“หลายๆคนอาจมองว่า APOSTROPHY’S ขายวิญญาณรึเปล่า มองว่าลูกค้าเป็นพระเจ้าไหม จริงที่เรามองเขาเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด อีกสิ่งคือเราคิดอยู่เสมอว่า จะทำอะไรให้สังคมดีขึ้นได้บ้างในแต่ละงานของเรา”
Event, Concert, Exhibition, Interactive, Lighting, Interior, Branding… ส่วนหนึ่งของประเภทงานออกแบบที่กล่าวมา ผลผลิตแห่งความสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดรูปแบบ ล้วนแล้วแต่ผ่านฝีมือการออกแบบของ “APOSTROPHY’S” บริษัทที่ผสมผสานดีไซน์เกือบทุกแขนงไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสร้างความหมายให้กับงานศิลปะ…
ซึ่งนั่นทำให้เรามาอยู่ภายใต้บ้านที่เต็มไปด้วยความครีเอทีฟแห่งนี้ และเริ่มต้นบทสนทนากับ “คุณเบียร์ พันธวิศ ลวเรืองโชค” ผู้เป็นเจ้าของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และงานออกแบบที่เข้าใจพฤติกรรมคนในแต่ละยุคสมัยทั้งโปรเจคน้อยใหญ่มากกว่า 1,000 โปรเจค ยาวนานกว่า 14 ปี
DsignSomething: จุดเริ่มต้นของ Apostrophy’s ?
คุณเบียร์: เริ่มมาจากตอนที่เรียนสถาปัตย์ธรรมศาสตร์ครับ ตอนนั้นสถาปัตย์เป็นอะไรที่ใหม่มาก ผมเป็นรุ่นที่สองของคณะ อาจารย์ที่สอนค่อนข้างไฟแรง ส่วนใหญ่จบจากต่างประเทศ เขาไม่ได้มองว่าสถาปัตย์เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเดียว แต่มองว่าเป็น Solution เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับสังคมและเมือง ซึ่งมีงานหลากหลายรูปแบบมากในการพรีเซนท์โปรเจค
ช่วงเวลาซัมเมอร์จะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆทำงานประกวด ช่วยคณะในด้านสื่อทางวิชาการต่างๆ ทำเว็บไซต์ ทำ e-book ทำบูธ Exhibition ประชาสัมพันธ์ให้คณะ ทำนิทรรศการในงานสถาปนิกทุกปี ทำให้ช่วงเวลานั้น ผมได้เรียนรู้ทุกอย่างเลย ทั้งหมดนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Apostrophy’s ครับ
SangSom MOVEaBAR 2013 at Parc Siam Paragon
DsignSomething: ตอนนี้ Apostrophy’s ออกแบบงานด้านไหนบ้าง?
คุณเบียร์: ตอนนี้ Apostrophy’s เราทำมาทั้งหมด 14 ปีแล้ว ตอนแรกทำ Event Exhibition อย่างเดียว เป็นการสร้างประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่เราไปจัดงานให้ แต่ว่าตอนนี้ขยับขยายมี Apostrophy’s group เป็นบริษัทแม่ และบริษัทย่อยทั้งหมด 4 บริษัทด้วยกัน
1. Apostrophy’s ดูแลเรื่อง Below-the-line marketing ก็คือ บูธ อีเว้นท์ Exhibition Concert เป็นงานออกแบบหลักของเรา
ตัวอย่างงานออกแบบ Exhibition ของ “Bluescope Pavilion” ในงานสถาปนิก’61
ตัวอย่างงานออกแบบ Exhibition ของ “SCG Roof” at SCG Experience เลียบทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา
2. Sense.S ออกแบบ สั่งผลิต และให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ Interactive media ซึ่งเป็นงานออกแบบ Exhibition ไม่ใช่แค่สวยเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเข้าไปจับต้องได้ เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษให้ทุกคนจดจำสิ่งที่เรานำเสนอ
ตัวอย่างงาน EPSON X Apostrophy’s ในโปรเจค “Epson CAFE’ TUBE” ประสบการณ์พิเศษที่นำเอาร้านคาเฟ่มาผนวกรวมกับเทคโนโลยี แสง สี เสียง และ new media โดยการทดลองใช้เทคนิค Projector mapping ด้วย Laser Projector ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลก ฉายลงไปในเครื่องดื่มและขนมที่ได้รังสรรค์ขึ้นมาใหม่
Nike X Apostrophy’s X Paradox ในงาน “AIR MAX DAY 2018” Photo credit: Pahparn Sirima Chaipreechawit
ตัวอย่างงาน หอนิทรรศการเฉลิมพระเกียติ ร.๙ อุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬา จากบริษัท อะโพสโทรฟีเอส กรุ๊ป และบริษัท Think and Do Media Co.,Ltd.
3. Synonym งานออกแบบตกแต่งภายใน Commercial Interior ที่ส่งเสริมธุรกิจ มีความแตกต่างจากการตกแต่งภายในธรรมดา คือ เราคิดไปถึงคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจและการประชาสัมพันธ์หลังจากออกแบบด้วย และอีกหนึ่งบริการใหม่ คือ The Homemade: ทำ | บ้าน | เพื่อน ที่มีคอนเซ็ปต์เน้นการบริการที่ “ถูก เร็ว ดี” ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
การออกแบบตกแต่งภายในบ้าน CASA LAWA’ ซึ่งเป็น Feature House ที่ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 48 บ้านหรูของโลกปี 2016 ในนิตยสาร Kalaidoscope โดยสำนักพิมพ์ Gastalten ประเทศเยอรมนี
ตัวอย่างผลงานรีโนเวทตกแต่งภายในห้างเซนทรัลบางนาส่วนบันไดเวียน เพิ่มฟังก์ชั่น ที่นั่งทำงาน ที่นั่งรอ สนามเด็กเล่น เข้าไป เพื่อให้พื้นที่เกิดการใช้งานและกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ตัวอย่างรีโนเวทออฟฟิศของบริษัทสมุนไพรวังพรม โดยนำวัสดุธรรมดามาตกแต่งใหม่ให้ไม่ธรรมดา และสะท้อนความเป็นไทยในแบบโมเดิร์นออกมาได้อย่างลงตัว
4. บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่เพิ่งเปิดเมื่อต้นปีนี้ โดยร่วมทุนกับบริษัท Happening Construction มีจุดเด่นที่ความชำนาญพิเศษในการ Customize เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนต่างๆ ในสไตล์ Luxury เพื่องานออกแบบที่ตอบโจทย์ความ unique ของลูกค้าแต่ละคน และยังสามารถควบคุมคุณภาพได้เองทุกขั้นตอน
The white pearl penthouse หรือ “ห้องไข่มุกสีขาว” ห้องชุดในคอนโดมิเนียมที่มีขนาดเพียง 77 ตร.ม. เราใส่ใจในทุกตารางนิ้ว รวมถึงทุกชิ้นส่วนมาให้เหมาะกับคาแรคเตอร์เฉพาะของเจ้าของห้อง
DsignSomething: อะไรเป็นจุดพลิกผัน จากการสถาปัตยกรรม มาเป็น Exhibition ?
คุณเบียร์: มันเป็นเรื่องความโชคดีที่ผมได้มาอยู่ธรรมศาสตร์ ด้วยความไม่พร้อมอะไรหลายๆอย่าง ทำให้ได้ลองว่าอะไรใช่ไม่ใช่ ช่วงปี 2-3 ตอนทำบูธให้กับคณะนี่แหละครับ เราเริ่มรู้แล้วว่างานสถาปัตยกรรมค่อนข้างช้า กว่าจะสร้างเสร็จ กว่าคุยกับลูกค้าเนี่ยใช้เวลาพอสมควร แล้วผมก็สนใจการออกแบบที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจ เพราะตอนเริ่มต้นต้องใช้สื่อทุกอย่างเลยในการที่จะทำให้คนรู้จัก และคนดูงานมีความหลากหลาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มีอายุ ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกกลุ่ม
ตัวอย่างงานออกแบบ ‘COTTO Milan Fair 2013’ ถูกจัดขึ้นภายในงานมิลานแฟร์ 2013 ที่ประเทศอิตาลี
DsignSomething: ด้วยความที่ Apostrophy’s ทำงานหลากหลายรูปแบบขนาดนี้ นิยามความเป็น Apostrophy’s สั้นๆว่าอะไร?
คุณเบียร์: น่าจะเป็น “On-ground marketing agency” และ On-ground to Online ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Place และ Productของลูกค้า เป็นการสร้างคอนเทนต์และนำไปสู่คนกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่การขายPerspective ให้ลูกค้าดูว่าสวยหรือไม่สวย แต่ทั้งหมดที่เราออกแบบสามารถต่อยอดธุรกิจให้ได้ มีการตั้งเกณฑ์ KPI วัดผลให้ลูกค้าทราบว่าคอนเทนท์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ได้ผลอย่างไร ไม่ใช่การจ่ายเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเวลาที่ลูกค้ามาหาเรา ต้องการให้สินค้าได้รับการโฆษณา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกแบบจะต้องสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด
DsignSomething: วิธีการทำงานในแบบ Apostrophy’s เป็นอย่างไร?
คุณเบียร์: เราทำงานแบบ “Brother units” ครับ คือการทำงานร่วมกับบริษัทที่เป็นพี่น้อง ที่เราทำงานมาด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียน บ้างเป็นกลุ่มดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ วิชวลดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ งานเครื่องหนัง งานเหล็ก ทำให้เราสามารถออกแบบงานได้หลากหลาย แม้สมาชิกในบ้านเราจะมีจำนวนไม่เยอะ จริงอยู่ที่เราทำได้หลายๆอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกอย่างขนาดนั้น และถ้าเราเอาทุกอย่างมาอยู่ใน In house หมด องค์กรเราจะขยับขยายยากมาก
“เป็นเรื่องการตอบคำถามบางอย่างด้วย เพราะตอนนี้บริษัทไหนใหญ่ไม่ใหญ่ คนชอบถามว่ามีพนักงานกี่คน จริงๆแล้วยุคนี้ผมว่าไม่เกี่ยวกัน ไม่ต้องใช้คนเยอะก็สามารถสร้างสรรค์งานดีๆได้”
ตัวอย่างงาน “501 Day – We Are All Collaborators” ของ Levi’s Global brand สร้าง application ที่สามารถสร้างสรรค์กางเกงยีนส์ในแบบฉบับของตัวเอง ผ่านข้อมูลและภาพถ่ายจากโซเชียล
DsignSomething: ที่มาของความแปลกใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ของ Apostrophy’s?
คุณเบียร์: ผมว่าเป็นเรื่องของ Research นะครับ ทีมของเรามี R&D (research and development) มี Research ชุดนึงที่ชื่อว่า “พฤติกรรมผู้ชม สังคม 10 วิ” ทำมา 5 ปีแล้วครับ จะเห็นว่าเทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ทำให้เราปรับเปลี่ยนงานออกแบบได้อยู่ตลอด
“จริงๆผมไม่ได้ตั้งใจว่างานแต่ละชิ้นต้องไม่เหมือนใคร เราออกแบบให้ตรงตามโจทย์ของลูกค้าที่สุด เราไม่ได้มองโจทย์เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เรามองโจทย์เป็นสิ่งที่เรียกว่าContents เป็นเรื่อง Marketing Plan ส่วนความน่าสนใจหรือความมันส์ของงาน เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน”
DsignSomething: การทำงานที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก คนอื่นมองเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
คุณเบียร์: หลายๆคนอาจมองว่า APOSTROPHY’S ขายวิญญาณรึเปล่า มองว่าลูกค้าเป็นพระเจ้าไหม จริงที่เรามองเขาเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด อีกสิ่งคือเราคิดอยู่เสมอว่า จะทำอะไรให้สังคมดีขึ้นได้บ้างในแต่ละงานของเรา คนของ Apostrophy’s ทุกคน ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะลึกๆเขาไม่ได้คิดแค่ทำงานแล้วได้แค่เงินเดือน เขาใส่ความหมายบางอย่างลงไปในงานได้ด้วย
“ถ้าให้พูดตรงๆคือเราทำงานขายของให้ลูกค้า แต่เราสอดแทรกพื้นที่งานศิลปะลงไปในงานเหล่านั้น นี่คือสิ่งที่เราให้ความหมายกับงานทุกชิ้นที่เราทำอยู่ มากกว่าแค่การขายของ”
เทศกาลแสง Thailand kingdom of light ใจกลางแยกราชประสงค์ คือราชประสงค์เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ขัดแย้งอะไรในบ้านเมือง เผาห้าง วางระเบิด เราทำเทศกาลแสงที่ทำให้พื้นที่นี้สว่างไสว สวยงาม และกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
“เคยได้ยินว่างานออกแบบคือมูลค่าเพิ่มไหม ที่คนเค้าพูดแบบนั้นเพราะมันง่ายที่จะเข้าใจ แต่มันไม่ใช่แค่มิตินั้น สิ่งที่ควรให้คุณค่าจริงๆ คืองานศิลปะ เพราะมันสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้”
DsignSomething: สุดท้ายแล้วความสุขในการทำงานสำหรับคุณคืออะไร?
คุณเบียร์: จริงๆแล้วตามช่วงเวลานะครับ ถ้าย้อนไปสัก 7-8 ปีที่แล้ว ความสุขคืออยากทำงานอะไรใหม่ๆ น่าสนใจ แต่ตอนนี้ความสุขของผมคือ เราต้องพัฒนาคุณภาพของคนทำงานสร้างสรรค์ เพราะเป็นอาชีพที่เครื่องจักรไม่สามารถแทนได้ ใน 5 ปีนี้อยากให้คนของ Apostrophy’s มีสวัสดิการแบบที่ภาครัฐมี ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวเอง แต่คลอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย
เราทำงานออกแบบ เราต้องอยู่ออฟฟิศมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเราต้องใช้เวลากับการออกแบบเยอะ เรามองว่าเวลาที่หายไปเป็นการลงทุน “คนทำงานสร้างสรรค์จะลงทุนด้วยเวลา แต่คนธรรมดาจะลงทุนด้วยเงิน”
Something MORE
- Apostrophy’s กำลังจะย้ายบ้านใหม่ไปที่ลาดปลาเค้า ซึ่งมีชื่อว่า Apos The HQ ภายในพื้นที่มีขนาดใหญ่ถึง 1,500 ตารางเมตร คุณเบียร์กระซิบบอกว่าอยากให้ออฟฟิศใหม่เป็นเหมือน Avenue มีร้านเสื้อผ้า ร้านรองเท้า ร้านนาฬิกา คาเฟ่ Co-working รวมถึง Museum ขององค์ความรู้หลายแขนงอีกด้วย ซึ่งคนของ Apostrophy’s เป็นเจ้าของและจะได้นั่งทำงานอยู่ในโกดังที่รายล้อมไปด้วยการออกแบบที่มีไลฟ์สไตล์ เป้าหมายคือต้องการพัฒนาทีมงานรุ่นใหม่ ให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจสร้างสรรค์ร่วมกันได้