อาหารมื้อค่ำภายใต้อาคารกระจก โชว์โครงสร้างหลังคาเหล็กสีดำรูปทรงหน้าจั่ว ในบรรยากาศดีๆที่เรียบง่ายและอบอุ่น
TWENTY TWO SLANGS
Location: ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรี บางกะปิ , กรุงเทพ
Owner: คุณแฟรงค์ สิทธิปรีดานันท์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ในซอยศูนย์วิจัยใกล้ๆโรงพยาบาลกรุงเทพฯ บนถนนเพชรบุรี แม้ว่าจะไม่ใช่แหล่งรวมร้านรวงที่มากมายอะไร แต่ถ้าบังเอิญได้ผ่านไปเห็นอาคารกระจกโครงหลังคาหน้าจั่วสุดเท่ ที่ซ่อนตัวอยู่หลังนี้แล้วล่ะก็ เชื่อว่าใครหลายคนคงเริ่มสนใจพื้นที่แห่งนี้ พร้อมอยากเข้าไปสัมผัสและลิ้มรสอาหารอยู่ไม่มากก็น้อย และนี่คือ TWENTY TWO SLANGS ร้านอาหารกึ่งบาร์ในสไตล์มินิมอลแบบแกลอรี่ ที่นำเสนออาหารจานหลัก 22 เมนู โดยผ่านการดัดแปลงในรูปแบบใหม่ โดยฝีมือเจ้าของร้านเองอย่าง คุณแฟรงค์ สิทธิปรีดานันท์
คุณแฟรงค์ สิทธิปรีดานันท์ เชฟและเจ้าของร้าน TWENTY TWO SLANGS
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ที่แห่งนี้โดดเด่น นอกจากอาคารที่รูปทรงแปลกตาแล้ว ยังมีเมนูที่แตกต่างจากร้านอื่นๆ ซึ่งมีเพียง 22 เมนูเนื่องจากเป็นตัวเลขที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพียงพอกับความหลากหลายของประเภทอาหาร และเป็นเหมือนเลขนำโชค ทุกอย่างเกิดจากความชื่นชอบในการทำอาหาร และประสบการณ์ในการเรียนทำอาหารที่ฝรั่งเศสของคุณแฟรงค์ โดยนำเสนออาหารแบบไม่จำกัดความหลากหลายทางสัญชาติของวัตถุดิบ นำอาหารเมนูทั่วไปมาดัดแปลงใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เหมือนคำ Slangs ที่เป็นคำแปลงในภาษาต่างๆ
– จากสนามหญ้า มาเป็นโดมกระจก –
บนพื้นที่แห่งนี้เดิมทีเคยเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านของครอบครัวคุณแฟรงค์มาก่อน แต่เนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่ใช้เวลาอาศัยอยู่ในพัทยา บ้านหลังนี้จึงไม่ค่อยมีใครอยู่ ทำให้คุณแฟรงค์ริเริ่มสร้างอาคารกระจกหลังนี้ให้เป็นร้านขายซูชิชื่อว่า “High Hat Sushi” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนจะถูกแปลงโฉมใหม่อีกครั้งด้วยการรีโนเวทพื้นที่ภายในให้เป็นร้าน Twenty two Slangs ในปัจจุบัน
ภาพอาคารโดมกระจกหลังนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากการที่คุณแฟรงค์ได้ไปเห็น Winery หรือโรงกลั่นเหล้าองุ่นเล็กๆที่ออสเตรเลีย รู้สึกว่ารูปแบบของอาคารมีความน่ารักและอบอุ่นดี จึงให้สถาปนิกเข้ามาช่วยออกแบบร้านแห่งนี้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ซึ่งได้ทำเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ช่องเปิดเป็นกระจกกว้างเปิดรับแสงธรรมชาติ และเพิ่มภาพจำของร้านให้โดดเด่นมากขึ้นด้วยการโชว์โครงสร้างหลังคาเหล็กสีดำ
– เรียบง่ายเป็นหลัก และจัดสัดส่วนได้หลากหลาย –
และด้วยความที่คุณแฟรงค์ชอบการตกแต่งภายในที่เรียบง่ายเหมือนแกลอรี่ ทำให้ภาพรวมของร้านถูกรีโนเวทใหม่ให้มีสีขาวเป็นหลัก ผสมผสานเข้ากับโครงสร้างหลังคาเหล็กสีดำ และเคาน์เตอร์ไม้สีเข้ม เข้ากันกับการจัดแสงภายในที่จะทำให้การทานอาหารมื้อเย็นอบอวลไปด้วยความอบอุ่นและโรแมนติกมากยิ่งขึ้น
รูปทรงของโคมไฟที่ทำจากไฟ LED มาออกแบบให้เข้ากับโครงสร้างหลังคาเหล็กสีดำอย่างลงตัว
พื้นที่ภายในกว้างขวาง จัดสัดส่วนได้เป็นหลายโซน ได้แก่ โซนเคาน์เตอร์บาร์ที่อยู่ส่วนกลางของร้าน ซึ่งจะมีเครื่องดื่มซิกเนเจอร์หลายรูปแบบเพื่อรองรับลูกค้าที่ชอบแฮงเอ้าท์นั่งชิลล์ในยามค่ำคืนได้ รอบๆบาร์มีโต๊ะกลมสำหรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนลูกค้าที่มาแบบครอบครัวหรือกลุ่มใหญ่ ก็สามารถนั่งที่โต๊ะยาวด้านหน้าสุดของร้านได้นั่นเอง
– อบอุ่น เรียบง่าย ด้วยการมิกซ์แอนด์แมช –
เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งภายในร้าน เป็นการมิกซ์แอนแมชระหว่างของเก่าและของใหม่ได้อย่างลงตัว อะไรที่จำเป็นต้องซื้อใหม่ก็ซื้อใหม่ แต่ถ้าอะไรที่มีอยู่แล้ว ก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับมูทแอนด์โทนของร้านให้ดูอบอุ่นมากขึ้น โดยการเปลี่ยนสีให้ออกมามีทิศทางเดียวกัน อย่างเช่นเก้าอี้ด้านข้างเคาน์เตอร์บาร์ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสีขาวเพื่อให้เข้ากันกับโต๊ะกลม
– งานศิลปะจากฝีมือเชฟ –
ด้านหลังยังมีPrivate Dining room หรือห้องรับประทานอาหารแบบส่วนตัวด้วยกันถึงสองห้อง โดยมีประตูบานเฟี้ยมสีขาวที่สามารถปิด เพื่อแบ่งเป็น 2ห้อง และเปิดเพื่อรวมเป็น 1 ห้องใหญ่ได้
โดยการตกแต่งภายในของส่วนนี้ เฟอร์นิเจอร์จะเป็นโทนสีเข้ม ฝาผนังถูกประดับด้วยภาพวาดลวดลาย abstract โดยฝีมือของคุณแฟรงค์และลูกๆ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะนี้ขึ้นมาให้บรรยากาศร้านเหมือนแกลอรี่มากขึ้น
ด้านข้างมีประตูที่เปิดไปยังระเบียงเล็กๆภายนอกได้ ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งชิลล์หรือพื้นที่นั่งสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถสัมผัสกับความเขียวของสวนเล็กๆด้านหน้าได้ทางสายตา
ส่วนที่นั่งภายนอกของร้านจะอยู่โซนด้านหน้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นระเบียงปูกระเบื้องลายอิฐ มีโซฟาโค้งที่สามารถออกมานั่งดื่มด่ำบรรยากาศดีๆ ในตอนกลางคืนได้นั่นเอง
– ครัวเปิด อย่างเป็นกันเอง –
ห้องครัวของที่นี่เป็นแบบเปิด ซึ่งลูกค้าที่นั่งบริเวณเคาน์เตอร์ครัวนี้สามารถเห็นกรรมวิธีในการปรุงอาหารของคุณแฟรงค์ได้ และสามารถเข้าไปพูดคุยได้อย่างเป็นกันเอง หรือเวลามีการทดลองชิมเมนูใหม่ๆของร้าน ก็จะสะดวกสบายในการชิมกว่าการที่เป็นครัวแยกนั่นเอง
– จินตนาการ สำคัญกว่าภาพอาหาร –
“พอเมนูเป็นรูปเยอะๆ คนจะขาด Imagination จะดูรูปแล้วก็สั่ง ถ้าอย่างคนญี่ปุ่นเขาจะดูเมนูแล้วคิดเองว่า อยากจะกินอะไร ประเภทไหน เราอยากให้คนทานมีส่วนร่วมเป็นแบบนั้นมากกว่า” นั่นคือเหตุผลที่คุณแฟรงค์สร้างเมนูอาหารแบบไม่มีรูปภาพ มีแค่ชื่อเมนูและส่วนผสมหลักๆเท่านั้น เพราะอยากให้ลูกค้าได้เลือกและจินตนาการภาพของมื้ออาหารมื้อนั่นเอง
ซึ่งภายใน 22 เมนูหลักตามชื่อร้าน Twenty Two Slangs นั้น ดูเหมือนจะน้อยแต่กลับมีความหลากหลายทางวัตถุดิบทั้งประเภทอย่างผัด ทอด ต้ม และหลายเชื้อชาติอย่างไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ที่คัดสรรมาแล้ว อีกทั้งจะมีการผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆใน 22 เมนู เพื่อไม่เป็นการจำกัดความต้องการของลูกค้ามากเกินไปนั่นเอง
เมนู Slang Slider ที่ทำจากเนื้อวัว 70 % เนื้อหมู 30 % ผสมผสานจนเป็นมินิเบอร์เกอร์ราดซอสโยเกิร์ตครีม
Zuzzy Zalad สลัดเส้นซุกกินี่ มะเขือเทศ แตงกวาญี่ปุ่น หนังไก่ทอด และเฟต้าชีส เพิ่มรสชาติด้วยส่วนผสมจากปลากุเลา เป็นการดัดแปลงอาหารจากวัตถุดิบหลากหลายเชื้อชาติ และใส่ความเป็นไทยลงในอาหาร
กบทอดแบบอาหารป่าพื้นบ้านของไทย ทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรเขมร
Twenty two slangs เป็นอีกหนึ่งร้านที่โดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยภาพลักษณ์อาคารโดมกระจก และการโชว์ภาพลักษณ์วัสดุโครงหลังคา การตกแต่งที่เรียบง่ายแต่น่าค้นหามากขึ้นด้วยเมนูอาหารที่ถูกคัดสรรมาเพื่อดัดแปลงให้ดูน่าสนใจและมีความแปลกใหม่
Location: ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรี บางกะปิ , กรุงเทพ
Tel: 063-6259165