OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

SANAA เบาลอยไร้ขอบเขต แต่ชัดเจนในความรู้สึก

Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa 2 สถาปนิกจาก Sejima and Nishizawa and Associates หรือที่เรารู้จักกันในนาม SANAA

เมื่อพูดถึงสถาปนิกที่มีวิธีการคิดงานในแบบที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เน้นการออกแบบที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย แต่สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการใช้พื้นที่ได้อย่างแตกต่าง ภาพจำของงานของพวกเขาคือการใช้สีขาว และการเล่นกับระดับกับความโปร่งแสงที่แตกต่าง จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa จาก SANAA บริษัทสถาปนิกสัญชาติญี่ปุ่นนั่นเอง

Toledo Museum of Art

SANAA บริษัทสถาปนิกแนวหน้าซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 1995 โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน ได้แก่ Kazuyo Sejima (เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 1956) และ Ryue Nishizawa (เกิดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1966)

New Museum of Contemporary Art Glass Pavilion

รูปแบบงานที่โดดเด่นของ SANAA คือสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายแต่มีพลัง แนวคิดของแต่ละอาคารจะมีการตั้งคำถามหรือค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย จากความสงสัยและการทดลองหาแนวทางใหม่ๆอยู่เสมอ จึงนำมาสู่การออกแบบที่ว่าง รูปทรง รายละเอียด วัสดุที่แตกต่างอย่างชัดเจน ผสานกับความสุข ความสนุก และการเล่นกับระดับความโปร่งใสของวัสดุ เสมือนมิติที่แตกต่างของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในสไตล์ของพวกเขา

Rolex Learning Center Plan

Grace Farms Plan

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ SANAA นั้น คือการใช้เส้นสายในงานดรออิ้ง ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน มีการลงน้ำหนักเส้น หนา – บางอย่างชัดเจน เมื่อพบเห็นหรือต้องการศึกษาก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย คล้ายกับงานสถาปัตยกรรมของพวกเขานั่นเอง

Kazuyo Sejima จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมที่ Japan Women’s University ในปี 1981 จากนั้นจึงเริ่มทำงานกับ Toyo Ito ซึ่งถือว่าเป็นครูผู้มีอิทธิพลต่อการออกแบบของเธอ ต่อมาเธอจึงได้ก่อตั้ง Kazuyo Sejima and Associates ในปี 1987 และได้ชวน Ryue Nishizawa มาทำงานร่วมกัน ภายใต้ชื่อ Sejima and Nishizawa and Associates หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม SANAA เมื่อปี 1995

Ryue Nishizawa เคยทำงานร่วมกับ Kazuyo Sejima ในขณะที่เธอกำลังเปิดบริษัท Kazuyo Sejima and Associates และเมื่อ Ryue Nishizawa สำเร็จการศึกษาจาก Yokohama National University ในปี 1990 และตั้งใจจะเปิดออฟฟิศของตนเอง Kazuyo Sejima จึงชวนเขามาร่วมเป็นหุ้นส่วน SANAA ด้วยกัน

21st Century Museum of Contemporary Art Kanazawa

หลังจากพวกเขาได้ก่อตั้งบริษัทร่วมกัน ก็มีงานเข้ามาอย่างหลากหลายขนาดและหลากหลายประเภท เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ หรือแม้แต่งานขนาดเล็กอย่างการออกแบบที่พักอาศัย และร้านกาแฟก็มีเช่นกัน

Zollverein School of Management and Design

สถาปนิกทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัล Pritker Prize ในปี 2010 ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลในสาขาสถาปัตยกรรม

“พวกเขาสำรวจองค์ประกอบของ ที่ว่าง ความสว่าง ความโปร่งแสง และวัสดุที่แตกต่าง เพื่อวิเคราะห์ เรียนรู้ และออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง” คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลกล่าว

Grace Farms

Kazuyo Sejima กล่าวว่า “พวกเราพยายามออกแบบสถาปัตยกรรมโดยใช้สีขาวเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงลำดับชนชั้นในงานสถาปัตยกรรม และเรายังนำแสงธรรมชาติเข้ามาในสเปซ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอิสระ เป็นเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ความรู้สึกและความต่อเนื่องให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้งาน เช่น โปรเจค Grace Farm ซึ่งชนะรางวัล the Mies Crown Hall America Prize ในปี 2014/2015 นั่นเอง”

New Museum of Contemporary Art

งานที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาคือการเล่นกับระดับชั้นของความโปร่งแสงและการมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนระหว่างสเปซ เช่น โปรเจค Louvre-Lens Museum ในประเทศฝรั่งเศส the New Museum of Contemporary Art ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา และ the 21st Century Museum of Contemporary Art เมืองคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการออกแบบ นั่นคือการสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ใช้งานต่างมีความสุขร่วมกัน ในขณะที่พวกเขาต่างก็มีส่วนร่วมกับโปรแกรมและฟังก์ชันหลักภายในอาคาร

เมื่อสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปดีไซน์มาบรรจบกัน ภายใต้ความไม่ชัดเจนในขอบเขตพื้นที่ภายในและภายนอก

Project: Grace Farms

Year: 2015

Type: Multipurpose Building and Landscape design

Grace Farms คืออาคารที่เป็นทั้งสถานที่แลกเปลี่ยนความคิด ที่จัดคอนเสิร์ตหรือการแสดง ที่เรียนศิลปะ จนไปถึงสนามกีฬาสำหรับเพื่อนฝูงและครอบครัว เป็นโปรเจคที่มีความหลากหลายของกิจกรรมและวัฒนธรรมภายในพื้นที่แห่งเดียวกันนี้

แนวคิดหลักคือการสร้างสถาปัตยกรรมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งกับแลนด์สเคป เสมือนแม่น้ำที่อยู่ตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สวยงาม กลมกลืน ไม่แย่งความสนใจจากบริบทรอบข้าง สร้างความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่อาคาร ไม่ใช่ตึก แต่เป็นหนึ่งเดียวกับแลนด์สเคป โดยต้องการให้ผู้ใช้งานมีความสุขกับสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ได้รับรู้ สังเกตุความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผ่านที่ว่างและประสบการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในสถาปัตยกรรม

อาคารรูปทรงออร์แกนิคที่สามารถเชื่อมต่อกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และการใช้งานภายในอาคารได้อย่างน่าสนใจ

Project: Rolex Learning Center

Type: Learning Center

Year: 2010

ศูนย์การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์พื้นที่ให้นักเรียนหรือผู้ที่เข้ามาศึกษารู้สึกเพลิดเพลิน โดยสามารถเชื่อมต่อกันระหว่างรูปทรงอาคารแบบธรรมชาติ (Organic Form) และวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ เมื่อมองจากด้านบนแผนผังอาคารจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อได้เดินเข้ามาในอาคาร จะพบกับสเปซรูปทรงโค้ง และการเล่นกับระดับพื้นที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ให้มีความเรียบง่ายและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ที่จอดรถจักรยานรูปก้อนเมฆในเกาะแห่งศิลปะ

Project: Cloud shaped pavilion

Type: Pavillion

Year: 2017

เกาะนาโอชิมะ คือเกาะแห่งศิลปะของประเทศญี่ปุ่น มีผลงานจากศิลปินและสถาปนิกชื่อดังหลากหลายท่าน เช่น Yayoi Kusama และ Tadao Ando รวมทั้งมีผลงานของ SANAA ซึ่งที่เป็นที่จดจำและเป็นที่ชื่นชอบ ทั้งจากรูปทรง ความสร้างสรรค์ และขนาด Cloud shaped pavilion นี้ จึงเป็นจุดแสดงงานศิลปะที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของเกาะนาโอชิมะนี่เอง

Cloud shaped pavilion เป็นที่จอดรถจักรยานสาธารณะ ซึ่งมีความสูงถึง 8 เมตร มีรูปร่างกลมๆคล้ายก้อนเมฆ เมื่อผู้คนเดินทางมาที่เกาะก็จะพบกับสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณริมท่าเรือ SANAA ออกแบบโดยใช้โครงสร้างไม้ เพื่อรองรับรูปทรงวงกลมที่ทำจากโพลิเมอร์เสริมความแข็งแรงด้วยไฟเบอร์ โดยเป็นวัสดุโปร่งแสง ซึ่งสามารถนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันทั้ง Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa ต่างก็มีออฟฟิศที่ออกแบบตามแนวทางของตนเอง แต่ก็ยังมีโปรเจคที่ทำร่วมกันในนาม SANAA อยู่เช่นกัน พวกเขาออกแบบงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนเกิดจากการสำรวจ การทดลองด้วยวิธีที่แตกต่างกัน แต่แนวคิดหลักในทุกๆผลงานคือการใส่ใจความรู้สึกและการสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้กับผู้ที่เข้ามาใช้งาน ก่อนการออกแบบสถาปัตยกรรมทุกครั้ง เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม SANAA ถึงเป็นบริษัทที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากมายถึงเพียงนี้

ขอบคุณที่มาและรูปภาพจาก Archdaily, Dezeen, Grace Farms, Rolex Learning Center, Cloud shaped pavilion, nydesignagenda