OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ความทึบตันและการปิดกั้นอย่างมีเหตุผล Chonburi Sila House

บ้านที่ปิดกั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและลดข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมรอบข้าง

Location: จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย

Owner: ธนกฤฎิ พิศวง

Architect: เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน แห่ง Anghin Architecture

Photograph: Chaovarith Poonphol

ถึงแม้สภาพแวดล้อมรอบบ้านอาจจะไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยซักเท่าไหร่นัก แต่สถาปัตยกรรมก็สามารถเข้ามามีบทบาทและแก้ไขปัญหาการพักอาศัยให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับ Chonburi Sila House แม้จะมีบริบทรอบข้างที่ติดกับโรงงานและถนนใหญ่ มีสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการออกแบบ แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็กลับกลายเป็น “บ้าน” ที่ผู้พักอาศัยอยู่แล้วพึงพอใจมากที่สุดเช่นกัน

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยที่ตั้งของบ้านนั้นติดถนนใหญ่ทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ฝั่งถนนมอเตอร์เวย์ และฝั่งถนนเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมระยอง – กรุงเทพ อีกทั้งบริบทรอบข้างมีทั้งเหมืองหิน โรงงานอุตสาหกรรม และโกดังเก็บของ ทำให้บรรยากาศรอบข้างค่อนข้างวุ่นวาย มีเรื่องของมลพิษจากฝุ่น เสียง และอากาศ ซึ่งคุณธนกฤฎิ พิศวง เจ้าของบ้านก็รับรู้ถึงปัญหาในข้อนี้ดี จึงได้ให้คุณเฟียส เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน จาก Anghin Architecture สถาปนิกผู้ใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวแก้ไขปัญหาเรื่องบริบท เข้ามาออกแบบบ้านที่ตอบโจทย์ได้น่าสนใจ

คุณเฟียส เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน แห่ง Anghin Architecture สถาปนิกผู้ออกแบบ

สมาชิกในครอบครัวของคุณธนกฤฎิจะมีช่วงอายุที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งวัยเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ในการออกแบบบ้านสถาปนิกจึงต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานในแต่ละช่วงวัยเป็นข้อสำคัญ โดยคุณเฟียสออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน และมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของคนในบ้านซึ่งอยู่ในส่วน Common Area หรือพื้นที่นั่งเล่นนั่นเอง

บ้าน 2 ชั้นนี้มี ขนาด 275 ตารางเมตร ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องทำงาน ห้องนอน และส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหารเป็น Open Plan อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ส่วนชั้น 2 มีเพียงห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง ซึ่งแนวคิดการออกแบบของบ้านหลังนี้คือการใช้ความน่าสนใจของสเปซรอบข้างมาประยุกต์ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการพักอาศัยมากขึ้น

– แนวคิดจากบริบท –

เนื่องจากบริบทรอบข้างของที่ดินอยู่ติดกับเหมืองหิน โรงงานอุตสาหกรรม และถนน 2 เส้นใหญ่ จะมีก็เพียงด้านทิศใต้ของบ้านที่จะได้รับทิวทัศน์จากสวนและต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง คุณเฟียส สถาปนิกผู้ออกแบบจึงเลือกที่จะออกแบบบ้านให้มีผนังทึบทั้ง 3 ด้าน ป้องกันไม่ให้เจ้าของบ้านได้รับมลพิษทั้งทางอากาศ เสียง กลิ่น และฝุ่นจากภายนอก และมีช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณทิศใต้ เพื่อเปิดรับลม แสงแดด และทิวทัศน์ธรรมชาติ

– รูปทรงจากเหมืองหิน –

รูปทรงของบ้านได้รับแรงบันดาลใจจากสเปซของเหมืองหินที่พบได้ค่อนข้างมากในพื้นที่ เป็นสเปซที่เกิดขึ้นจากการขุด เจาะ และคว้านพื้นที่ในเหมืองลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีช่องทางรถบรรทุกขึ้นลง โดยเป็นเส้นทางที่สลับซับซ้อนและขึ้นลงไปมา คุณเฟียสจึงนำมาประยุกต์และสื่อออกมาผ่านทางฟอร์มอาคารที่มีกำแพง หนา ทึบ และมีความสูงลดหลั่นกันทั้งหมด 3 แผง โดยรูปแบบผนังทึบที่แยกกันเป็น 3 ส่วนนั้นเปรียบเหมือนกับภาพลวงตา เมื่อมองจากภายนอกจะไม่สามารถรู้ได้ว่านี่คืออาคารประเภทไหน มีขนาดเท่าไหร่ เป็นการสร้างความเป็นส่วนตัวและช่วยพรางสายตาจากผู้คนภายนอกได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นคุณเฟียสยังนำแนวคิดการคว้านหินนี้มาใช้ในการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ Public และ Private ในบ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับดังนี้ Public Area Semi-Public Area และ Private Area โดยใช้ผนังทึบเป็นส่วนกั้นพื้นที่ทั้ง 3 เพื่อสร้างระดับความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้งาน 

รูปภาพแสดงแนวคิดการแบ่งพื้นที่บ้านโดยใช้ผนังทึบ 3 ส่วน

– การใช้งานที่ถูกแบ่งระดับความเป็นส่วนตัว –

เนื่องจากผู้พักอาศัยมีหลากหลายช่วงวัย ทั้งเจ้าของบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ น้องชายและบุตรของน้องชาย การออกแบบบ้านหลังนี้จึงให้ความสำคัญกับผู้พักอาศัยแต่ละท่าน เช่น คุณพ่อและคุณแม่ผู้สูงวัยชอบการเข้าครัวและทำสวน สถาปนิกจึงออกแบบให้ห้องนอนของพวกเขาอยู่ติดกับห้องครัว และอยู่ในพื้นที่ชั้น 1 เพื่อที่จะไม่ต้องเดินขึ้นลงบันไดทุกวันและใกล้ชิดติดบริเวณสวนมากสุด ส่วนชั้น 2 จะมีแค่ห้องนอนของเจ้าของบ้าน น้องชาย และบุตรของน้องชายเท่านั้น ซึ่งแต่ละห้องจะมีระเบียงส่วนตัวยื่นสู่ทิศใต้หันหน้าเข้าหาสวน เปิดรับบรรยากาศจากภายนอก

แผนผังอาคารชั้น 1 และชั้น 2

ในส่วนที่พักอาศัยนั้นจะใช้การแบ่งสเปซของเหมืองหินแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Public Area Semi-Public Area และ Private Area พื้นที่ Public Area คือห้องรับแขก ห้องนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหารซึ่งจะอยู่ใกล้กับถนนใหญ่มากที่สุด ต้องการความเป็นส่วนตัวน้อยที่สุด ถัดเข้ามาจะเป็นห้องครัว ห้องทำงาน อยู่ในส่วน Semi-Public Area มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และส่วนของห้องนอนทั้ง  4 ห้อง ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากที่สุด จะอยู่ส่วนในสุดของผนังทึบที่ซ้อนกัน 3 ชั้น และอยู่ในพื้นที่ชั้น 2 ของบ้าน เพื่อป้องกันเสียงดังและมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

บรรยากาศภายในบ้านมีความผ่อนคลายและสงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับฟอร์มอาคารที่ดูแข็งแรงและทึบตัน

– ทิศทางลมและการระบายอากาศ –

บ้านหลังนี้ยังมีการคำนึงถึงทิศทางลม การระบายอากาศและการป้องกันความร้อน โดยคุณเฟียสวางผังอาคารให้แนวบ้านและช่องเปิดให้หันรับกับแนวทิศทางลมเป็นหลัก และที่เหนือสุดของโถงบันไดชั้น 2 มีช่องสำหรับระบายอากาศร้อนที่ลอยตัวสูงออกสู่ภายนอกบ้าน จึงช่วยให้ภายในไม่ร้อน มากไปกว่านั้นยังมี Skylight ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้านผ่านทาง ห้องพระ ห้องทำงาน ห้องครัวและห้องน้ำอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้พื้นที่ในบ้านได้รับแสงสว่างและรับลมจากธรรมชาติอย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าจะมีผนังทึบทั้ง 3 ด้านก็ตาม

สถาปนิกเลือกใช้ผนังก่ออิฐหนา 2 ชั้น โดยมีช่องว่างอากาศตรงกลาง เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนให้กับบ้าน

ภายในห้องน้ำมีการจัดสวนอินทีเรียและมีช่องเปิดอยู่ด้านบน เพื่อสร้างบรรยากาศในห้องน้ำให้น่าใช้งานและทำให้ห้องน้ำไม่อับชื้นอีกด้วย

สถาปัตยกรรมที่ดีไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น หากยังต้องสามารถเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบ้านได้ด้วย บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่คำนึงถึงความต้องการของผู้พักอาศัย และสามารถช่วยลดปัญหาจากสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ด้วยการสร้างผนังทึบตันอย่างมีเหตุผล แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดรับกับสายลมและแสงแดดเพิ่มคุณภาพในการอยู่อาศัยได้อย่างแยบยล