที่จะคาดเดาว่าในอดีตเคยเป็นซ่องจีนในสมัยโบราณ ต่อมาเป็นร้านเบเกอรี่หลังการสถาปนาจีน และถูกปล่อยร้างมาก่อน ภายในพื้นที่กว่า 530 ตารางเมตร ในชุมชน Hutongs เมืองปักกิ่งประเทศจีน ที่แต่เดิมมีอาคารพาณิชย์ชั้นเดียวติดถนนด้านทิศใต้ อาคารสองชั้นในทิศเหนือ และมีลานโล่งระหว่างอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันเป็นลักษณะสำคัญของบ้านจีนในยุคโบราณอยู่
ภาพของอาคารเดิมก่อนทำการรีโนเวท
“ระหว่างความเก่าและใหม่ ที่ใส่คอร์ทยาด”
เมื่อสถาปนิกรีโนเวทสถาปัตยกรรมจีนโบราณเดิม และเนรมิตอาคารใหม่ขึ้นมาซ้อนทับลานโล่งระหว่างอาคารเดิม พร้อมทั้งออกแบบ “Layering Courtyards” คอร์ทยาดภายนอกที่เชื่อมต่ออาคารเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน โดยพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ พื้นที่จัดนิทรรศการ เวิร์คชอป ร้านอาหาร รวมถึงที่พักอาศัยภายใต้บรรยากาศแห่งความสงบของธรรมชาติและอาคารรูปแบบจีนโบราณ
การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Multiple Layering Courtyard” คือการเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกสู่ภายในอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้คอร์ทต้นไผ่ในแนวยาวมาวางซ้อนทับกันอยู่ทั้งหมด 3 เลเยอร์ เป็นดั่งฉากกั้นบางๆระหว่างอาคารเก่าและใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ของลำดับการเข้าถึงพื้นที่ เชื่อมต่อบรรยากาศเงียบสงบภายใต้ธรรมชาติ และป้องกันสิ่งรบกวนจากภายนอกที่วุ่นวายได้เป็นอย่างดี
ภาพ Section และโมเดล แสดงให้เห็นคอร์ทยาดต้นไผ่ทั้งสามที่เปรียบเสมือนม่านบางๆ บังสายตาจากภายนอก และสร้างลำดับการเข้าถึงระหว่างอาคารเก่าและใหม่
“สัมผัสเรื่องเล่าจากคอร์ทยาด”
คอร์ทต้นไผ่ที่พริ้วไหวอยู่รำไรอยู่ด้านหน้า ทำหน้าที่ขั้นความรู้สึกก่อนเข้าถึงพื้นที่แห่งนี้ และเมื่อเปิดประตูเข้าไปยังอาคารแรก จะได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมรูปแบบจีนที่ยังคงโครงสร้างไม้เดิม แต่เพิ่มเติมการห่อหุ้มผนังกระจกทั้งสองด้าน ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นภายนอกสามารถมองทะลุผ่านทิวไผ่ไปยังพื้นที่ภายในที่เป็นร้านอาหาร มีโต๊ะ เก้าอี้ และเคาน์เตอร์บาร์ที่จัดวางอยู่นั่นเอง
พื้นที่คอร์ทไผ่ระหว่างกำแพงก่อนเข้าสู่อาคารแรก
คอร์ทต้นไผ่ที่อยู่ถัดมาจากห้องรับประทานอาหาร ถูกห้อมล้อมด้วยกระจกใสเต็มบานและเปิดโล่งเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามา ทำหน้าที่เชื่อมต่อความรู้สึกระหว่างอาคารเก่าและใหม่ ซึ่งอาคารใหม่นี้เป็น “Multi-functional space” พื้นที่แสดงนิทรรศการ เวิร์คชอป หรือจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
พื้นที่ภายในอาคารกลางเน้นความโปร่งใส โปร่งแสง และการตกแต่งน้อยชิ้น เพื่อเป็นการให้อาคารเดิมยังชัดเจนอยู่
ส่วนอาคารสุดท้ายในทิศใต้เป็นอาคารสองชั้น จะมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดเพราะเป็นส่วนของที่พักอาศัย มีห้องพักทั้งหมด 7 ห้อง โดยชั้นแรกมี 4 ห้อง แบ่งพื้นที่ภายในจากโครงสร้างเดิม ซึ่งทุกห้องพักจะมีประตูที่สามารถเปิดมาเจอคอร์ยาดต้นไผ่ส่วนตัว ที่ถือเป็นแนวคอร์ทไผ่เลเยอร์ที่อยู่ด้านในสุดของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนชั้นสองของอาคารมีห้องพัก 3 ห้อง ที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยทุกๆห้องสามารถมองเห็นคอร์ทยาดต่างๆในพื้นที่นี้ และวิวทิวทัศน์เมือง Hutongs ในระยะใกล้ได้
วิวจากห้องพักชั้นสองที่กรุผนังกระจกใสทำให้สามารถมองเห็นคอร์ทยาดและหลังคา
การตกแต่งภายในห้องพักชั้นสอง ม่านโปร่งแสง ตกแต่งห้องด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เข้ากับโครงสร้างไม้เดิม
“คงโครงสร้างเดิม เพิ่มเติมความโปร่งใส เพื่อความกลมกลืน”
การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ที่เกิดขึ้น สถาปนิกได้ศึกษาเรื่องของความชันของหลังคา สเกล แสงและเงาต่างๆให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โครงสร้างไม้ของอาคารเก่าทั้งสอง อย่างเสาและคานถูกเก็บรักษาไว้ให้มากที่สุด รวมถึงการตกแต่งภายในด้วยผนังไม้โอ๊ค เก้าอี้และโต๊ะไม้ ทำให้บรรยากาศภายในเต็มไปด้วยความอบอุ่น และเป็นการอนุรักษ์รูปแบบและโครงสร้างของสถาปัตยกรรมจีนไว้ได้เป็นอย่างดี
มีการใช้วัสดุไม้และกระเบื้องสีขาว ในการแบ่งพื้นที่ระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำภายในห้องพัก
ส่วนอาคารใหม่ที่ตกแต่งไปด้วยผนังกระจกใสเต็มบานตั้งแต่พื้นถึงฝ้า อิฐแก้ว วัสดุที่สะท้อนเงาได้อย่างกระจกสแตนเลส ช่วยสร้างมิติและสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงพื้นที่ รวมถึงการใช้เฟอร์นิเจอร์โปร่งใสอย่างเก้าอี้และโต๊ะที่แตกต่างจากอาคารเก่า เพื่อให้อาคารดูโปร่งโล่ง ลอยตัว และกลมกลืนไปกับบริบทมากที่สุด
ช่องว่างของคอร์ทที่ใช้กระจกล้อมรอบทำให้เกิดภาพสะท้อน
นอกจากนี้ยังออกแบบ “Water courtyard” ธารน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวยาว ล้อมรอบด้วยกระจกใส ที่เกิดขึ้นกลางอาคารใหม่(อาคารกลางที่สร้างขึ้นบนลานโล่งเดิม) โดย Water courtyard นี้มีลักษณะเป็นแนวยาวแทรกตัว กระจกใสที่กั้นอยู่ ซึ่งนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังช่วยให้อาคารหลังนี้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้มากขึ้นอีกด้วย
การผสมผสานความเก่าและความใหม่อย่างลงตัวของ Layering Courtyards ที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถาปัตยกรรมรูปแบบจีนที่ถูกรีโนเวทให้ทันสมัยมากขึ้นในด้านการใช้งาน ซึ่งด้วยการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่กลมกลืน ทำให้การอนุรักษ์รูปแบบอาคารจีนโบราณยังคงอยู่ และสามารถอยู่ท่ามกลางย่านที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมจีนได้อย่างแนบเนียนแม้ว่าจะเป็นอาคารที่สร้างและรีโนเวทใหม่ก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Archdaily