OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สมมุติฐานเพื่อทุกความเป็นไปได้ ของ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา แห่ง Hypothesis

แต่ละโปรเจคของ Hypothesis จะมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องสไตล์งานและรูปแบบ ถึงแม้ว่าจะดูแตกต่างกันแต่ก็ยังมีความเป็น Hypothesis แฝงอยู่ในนั้น เป็นลายมือที่เกิดจากการตั้งสมมุติฐานนั่นเอง

“Hypothesis หรือการตั้งสมมุติฐาน”เราได้ยินประโยคนี้อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานตั้งแต่สมัยมัธยมในคาบเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะเราได้มีโอกาสมาเจอ Hypothesis กับคุณบิว มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา นักออกแบบรุ่นใหม่ ที่เป็นสถาปนิก มัณฑนากร นักออกแบบแบรนด์ ที่มีกระบวนการคิดเริ่มต้น จากการตั้งสมมุติฐานและการค้นหาความจริงในงานสถาปัตยกรรม จากนั้นข้อสมมุติฐานของเราก็เริ่มต้นขึ้น …

Dsign Something: Hypothesis เริ่มต้นจากอะไร ?

คุณบิว: Hypothesis เริ่มต้นจากคนสองคนนั่นก็คือผม มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจน และคุณเจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ โดยวิธีการทำงานของออฟฟิศจะเป็น Research – Based นั่นคือแต่ละโปรเจคจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม

ส่วนเหตุผลในการตั้งชื่อบริษัทว่า Hypothesis นั้น เป็นเพราะผมอยากให้แต่ละโปรเจคมีการตั้งสมมุติฐานและการทดลอง เพื่อหาคำตอบ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างกรอบในการทำงานให้ผมมุ่งตรงไปหาผลลัพธ์ได้อย่างไม่ลังเล

Dsign Something: สมมุติฐาน มนุษย์ และสถาปัตยกรรมมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

คุณบิว: จริงๆแล้วเกี่ยวข้องกันในทุกเรื่อง เพราะสำหรับผมมนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหานั้นก็คือการตั้งสมมุติฐาน สมมุติฐานคือสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ในแบบที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ส่วนสมมุติฐานกับสถาปัตยกรรมนั้น ก็มีความคล้ายคลึงกันเพราะสถาปัตยกรรมคือการสร้างโจทย์ และสมมุติฐานคือการแก้ปัญหา โดยถ้าแยกคำว่า “สมมุติฐาน” ออกมาจะเป็น “สมมติ” หมายถึงสมใจตัวเอง และ “ฐาน” หมายถึงความคิดเบื้องต้นที่ตอบคำถามโดยยังไม่ผ่านการทดลอง ซึ่งถ้าเรามีสมมุติฐาน เราก็จะได้แนวทางในการหาคำตอบนั้นๆไม่ให้หลุดออกจากกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราตั้งสมมุติฐาน หาหนทางที่จะตอบปัญหาและเลือกกรอบเหล่านั้นได้ดีพอ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะตอบโจทย์และสมมุติฐานที่ตั้งไว้ตอนแรกนั่นเอง

Project: Vivarium Restaurant

Dsign Something: เรื่องราวเหล่านี้คุณบิวเรียนรู้จากไหน ?

คุณบิว: ผมเกิดความคิดเหล่านี้จากตอนเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับ Theory โดยผมได้ซึมซับกระบวนการคิดและการไตร่ตรองซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องปรัชญา และนำมาใช้กับการออกแบบแต่ละโปรเจค ซึ่งคนส่วนมากมักจะคิดว่าปรัชญานำมาใช้ไม่ได้ แต่จริงๆแล้วปรัชญาเป็นทฤษฎีที่อยู่กับเรา อยู่รอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะค้นพบเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

การเรียนด้าน Theory ทำให้ผมได้รับแนวคิดเรื่องการตั้งสมมุติฐาน การหาความจริง และอยากหาข้อพิสูจน์ว่าแต่ละทฤษฎีสามารถนำไปใช้ได้อย่างไร ผมจึงนำแต่ละทฤษฎีมาพิสูจน์ผ่านโปรเจคในระดับทดลองซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่ Hypothesis เป็น

Dsign Something: วิสัยทัศน์ของ Hypothesis คืออะไร ?

คุณบิว: แน่นอนครับว่าคือการตั้งสมมุติฐาน การมองมุมกลับ และการสร้างสมมุติฐานใหม่ๆให้กับสังคม เป็นการคิดต่างเพื่อสิ่งใหม่ ในบางครั้งปัญหาเดิมๆที่เราเจอ ถ้าแก้ปัญหาด้วยกระบวนการแบบเดิมๆ ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ถ้าได้ลองอีกกระบวนการที่ยังไม่เคยถูกคิดมาก่อน อาจจะแก้ปัญหาได้ก็เป็นได้ เป็นการสร้างตัวเลือกและโอกาสที่มากขึ้นครับ

บรรยากาศการทำงานของ Hypothesis

Dsign Something: หลังจากได้สมมุติฐานมาแล้วเริ่มทำงานต่อไปอย่างไร ?

คุณบิว: พอมีสมมุติฐานแล้วผมก็จะเริ่มกระบวนการรีเสริช เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด เป้าหมายของลูกค้าที่เข้ามา ตลอดจนความรู้สึกของผู้ใช้งาน ว่าพอเข้ามาใช้งานแล้วจะรู้สึกอย่างไร หรือแม้กระทั่งการรีเสริชโดยมุ่งประเด็นไปสิ่งที่สนใจรอบๆ เช่นเรื่องราวของอาคาร หรือบริบทรอบข้างเป็นต้น เพื่อดูว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้างแล้วจึงนำภาพต่างๆมาถักทอร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกัน

Dsign Something: คุณบิวทำการทดลองนานมั้ยกว่าจะได้คำตอบแต่ละโปรเจค ?

คุณบิว: แล้วแต่ครับ บางโปรเจคก็ยังคิดไม่ออกจนถึงตอนนี้ แต่บางโปรเจคเดินมาเจอลูกค้าแล้วคิดออกทันทีเลยก็มี คือแล้วแต่สถานการณ์ บางโปรเจคต้องคิดๆไปก่อน เพราะบางทีที่คิดได้แล้วแต่คำตอบนั้นยังไม่ตอบโจทย์ ยังไม่ดีพอ ผมก็ต้องคิดและหาวิธีอื่นต่อไป แต่พอบทจะคิดได้อยู่ดีๆก็คิดออกเลยก็มีครับ

จริงๆก็แปลกเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ แต่ความรู้สึกนั้นก็ตั้งอยู่บนเหตุผลความคิดและความจริงในทุกขั้นตอน

 Project: Werk

Dsign Something: รู้สึกได้ว่างานที่ออฟฟิศตอนนี้จะเน้นไปที่งาน Public มากกว่า ?

คุณบิว: หลังๆผมเริ่มสนุกและท้าทายกับโปรเจค Adaptive Reuse รู้สึกว่าได้ใช้สมองทุกส่วน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม อินทีเรีย และโปรแกรม ตอนนี้งานออฟฟิศส่วนใหญ่จึงเป็นแนว Public Space เพราะผมอยากทำงานที่สร้างกำไรให้กับเจ้าของ ผมคิดว่านี่แหละ เสน่ห์ที่ทำให้ Hypothesis แตกต่าง และยังเป็นการท้าทายตัวเอง เพราะถ้าผมสร้างแบรนด์ให้เจ้าของใหม่ แล้วสามารถตอบโจทย์และได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน เมื่อเจ้าของได้ผลประโยชน์ ผมก็ได้รับความภาคภูมิใจ เพราะผมสามารถพิสูจน์ Theory ที่คิดไว้ได้จริง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวเพียงแค่เรื่องความงามเพียงเท่านั้น หากยังเกี่ยวกับเรื่องการใช้งาน เรื่องราว และความจริงที่อยู่ในสมมุติฐานต่างๆนั้นอีกด้วย

Project: Ir-on Hotel

Dsign Something: อยากให้คุณบิวเล่าถึงรางวัล World Architecture Festival 2017 ทีไ่ด้รับให้ฟังหน่อย ?

คุณบิว: โปรเจค Ir-on Hotel ผมได้ส่งเข้าประกวด World Architecture Festival 2017 แล้วได้รางวัลอันดับ 1 ในประเภทโรงแรม ซึ่งจริงๆแล้ว โปรเจคอื่นๆที่ส่งเข้าประกวดก็ค่อนข้างโหดเหมือนกัน ส่วนมากจะเป็นงานจากต่างประเทศ ที่เราสามารถเห็นได้ตามสื่อต่างๆเลยครับ ตอนแรกผมคิดว่าผมแพ้แน่ๆ เพราะโรงแรม Ir-on Hotel เป็นโรงแรมเล็กๆ แต่พอผมได้นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ ได้พูดในมุมที่ผมมองและออกแบบ ตั้งแต่เรื่องฟ้อนท์ตัวหนังสือที่คิดใหม่ เรื่องแบรนด์และเรื่องราวความเป็นมาของโรงแรม จนถึงเรื่องราวว่าผมเชื่อมโยงแบรนด์กับสถาปัตยกรรม อินทีเรียได้อย่างไร ผมเลยคิดว่าจุดนี้แหละ ที่อาจทำให้กรรมการเลือกผมก็เป็นได้ เพราะเรื่องราวที่โรงแรมแห่งนี้ได้ถูกเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันหมดครับ

ถ้าถามว่าดีใจมั้ย ก็ตอบเลยว่าดีใจมาก เพราะโปรเจคนี้ผมทำเต็มที่ ใส่ใจคิดทุกรายละเอียดจริงๆ ผมพยายามให้คนที่เข้ามาในเสปซ รู้สึกถึงเรื่องราวของอาคารเป็นสิ่งที่ผมพยายามเล่ามากที่สุด แต่มากไปกว่านั้น ผมมองว่าอาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่อุทิศตน ตั้งแต่ตอนเรียนเราก็อดหลับอดนอน และในการทำงานของ Hypothesis เราก็ไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องเงินหรือผลกำไรเท่านั้น เราตั้งใจและอุทิศตนให้กับทุกงานจริงๆ เพราะเราชอบช่วงเวลาที่โปรเจคนั้นสร้างเสร็จ เรารับรู้ได้ว่าเจ้าของมีความสุขแค่ไหน คนที่เข้าไปใช้งานเกิดความพึงพอใจหรืออินไปกับเสปซที่เราออกแบบอย่างไร นั่นแหละคือความสุขที่เราได้รับ ก็เพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นเหตุผล ที่ทำให้ผมมีความสุขและรู้สึกคุ้มค่าที่ได้อุทิศตนตั้งใจทำในงานแต่ละโปรเจค

การได้สร้างความสุขให้กับคนที่เข้าไปใช้งานในอาคารที่เราออกแบบ คือคุณค่าที่สูงที่สุด มากกว่าการได้รับรางวัล มากกว่าการได้รับเงินเพราะนี้คือความสุขสูงสุดแล้วสำหรับคนออกแบบ

Dsign Something: คิดว่าในปัจจุบันสถาปนิกควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากที่สุด ?

คุณบิว: ในมุมมองของผมไม่ใช่แค่สถาปนิกนะครับ แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้สำหรับทุกคน นั่นคือเรื่องของประวัติศาตร์ เพราะประวัติศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ถูกทำซ้ำจนกลายเป็น Theory ถ้าเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรียนรู้ว่าคนอื่นหรือบรรพบุรุษสมัยก่อนทำแล้วผิดพลาดยังไง หรือประสบความสำเร็จด้วยวิธีแบบไหน เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานได้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานได้เยอะมาก เพียงเราแค่หยิบยืมความคิด Theory ของเขามาใช้ในงานของเรา ซึ่งผมคิดว่าประวัติศาสตร์จะช่วยส่งเสริมให้นักออกแบบหรือสถาปนิกคิดงานได้ดีขึ้น ในบางครั้งแค่เรื่องการก่อสร้างเรื่องความงามอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความเข้าใจและการแก้ไขปัญหาที่ลึกซึ้งกว่า

ผมอยากให้สถาปนิกและทุกคนเข้าใจประวัติศาสตร์ เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์โลกหรือประวัติศาสตร์รอบๆตัวเรามากขึ้น เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ควรนำมาค้นหาใหม่

“ผมว่าสถาปนิกเป็นคนที่เห็นความงามไปพร้อมกับความจริง เพราะเห็นอาคารตั้งแต่สภาวะดักแด้ เห็นสิ่งที่ไม่สวยงามอย่างโครงสร้างหรืออาคารที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง จนได้เห็นความงามเมื่อสร้างเสร็จและมีผู้ใช้งานอาคาร และเมื่อเวลาผ่านไปจากความงามก็จะคืนสภาพกลับไปที่ความทรุดโทรม ผมแค่อยากบอกนักออกแบบหรือสถาปนิก ให้มาลองนั่งทบทวนว่าสิ่งที่ได้สร้างไปนั้น เกิดประโยชน์ให้สังคมจริงหรือเปล่าหรือเป็นการสร้างภาระให้กับสังคมมากกว่า และมุมที่เรียกว่าความงดงามของแต่ละคนนั้นต่างกัน อยู่ที่เราจะมองความงามเป็นอย่างไร” คุณบิวได้กล่าวทิ้งท้ายกับเรา

 

ขอขอบคุณ คุณบิว มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จาก Hypothesis

Website: www.hypothesis.co.th

Facebook: Hypothesis 

Tel: 080 727 8292