OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปัตยกรรมแห่งความเสมอภาคภายใต้พื้นที่วงรี “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ธรรมศาสตร์”

วงรีที่ไม่มีเหลี่ยมมุม ไม่มีจุดใดจุดหนึ่งสำคัญกว่ากัน แฝงความหมายถึงความเท่าเทียม และความรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างลึกซึ้ง

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

Location: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

Architect: สถาบันอาศรมศิลป์

Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” วลีอมตะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นความเสมอภาคทางการศึกษา และอธิบายความหมายแห่งจิตวิญญาณการเรียนรู้ของธรรมศาสตร์มายาวนาน จึงไม่แปลกหากสถาบันนี้จะให้ความสำคัญกับพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ซึ่งในขณะที่ตึกต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยศูนย์รังสิตกำลังเติบโตและรอวันผลิดอกออกผลเป็นพื้นที่สำหรับชาวธรรมศาสตร์ “ตึกคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ที่ถูกสร้างสรรค์โดยทีมสถาปนิก  “สถาบันอาศรมศิลป์” ก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมให้นักศึกษาและอาจารย์เข้ามาเติมเต็มพื้นที่การเรียนรู้นี้เรียบร้อยแล้ว

“สิริวิทยลักษณ์” ชื่อของอาคารเรียนคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคาร 4 ชั้นที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย เป็นคณะที่เปิดการเรียนการสอนเพื่อสร้างครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์วิธีการและกระบวนการในการสอนในรูปแบบใหม่ ซึ่งก่อตั้งและเปิดหลักสูตรมากว่า 3 ปี ภาพอาคารเรียนที่เห็นอยู่ตรงหน้าจึงเป็นดั่งสถานที่ที่สามารถส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ใหม่หลากหลายลักษณะ ทั้งแบบกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ ทางการและไม่เป็นทางการได้

– เปิดรับ เชื่อมต่อ ทุกทิศทาง –

“พื้นที่นี้ไม่เพียงแต่เปิดรับนักศึกษาในคณะ แต่หากยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ต้อนรับทุกคนในธรรมศาสตร์” คุณสมบัติ เกรียงอารีกุล สถาปนิกผู้จัดการโครงการได้เริ่มเล่าที่มาของวิธีการออกแบบอาคารนี้ให้สามารถเชื่อมต่อกับบริบทรอบด้านได้ดี เพราะที่ตั้งอยู่ในแกนกลางในผังแม่บท ติดกับอาคารต่างๆโดยรอบ อย่างศูนย์การเรียนรู้ และอาคารวิศิษฏ์อักษร การออกแบบจึงเป็นการ “เปิดรับ” การเข้าถึงได้รอบทิศทาง และสร้างทางเดินเชื่อมไปยังอาคารข้างเคียงเพื่อสะดวกต่อการเข้าถึงมากขึ้น

ทางเชื่อมไปยังอาคารวิศิษฏ์อักษรที่คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในไม่ช้า

ทางลาดเข้าอาคารแบบ Universal Design ที่ออกแบบมาอย่างเข้าใจผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

แปลนชั้น1ของอาคาร

นอกจากนี้การที่อาคารชั้นแรกค่อนข้างเปิดโล่ง ยังเป็นการเปิดรับลมให้ไหลผ่านเข้ามายังทุกพื้นที่ภายในอาคารได้เป็นอย่างดี โดยในชั้นแรกมีเพียงห้องอเนกประสงค์ที่สามารถมาใช้จัดสัมมนาได้ และมีคาเฟ่ “URBIE Social Space” Co-Working Space แนวใหม่ที่ต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยในบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งในขณะที่ชั้น 2 และชั้น 3 ส่วนใหญ่เป็นห้องเรียน ส่วนในชั้นบนสุดเป็นห้องทำงานของคณบดีและห้องพักอาจารย์นั่นเอง

พื้นที่ชั้น 4 ของอาคาร

– วงรีแห่งความเท่าเทียม –

“ปัจจัยหลักในการออกแบบพื้นที่ภายใน มาจากโจทย์ความเข้าใจการเรียนการสอนที่มีหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบเป็นส่วนตัว: Cave Space การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม: Watering Hole ไปจนถึงการเรียนรู้กลุ่มขนาดใหญ่: Campfire” คำตอบของคุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ ที่ทำให้เราอยากสัมผัสพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น

โดยเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลางของอาคารที่เป็นคอร์ทวงรีขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถรองรับการรวมพล หรือกิจกรรมกลุ่มขนาดใหญ่ได้ แต่ยังแฝงความหมายจากรูปร่างวงรีที่ไม่มีเหลี่ยมมุม ไม่มีจุดใดจุดหนึ่งสำคัญกว่ากัน แฝงความหมายถึงความเท่าเทียมและความรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างลึกซึ้ง

แปลนชั้นสองของอาคาร ที่แสดงให้เห็นภาพของคอร์ทวงรี และฟังก์ชันต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ด้านบนมี Skylight หรือช่องแสงที่เปิดรับแสงธรรมชาติ ทำให้อาคารสว่างไสวและพื้นที่ภายในดูโปร่งมากขึ้น

แมสอาคารรูปทรงวงรีอันเป็นภาพจำของอาคารแห่งนี้ และพื้นที่ภายในที่เป็นห้องภาวนา มีความยืดยุ่นในการจัดกิจกรรมได้หลายรูปแบบ ทั้งโต๊ะเก้าอี้สำหรับการสัมมนา และการนั่งกับเบาะล้อมวงเป็นกลุ่ม

– ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ และการทักทาย –

ความตั้งใจออกแบบพื้นที่ภายในอาคารให้เอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คน และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบง่ายๆ อย่างการพบปะ ทักทายกัน ทำให้ “ทุกพื้นที่ภายในอาคารสามารถนั่งได้” ไม่ว่าจะเป็นโถงบันไดไม้ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อจากไปยังชั้นสองของอาคาร หรือแม้กระทั่งสเตปของคอร์ทวงรีเอง ที่ออกแบบโดยใช้สัดส่วนความสูงให้พอดีกับการนั่ง พร้อมทั้งแทรกแซงบรรยากาศแห่งความร่มรื่นด้วยสีเขียวของต้นไม้เข้าไปอีกด้วย

พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอาคารอย่างบริเวณบ่อปลา ที่ออกแบบเป็นที่นั่งในระดับเดียวกับน้ำในบ่อ สามารถนั่งล้อมวงทำกิจกรรมกองเชียร์ของนักศึกษา และนั่งพูดคุย เพื่อซึบซับบรรยากาศธรรมชาติโดยรอบและทำให้เกิดการผ่อนคลาย

นอกจากนี้บริเวณหน้าห้องเรียนไม่ได้เป็นแค่ทางผ่านหรือทางเดินเข้าห้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเก้าอี้นั่งไม้รูปตัวยู วางเรียงรายอยู่ตามแนว เป็นดั่งพื้นที่รองรับนอกเหนือจากในห้องเรียน และเป็นพื้นที่นั่งที่เอื้อต่อการพบปะ ทักทายระหว่างคนที่นั่งอยู่กับคนที่เดินผ่านไปมาด้วย

– ระเบียงจากห้องเรียน –

ภายในห้องเรียนในชั้น 2 และ 3 มีห้องที่สามารถเปิดผนังออกเพื่อเชื่อมต่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ รวมถึงโต๊ะและเก้าอี้ที่จัดไว้อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งโต๊ะเก้าอี้แบบเลกเชอร์ หรือโต๊ะแบบสี่เหลี่ยมคางหมูที่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อจัดรูปแบบแถวและล้อมวงได้ตามความยืดหยุ่นของลักษณะการเรียนการสอน ซึ่งนอกจากนี้ยังมีพื้นที่ระเบียงด้านนอกที่เชื่อมต่อจากในห้องเรียนแต่ละห้องโดยตรง เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการแบ่งกลุ่มย่อยต่างๆ ตามลักษณะรูปแบบการเรียนรู้ที่คณะได้วางไว้

ระเบียงที่มีที่นั่งด้านนอกห้องเรียน

บรรยากาศภายในห้องเรียน

– คำคม เปิดรับลม และแสงแดด –

หากลองสังเกตดีๆ กริลล์ Facade ช่องสี่เหลี่ยมจตุรัสที่เรียงรายล้อมรอบอาคารหลังนี้ มีตัวอักษรในลักษณะแบบ Pixel อยู่ ซึ่งเป็นคำคมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ เพื่อให้ข้อคิดและสะท้อนความหมายบางอย่างให้ได้ตระหนักคิดถึงการศึกษาเล่าเรียน

เช่น “การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียนและจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน” คำคมจาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของธรรมศาสตร์ นอกจากนี้การที่เป็นช่องทะลุทำให้แสงแดดส่องผ่านเข้ามาได้ง่าย ซึ่งทำให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอ และอยู่ในสภาวะที่เย็นสบายจากการที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

อาคารเรียนคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์หลังนี้ เปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ของชาวธรรมศาสตร์ ที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ หรือแม้แต่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี อีกนัยหนึ่งยังแฝงไปด้วยความหมายของธรรมศาสตร์ที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษา ไม่เพียงเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความเสมอภาคในการใช้งานภายในมหาวิทยาลัย แต่หากรวมความเสมอภาคทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันอีกด้วย