OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

11 คำถามกับนักถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมที่ชื่อ ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน แห่ง SPACESHIFT STUDIO

“ตั้งกล้องให้ตรง บรรจงกดชัตเตอร์เบาๆ”

ในยุคสมัยที่เรื่องราวเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมถูกบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆทั้งออฟไลน์และออนไลน์มากกว่าที่เคยเป็นเช่นในอดีต ภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรม (Architectural Photography) กลายเป็นศิลปะการถ่ายภาพอีกหนึ่งแขนง ที่ถูกนำมาใช้ประกอบการเล่าเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวบทความหรือข้อเขียน

เคยสงสัยหรือไม่ว่า กว่าจะออกมาเป็นภาพงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเรื่องราวให้เราเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นนั้น ผู้บันทึกภาพมีขั้นตอนการทำงานและมีมุมมองความคิดที่เกี่ยวเนื่องอย่างไร ช่วงสายของวันหนึ่ง เรามีโอกาสได้สนทนากับพี่ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน หรือพี่เด๋ย ผู้ก่อตั้ง SPACESHIFT STUDIO สตูดิโอถ่ายภาพงาน สถาปัตยกรรมหนึ่งในไม่กี่แห่งของไทย ว่าด้วยวิธีคิดวิธีทำในการบันทึกภาพงานสถาปัตยกรรม ด้วยชุดคำถามที่เราพกติดตัวมาไม่มากนัก แต่เราปล่อยให้คำตอบของพี่เด๋ยนำพาเราไป

คุณเด๋ย ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และคุณบี อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ แห่ง SPACESHIFT STUDIO

Dsign Something: เส้นทางการเป็นนักถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมของพี่เด๋ยเริ่มต้นจากตรงไหน?

PIRAK: พ่อแม่ผมสอนให้ถ่ายรูปตั้งแต่ตอนเด็กๆ จนมาเรียนสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงสนใจถ่ายงานสถาปัตยกรรมมากขึ้น และเริ่มจริงจังตอนไปฝึกงานที่เนเธอแลนด์ช่วงปี 1997 ผมทำงานและได้แบกเป้ศึกษางานดีๆ ในสถานที่ต่างๆ และยังมีเพื่อนที่ทำงานซึ่งเป็นสถาปนิกเจ้าถิ่นทำ The must see architecture guide book. ให้ผม ซึ่งเขาได้รวบรวมงานเก่าของ Le Corbusier, Mies Van Der Rohe รวมทั้งงานใหม่ๆ ที่สร้างเสร็จในช่วงนั้น ทั้งของ OMA และ MvRdV รูปแบบงานตอนนั้นจะนำรูปแบบงานของพี่คิด (สมคิด เปี่ยมปิยชาติ แห่ง Skyline Studio) มาเป็นต้นแบบ เพราะพี่คิดถ่ายงานออกมาสวย ดูมีชีวิต เนื่องจากในสมัยนั้นการเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมต้องจบหลังกล้อง ไม่มี Post Processing เหมือนสมัยนี้ และยังไม่มีกล้องดิจิตอล ผมก็เลยถ่ายฟิล์มแล้วนำกลับมาล้างที่เมืองไทยเกือบ 100 ม้วนเลยครับ

พอทำวิทยานิพนธ์เสร็จก็อยู่ในช่วงฟองสบู่แตกพอดี จึงไปทำงานที่ Walt Disney World ในอเมริกา ตอนนั้นได้ไปดูงานของ Michael Grave, Arata Isozeki พอหมดสัญญาทำงานเลยไปดูงานที่นิวยอร์ค แอลเอต่อ กระทั่งกลับมาเมืองไทยก็ได้ทำงานเป็นสถาปนิกอยู่หนึ่งปี จากนั้นจึงลาออกมาเป็นนักเขียนที่ art4d ได้ร่วมงานกับพี่สมคิดสมใจอยาก พี่เขาถ่ายรูป ส่วนผมก็เขียนบทความ สักพักพี่คิดเลิกถ่ายรูป จึงชวนให้ผมรับช่วงถ่ายให้ art4d เพราะเห็นผมเขียนหนังสือได้ ถ่ายรูปเป็น แต่สมัยนั้นการเป็นช่างภาพจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ผมจึงต้องทำสตูดิโอเพื่อรับงานนอกด้วย ผมเลยชวนพี่บี อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ มาร่วมกันเปิด SPACESHIFT STUDIO ช่วงปี 2005 หลักๆคือถ่ายงานให้นิตยสาร และรับถ่ายงานให้บริษัทสถาปนิก จนปีปี 2013 เริ่มมีงานเข้ามาเยอะ จึงออกมาทำ SPACESHIFT อย่างเดียวจนถึงทุกวันนี้

“ถ้าถามว่าการเป็นสถาปนิกกับการเป็นนักเขียนบทความเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม มีความเหมือนความต่างกันมั้ย จริงๆก็ต่างในแง่ของเนื้องาน คือเปลี่ยนจากคนออกแบบมาเป็นคนเล่าความ มีความเป็นสื่อมวลชนที่มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นสื่อเฉพาะทาง และการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมก็ทำนองเดียวกัน”  

Dsign Something: ถ้าให้แนะนำ พี่เด๋ยมีวิธีการฝึกเรื่องมุมมองในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอย่างไร?

PIRAK: การสั่งสมประสบการณ์จะทำให้เรามีมุมมองเฉพาะตัว มุมมองที่เรามองผ่านกล้อง ก็เหมือนกับมุมมองชีวิต พ่อแม่ผมชอบถ่ายรูป ผมจึงได้จับกล้องตั้งแต่ตอนเด็ก จนเรียนมัธยมก็อยู่ชมรมโฟโต้ กล้องจะติดมืออยู่ตลอด พอมาเรียนที่ศิลปากรก็จะมีเรื่องของสถาปัตยกรรมเพิ่มเติมเข้ามา แต่สมัยนั้นยังไม่มี Archdaily Dezeen Designboom เหมือนในปัจจุบันนะครับ คลังสมองส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ห้องสมุด ห้องวารสาร ซึ่งรับหนังสือและนิตยสารด้านการออกแบบจากทั่วโลก ผมจึงได้เห็นภาพถ่ายโดยนักถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมฝีมือดีมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ช่วงเวลาฝึกงานในบริษัทสถาปนิกที่เนเธอแลนด์ เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญของผม บริบททั้งหมดเอื้อให้ผมได้เรียนรู้สิ่งดีๆ เสพสิ่งสวยงาม ได้คิดได้ทำสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นแบ็คกราวนด์เรื่องมุมมองและทัศนคติที่สะท้อนออกมาในภาพถ่าย ผมชอบที่จะถ่ายภาพให้เล่าเรื่องได้ บางรูปอาจไม่ได้สวยเริดอะไร แต่ก็ดีพอที่จะใช้ประกอบการเล่าเรื่อง และสื่อความหมายในเชิงสถาปัตยกรรม

จริงๆแล้วคนรุ่นใหม่จะมี Reference ให้ดูมากมายในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่หนังสือตำรา แต่ดูอย่างเดียวก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเท่าไหร่หรอกครับ ต้องแบกกล้องออกไปถ่ายรูปข้างนอกซิ แค่คิดก่อนว่า อยากทำอะไร และก็ลงมือทำ ผมไม่ได้เริ่มถ่ายรูปเพื่อเป็นอาชีพ ถ่ายเพราะอยากถ่าย เพราะผมชอบงานสถาปัตยกรรมจึงถ่ายงานสถาปัตยกรรม การสั่งสมประสบการณ์ของผมคือการหาโอกาสไปดูงานสถาปัตยกรรมดีๆ แล้วใช้เวลากับมัน มองหามุมมอง หรือสเปซ หรือองค์ประกอบอาคารที่คิดว่าควรค่าแก่การบันทึก เลือกไปในช่วงเวลาที่เหมาะ และที่สำคัญเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราถ่ายภาพๆนั้นไปทำไม

“ผมสะสมความมีรสนิยมเชิงสถาปัตยกรรมจากการเดินทางและได้สัมผัสกับตัวงานในโลกความจริง บ่อยครั้งที่มีคนบอกว่าผมถ่ายงานสวยกว่าของจริง ผมก็จะเถียงว่าภาพถ่ายของผมไม่มีทางสวยกว่าของจริงหรอก แต่เป็นเพราะคุณไม่ได้ไปยืนอยู่กับผมในช่วงเวลาที่ผมยืนอยู่ ตรงนั้นต่างหาก เชื่อดิ ”

Dsign Something: ข้อดีของการเรียนจบสถาปัตย์ แล้วมาเป็นนักถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมคืออะไร?

PIRAK: ข้อดีคือผมทำความเข้าใจกับตัวงานสถาปัตยกรรมที่ผมจะต้องถ่ายได้ ผมจะเจอสิ่งที่ผมต้องทำได้ และจะเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น และเมื่อสื่อสารกับสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารนั้น ก็จะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำงานได้อย่างสบายใจ แต่ผมไม่เคยบอกนะว่า คนที่ไม่ได้เรียนมาทางนี้จะทำไม่ได้ นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมดังๆอย่าง Hélène Binet หรือ Iwan Baan ก็ไม่ได้จบสถาปัตย์ แต่ก็มีมุมมอง และวิธีการที่จะทำงานให้สำเร็จได้

Dsign Something: ภาพถ่าย vs ภาพเรนเดอร์ ใช้แทนกันได้มั้ย?

PIRAK: ภาพเรนเดอร์ถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนหรือแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของผู้ออกแบบว่าเมื่ออาคารสร้างเสร็จแล้วจะมีหน้าตาออกมาเป็น อย่างไร ส่วนภาพถ่าย เมื่อเราไปถ่ายเมื่อโครงการนั้นๆสร้างเสร็จแล้ว จะกลายเป็นหลักฐานหรือบทบันทึกว่างานที่ออกแบบนั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ และจะถูกเก็บไว้เพื่อใช้อ้างอิงได้ในอนาคต สองสิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน และจุดประสงค์ในการใช้งานก็ไม่เหมือนกัน

Dsign Something: ย่านไหนในกรุงเทพฯที่มีอาคารน่าไปเก็บภาพ หรือใช้เป็นที่ฝึกมือในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม?

PIRAK: ถ้าให้แนะนำตอนนี้ ผมชอบตึกที่มีรายละเอียดสวยๆ เป็นตึกประเภทที่เราเห็นแล้วอยากจะยกกล้องหรือมือถือขึ้นมาสแน็ปเก็บไว้ดัดตีฟเล่น ถ้าอยากได้แนว Urban โซนตึกสูงๆ ก็จะเป็นแถวสาทร สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เพราะแค่ตึกมหานครก็เพลินแล้ว กับแยกเพลินจิต ซึ่งมีทั้งเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ตึกกรุงศรี โนเบิลเพลินจิต โอกุระเพรสทีจตรงแยกปทุมวัน แต่บางที่ก็สามารถตั้งขาตั้งกล้องได้ บางที่ก็ห้าม ส่วนถ้าอยากฝึกอินทีเรียก็ต้องเป็นหอศิลป์กทม นอกจากนั้นผมว่าสถานที่ใหม่ๆที่เปิดช่วงนี้ หลายที่พยายามจะสร้างให้มีความเป็น Photogenic (ถ่ายรูปออกมาสวย) ก็ไปถ่ายรูปฝึกฝีมือได้ครับ

Dsign Something: งานสถาปัตยกรรมที่ดี จำเป็นต้องถ่ายรูปสวยมั้ย?

PIRAK: งานสถาปัตยกรรมจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน เพราะทั้งเรื่องฟังก์ชั่นและความสุนทรียภาพเป็นเรื่องของมุมมองและความคิด แต่คนที่เป็นช่างภาพยังไงก็ต้องหาวิธีการถ่ายออกมาให้งานนั้นดูดี ไม่ว่าจะด้วยวิธีการมองหามุม การจัดองค์ประกอบ สุดท้ายแล้วหน้าที่ของเราคือการมองหาความงามของงานชิ้นนั้นให้เจอ ถึงแม้ว่าในแง่การออกแบบ สถานที่นั้นจะไม่งาม สเปซไม่สวย แต่เพียงแค่มีแสงเงาพาดผ่านก็อาจจะทำให้ภาพดูดีหรือน่าสนใจขึ้นมาได้

บางทีผมก็ถูกถามว่าทำไม ของจริงไม่เห็นสวยเหมือนในรูป เราไปบิดเบือนหรือเปล่า แต่ผมกลับคิดว่า เปล่าเลย งานสถาปัตยกรรมคือของจริง เป็นไปไม่ได้ที่เราจะถ่ายภาพให้สวยกว่าของจริง งานสถาปัตยกรรมในความเป็นจริงเป็นสามมิติ แต่ภาพถ่ายของผมเป็นสองมิติ ผมเลือกที่จะมองมุมใดมุมหนึ่ง และถ้าผมเจอมันแล้ว ผมก็แค่ถ่ายภาพมาแค่นั้นเอง 

“เพราะงานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นมีคุณลักษณะในตัวเอง หากอยู่ที่มุมมองและช่วงเวลาที่เราได้เข้าไปอยู่หรือเข้าไปใช้ บางครั้งแค่เวลาต่าง แสงและเงาที่ตกกระทบอาคารก็แตกต่างกัน และถ้าคุณไม่ได้ Concentrate มากพอ คุณก็อาจมองไม่เห็นความงามที่อยู่ตรงหน้า”

Dsign Something: กล้องฟิล์ม กับกล้องดิจิตอล ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันอย่างไร? 

PIRAK: ผมเริ่มถ่ายภาพเป็นอาชีพ ในช่วงที่การถ่ายภาพกำลังเปลี่ยนจากกล้องฟิล์มเป็นกล้องดิจิตอล ผมจึงมองว่าเป็นอุปกรณ์คนละชนิดกัน ซึ่งเรามีเหตุผลที่จะเลือกใช้ เพราะทั้งสองอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตอนที่ผมถ่ายให้กับนิตยสาร ผมยังใช้ฟิล์มเพราะคุณภาพของความเป็นดิจิตอลยังตอบโจทย์งานพิมพ์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป การอ่านข้อมูลของคนเราย้ายไปอยู่บนหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ต หนังสือกลายเป็น Rare Item หรือ Tailor Made Item กันไป ลูกค้าเราก็ไม่มีใครอยากได้ภาพฟิล์มแน่ๆ เพราะ ระบบการจัดเก็บหรือ Archive เปลี่ยนไปแล้ว

“กล้องฟิล์มกลายเป็นงานศิลปะหรืองานอดิเรกที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ถึงอย่างไร ถ้าไม่ได้ถ่ายงาน กล้องฟิล์มก็ถือเป็นงานอดิเรกยามว่าง เพราะภาพฟิล์มจะใกล้ความจริง มีความนุ่มนวล ไม่คมบาดตา ทุกวันนี้เวลาทำ Post Processing ไฟล์ดิจิตอลก็พยายามจะทำให้ไม่คมบาดตาจนเกินไป “

ในส่วนของการทำงานกล้องดิจิตอลทำงานได้เร็วกว่ากล้องฟิล์ม เพราะกล้องฟิล์มจะต้องนำไปล้างอัดขยาย ถ้าหากใช้เวลาเท่ากัน กล้องดิจิตอลก็จะได้จำนวนภาพมากกว่า และยังอำนวยให้เกิดมุมกล้องที่หวือหวามากขึ้น เพราะกล้องสมัยนี้มีน้ำหนักเบา ถือง่ายถ่ายคล่อง แต่ในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ความหวือหวาก็ไม่ได้ใช้บ่อยนัก เรื่องบางเรื่อง อย่างโทนสีที่สมจริง กล้องดิจิตอลบางตัวก็ยังมีปัญหาอยู่เลย เห็นได้จากการถ่ายภาพงานศิลปะโดยเฉพาะภาพเพ้นท์ ศิลปินบางคนก็ยังต้องกลับไปใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพ เพราะสีที่ออกมาสมจริงมากกว่า

Dsign Something: ชอบถ่ายภาพในช่วงเวลาไหน?  

PIRAK: ตอนไหนก็ได้ที่ถ่ายออกมาสวย จริงๆก็มีลำดับการทำงานระหว่างวันอยู่นะคือหกโมงถึงสิบโมงจะใช้เวลาถ่ายภายนอกอาคาร เพราะแดดไม่แรง จากนั้นก็เข้าไปถ่ายอินทีเรียถึงเที่ยงแล้วก็พัก ตอนบ่ายก็กลับมาถ่ายอินทีเรียต่อ ตอนเย็นแดดเบาๆก็ออกไปถ่าย ด้านนอกอาคาร ด้านที่โดนแสงช่วงเย็น แล้วก็จบด้วย Night Shot สำหรับงานที่มี Lighting Design

บางทีถ้าเห็นว่าอาคารนั้นมี Atrium มีช่องแสงด้านบนส่องลงมาในอาคาร ผมก็ต้องรอถ่ายแสงเงาที่เกิดขึ้นตอนเที่ยง เวลาเดินเข้าไปในอาคารแล้วเห็นช่องแสงด้านบน ก็รู้เลยว่ากินข้าวตอนบ่ายสองแน่นอน

Dsign Something: ในการทำงานต้องพึ่งโชคแค่ไหน?

PIRAK: ในฤดูที่อากาศเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็ต้องพึ่งโชคพึ่งดวงครับ ไปถึงหน้างานก็ยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทางก่อนเลย เพราะการถ่ายงานสถาปัตยกรรมต้องดีลกับฝน ฟ้า อากาศ แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกไป ก็จะเป็นเรื่องตัวงานล้วนๆ ซึ่งงานก็จะตั้งตรงนั้นอยู่แล้ว เราแค่เข้าไปจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่เหลือก็อาจจะเป็นเรื่องผู้คน เช่นเจ้าของอาคาร คนดูแลอาคาร หรือปัญหาด้านเทคนิคเรื่องแสงสว่าง ม่านไฟฟ้า ส่วนใหญ่ก็จะค่อยแก้ปัญหาหน้างานครับ

Dsign Something: อยากเป็นนักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องเริ่มอย่างไร?

PIRAK: ทำงานมาถึงตอนนี้แล้วก็คิดว่าถ้าตั้งใจจริงก็เป็นได้หมดครับ ถ้ารู้ว่าต้องทำยังไงก็ไม่ยาก แต่ถ้าถามว่าสิ่งจำเป็นที่ควรมี ก็เป็นเรื่องความสนใจในงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง พร้อมที่จะใช้เวลากับสถาปัตยกรรมนานๆ มีความละเอียดในการวางแผนตั้งแต่การเดินทาง ไปจนถึงการตั้งกล้อง ผมกับพี่บีเราคงทำงานแบบนี้กันจนชินแล้ว เพราะเราจะอยู่กับที่ได้นานๆ ความสนุกในการทำงานของเราคือได้เดินทางไป ในที่ใหม่ๆ ได้ดูงานสถาปัตยกรรม ได้เสวนากับสถาปนิก และความรู้ที่ร่ำเรียนมาจะได้ไม่บูด

Dsign Something: คำถามสุดท้าย ทุกวันนี้ใช้กล้องอะไรบ้างในการทำงาน?

PIRAK: ต้องเริ่มจากคติพจน์ประจำสตูนะครับ คือตั้งกล้องให้ตรงๆ แล้วบรรจงกดชัตเตอร์เบาๆ ส่วนกล้องเรียงจากซ้ายไปขวาตามนี้เลยครับ

1 ตัวใหญ่นั่น Sinar F2 เป็นตัวที่ใช้ถ่ายฟิล์ม 4X5 บึกบึนทนทาน ใช้บ่อยตอนถ่ายให้แม็กกาซีน โดยเฉพาะภาพที่ต้องมีการแก้ตีฟ เพราะมีกลไกที่ควบคุมความถูกต้องของ Perspective ถือว่าเป็นพ่อของเลนส์ Tilt Shift สมัยนี้

 2 Polaroid SX-70 สมัยก่อนเอาไว้ใช้ถ่าย snapshot แล้วนำมาสแกนทำภาพประกอบ

 3 DSLR ของ Canon กับเลนส์ TS-E สองตัว เป็นกล้องถ่ายงานเป็นหลัก มีเลนส์ 50 มม. ใช้ถ่ายดีเทลอาคาร สามตัวนี้คือเลนส์ติดกระเป๋าเวลาทำงาน

4 Hasselblad X-pan ใช้ฟิล์ม 135 เป็นกล้องพานอรามา

5 Fuji GW690 เป็นกล้องฟิล์ม 6×9 เลนส์คมมาก ใช้ถ่ายทำสกู๊ปข่าวตอนทำนิตยสาร

6 Hasselblad 503CW กับเลนส์อีก 4 ตัว คือ 40, 80, 120, 250 มม. ชุดนี้ติดแบ็ค 6×6 เอาไว้ถ่ายอินทีเรีย

“ผมว่าภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่ดีต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากพอ ในการบอกว่าผลงานชิ้นนี้ มีคุณลักษณะ มีข้อดี หรือ มีการเล่าเรื่องผ่านทางสถาปัตยกรรมนั้นแบบไหนมากกว่า ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพออกมาแล้วดูสวยเพียงอย่างเดียวครับ” สิ้นสุดคำตอบจากชุดคำถามของเรา พลันเกิดความเป็นไปได้มากมายหลังบทสนทนาที่เรียบง่าย แต่ทำให้เราเข้าใจหน้าที่และงานของช่างภาพสถาปัตยกรรมมากขึ้น

ขอบคุณ พี่เด๋ย ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน แห่ง SPACESHIFT STUDIO ที่ได้เล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนบทสนทนากันกับเราในครั้งนี้

Photography: SPACESHIFT STUDIO