ภาพคนญี่ปุ่นที่เราอาจจะรับรู้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นมิตร ยิ้มแย้มต้อนรับ และที่น่าทึ่งคือมีหัวใจในการบริการสูงมาก แต่นั่นคือด้านที่เราเห็นถ้ามาสัมผัสเพียงแค่กิน เที่ยว ญี่ปุ่นในเวลาไม่นานนัก แต่คนญี่ปุ่นในด้านที่ผมรู้จัก กลับเป็นคนที่หวงความเป็นส่วนตัวมาก ระวังเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบเงียบที่สุด ถ้าแค่ลองหยิบโทรศัพท์มาคุยบนรถไฟ รถเมล์ ก็จะถูกมองหน้าถามหามารยาทกันด้วยสายตาจิกๆ เป็นแน่
เพื่อนบางคนบอกว่า คนญี่ปุ่นหวงความเป็นส่วนตัวยิ่งกว่าห่วงชาเขียว คงไม่เกินเลยนัก
อย่างกรณีการมาถึงของ Airbnb ที่แชร์ห้องว่าง หรือบ้านว่างให้แขกมาพักได้แบบรายวัน คล้ายกับโรงแรมที่ไม่มีบริการเต็มสูตร ราคาไม่สูง ไม่ต้องเจอเจ้าของห้องก็เข้าพักได้ ซึ่งในญี่ปุ่นเองห้องที่ให้เช่าผ่าน Airbnb เหล่านี้เป็นห้องในอพาร์ทเมนท์ที่มีคนญี่ปุ่นอยู่ประจำ ทำให้ในตึกนี้มีคนแปลกหน้า อาจจะเป็นชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย ทำให้มีความรู้สึกอึดอัดกับความส่วนตัวที่เสียไป จนท้ายที่สุดทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงเข้ามากำกับเรื่องนี้ เพื่อจะทำให้ถูกกฎหมายในเดือนมิถุนายน 2018 ทำให้คนที่จะมาพักต้องแสดงตัวชัดเจน ด้วยการรับคืนกุญแจที่ร้านสะดวกซื้อ แทนที่จะรับกุญแจผ่านตู้จดหมาย
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความรู้สึกไม่ส่วนตัว จนอึดอัด ที่เกิดขึ้น
บ้านญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ผมพบเจอส่วนใหญ่ จะพบกับความต้องการความเป็นส่วนตัว ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ กลายเป็นรูปแบบที่ไม่เน้นการเชื่อมโยงภายนอก แต่นิยมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นภายในบ้าน อาจจะเป็นสวนเล็ก ๆ ไม่กี่ตารางเมตร หรือถ้าที่ดินไม่เอื้อที่จะปลูกต้นไม้ได้ ธรรมชาติที่สามารถดึงเข้ามาได้คือแสงธรรมชาติ แต่การเข้ามาของแสงก็นำพาความไม่เป็นส่วนตัวเข้ามาอีกเช่นกัน ทำให้กระจกส่วนใหญ่ที่ใช้กับบ้านญี่ปุ่นเป็นกระจกฝ้า กลาสบล็อค ที่มีลักษณะขุ่น รับได้แค่แสง แต่ไม่สามารถมองเข้ามายังภายในได้ชัดเจน
อย่างกรณีที่เคยไปทัศนศึกษาโรงงานของ ไดวะเฮาส์ ซึ่งเป็นบริษัทสร้างบ้านที่ใหญ่ลำดับต้นของญี่ปุ่น ได้มีการผลิตกระจกฝ้าที่สามารถหักเหแสง ทำให้คนที่อยู่ภายนอกบ้านมองมายังภายในบ้านไม่ชัดเจนมากขึ้น และคนภายในบ้านมองออกมายังภายนอกก็จะไม่สามารถมองได้ชัดเจน แต่สามารถดึงแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาได้มากกว่ากระจกฝ้าแบบเดิม
เพราะบ้านญี่ปุ่นส่วนใหญ่ สร้างบนที่ดินที่แคบมาก เมื่อเทียบกับบ้านเรา บางทีก็ต้องปลูกบ้านติดถนนกันเลย หน้าต่างที่รับแสงจากหน้าบ้านก็อยู่ติดถนน คนที่เดินผ่านไปมาบนถนนมีระยะห่างจากในบ้านอาจจะไม่ถึง 1 เมตรเสียด้วยซ้ำ ทำให้ความเป็นส่วนตัวถูกทำลายลงด้วยเงื่อนไขของที่ดิน ต่างจากบ้านเราที่มีกฎหมายระยะร่นโดยรอบ 2 เมตร ถ้าต้องการที่จะมีหน้าต่าง ประตู และร่นจากถนนตามความกว้างของถนน ทำให้มีระยะกันชนที่ต่างจากบ้านในไทย
เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ ผสมกับความต้องการความเป็นส่วนตัว นิยมการใช้กระจกฝ้า กลาสบล็อค กับบ้านมาก นอกจากนั้นยังรวมไปถึงเทคนิคการออกแบบต่าง ๆ ที่สามารถดึงธรรมชาติเข้ามา แต่ไม่ให้เสียความเป็นส่วนตัวให้สถาปนิกญี่ปุ่นต้องขบคิดแก้ปัญหาจนมีรูปแบบบ้านที่น่าสนใจ