OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

BSP01 Residence บ้านสะท้อนตัวตน

บ้านที่มีตัวแปรตั้งต้นคือการนำ “บุคลิกและวิถีชีวิต” ของผู้อยู่อาศัยเป็นแนวคิดหลัก จากนั้นจึงเพิ่มเติมด้วยการนำ “ธรรมชาติ” เข้าสู่ตัวอาคาร

Location: Suan- Pak Road, Bangkok, Thailand

Owner: Pavit and Yada Prasertsom

Architect & Interior: Design Identity Unit

Landscape Architect: Seed-Studio

Photographer: Viteethumb Studio

สิ่งที่ทำให้ ”การออกแบบบ้าน” แตกต่างจากสถานที่อื่นๆ นั่นก็คือ “บ้าน” เป็นสถานที่แห่งความสุข ความผูกพัน ที่มีเรื่องราวและความทรงจำมากมายอัดแน่นอยู่ในนั้น บ้านที่ดีจึงควรจะเป็นบ้านที่เข้ากันกับตัวตนและวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบ้าน ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้นมีความสะดวกสบายและผ่อนคลายมากที่สุด

ทีมสถาปนิกจาก Design Identity Unit ผู้ออกแบบบ้าน BSP01 Residence

BSP01 Residence บ้านสไตล์โมเดิร์นแห่งนี้มี คุณปวิธ และ คุณญาดา ประเสริฐสม เป็นเจ้าของบ้าน เมื่อมองจากภายนอกอาจจะเป็นบ้านที่ดูเรียบง่าย แต่หากได้ลองเข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิด รับรู้ถึงแนวคิดในการออกแบบแล้ว ก็จะพบว่าบ้านหลังนี้มีเรื่องราวของการออกแบบรายละเอียดในทุกๆ ส่วนของบ้านที่ช่วยเติมเต็มความต้องการและวิถีชีวิตของเจ้าของบ้าน เป็นบ้านที่สมบูรณ์ทั้งในความหมายของงานสถาปัตยกรรมและความหมายของการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง

– บ้านที่เกิดจากวิถีชีวิตของเจ้าบ้าน –

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านของคุณพ่อคุณแม่ บ้านของน้องชาย และอาคารสันทนาการ ด้วยความที่สมาชิกในครอบครัวล้วนมีความชอบและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ออกแบบเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องออกแบบบ้านแต่ละหลังให้ตรงตามบุคลิกของเจ้าของบ้าน แต่โดยภาพรวมแล้วบ้านทุกหลังจะต้องกลมกลืนกัน “Contrast & Harmony” จึงเป็นแนวทางในการออกแบบที่สถาปนิกเลือกใช้สำหรับโครงการนี้ ซึ่งในครั้งนี้เราจะกล่าวถึงบ้านของคุณปวิธผู้ชื่นชอบความรื่นเริงและรักธรรมชาติ

ตัวบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้นในรูปแบบ Modern ที่มีความเรียบง่าย รูปทรงของบ้านเป็นกล่องสี่เหลี่ยมหลายๆ กล่องมาประกอบกัน มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,250 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดประมาณ 4 ไร่ ในย่านสวนผัก บ้านหลังนี้มีจุดเด่นที่การผสานรวมพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติภายนอกเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหนจากภายในบ้านก็จะพบกับสวนสวยที่อยู่ภายนอกตลอดเวลา

คุณปวิธ ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้มักจะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ให้เพื่อนๆ มารวมตัวสนุกสนานกันที่บ้าน และมักจะมีผู้ร่วมงานมาประชุมกันที่บ้านบ่อยครั้ง สถาปนิกจึงออกแบบผังของบ้านนี้ให้กระจายตัวแผ่ออกไป ไม่อยู่รวมกันเป็นก้อนคล้ายกับบุคลิกของเจ้าของบ้านที่เป็นคนเปิดเผย อารมณ์ดี เข้าถึงง่าย ซึ่งผังบ้านในลักษณะนี้ช่วยให้กิจกรรมต่างๆ ทั้งการจัดงานเลี้ยง การประชุมงาน และการพักผ่อนเป็นส่วนตัวของครอบครัวมีความเป็นสัดส่วน ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน แต่ก็ยังมองเห็นกันได้อยู่ นอกจากนี้การกระจายผังบ้านยังช่วยให้พื้นที่สีเขียวสามารถแทรกตัวเข้ามาอยู่ร่วมกับตัวบ้านได้อย่างกลมกลืน มีบ่อปลาคาร์ปเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่วยสร้างบรรยากาศเย็นสบาย ผ่อนคลายสายตาให้กับผู้อยู่อาศัย

– แบ่งความเป็นส่วนตัว –

ผังอาคารชั้น 1

แนวคิดหลักอีกประการนอกจากสร้างบ้านให้ตรงกับบุคลิกของเจ้าของบ้านแล้ว คือการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างชัดเจนด้วยการแยก Mass อาคารให้กระจายตัวออกจากกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งพื้นที่ความเป็นส่วนตัวอย่างเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ห้องทำงานที่อยู่ส่วนหน้าสุด ส่วนบ้านหลักที่เป็นส่วนของเจ้าของบ้าน ส่วนจัดเลี้ยงและห้องรับรองแขกที่อยู่ด้านใน แขกที่มาติดต่อสามารถเดินเข้าห้องทำงานด้านหน้าบ้านได้โดยตรง หรือเพื่อนๆ ที่มางานเลี้ยงสังสรรค์ก็สามารถเดินตัดตรงไปสู่เรือนรับรองด้านใน ไม่ต้องผ่านเข้าในตัวบ้านที่เป็นส่วนเฉพาะของครอบครัว และมีบ่อปลาคาร์ปวางขนานไปกับส่วนบ้านหลักช่วยทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้

ผังอาคารชั้น 2

ในพื้นที่ชั้น 2 ก็มีการแบ่งพื้นที่ชัดเจนระหว่างห้องนอนของคุณปวิธและคุณญาดากับห้องนอนสำหรับลูกๆ อีก 2 ห้อง มีทางเดินเชื่อมต่อพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ทางเดินเชื่อมนี้เป็นโครงสร้างเหล็กยาว 5 เมตร ที่เชื่อมต่ออาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทั้ง 2 ข้าง เป็นตัวเชื่อมพื้นที่ระหว่างห้องคุณพ่อคุณแม่กับลูกๆ ทั้ง 2

– ใส่ใจทุกรายละเอียด –

กล่องกระจกทางเชื่อมนี้มีบานกระจกติดตายด้านบนและบานกระทุ้งอยู่ด้านล่างเพื่อช่วยระบายอากาศ ช่วยให้พื้นไม้บริเวณนี้ไม่เสียหายจากความร้อนของแดดที่ทำให้อากาศอบอ้าวอยู่ภายใน ซึ่งจะมีผลต่อการยืดหดตัวของพื้นไม้

แผงระแนงไม้บังตาที่ระเบียงชั้น 2 ของตัวบ้านถูกออกแบบให้สามารถเลื่อนขยับไปมาได้ ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องนอนทุกห้องตามที่ผู้พักอาศัยต้องการ

Dtips: เนื่องจากรูปแบบอาคารที่ไม่มีชายคายื่นคลุมออกไป ในเวลาที่ฝนตก ถ้าจัดการไม่ดีก็อาจทำให้ผนังเกิดคราบสกปรกจากน้ำฝนที่ยังค้างอยู่ตามขอบอาคารแล้วค่อยๆ ไหลลงมาตามผนัง การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี เช่นออกแบบให้ขอบอาคารลาดเอียงลงไปด้านในของหลังคาเช่นบ้านหลังนี้ ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำสกปรกไหลลงไปตามผนังบ้านได้ ส่วนที่ฝ้าเพดานภายนอกก็มีการยกระดับฝ้าให้สูงกว่าขอบโดยรอบเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนเข้ามาภายในฝ้าเช่นเดียวกัน

แม้ดูภายนอกจะรู้สึกว่า Flat Roof เป็นตัวการที่ทำให้บ้านร้อน เพราะตัวบ้านโดนแสงแดดโดยตรงไม่เหมือนหลังคามุงกระเบื้องทั่วไป การป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารสำหรับบ้านหลังนี้ใช้วิธีซ้อนหลังคา 2 ชั้น เป็นหลังคา Metal Sheet วางบนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก สูงจากพื้น 10-20 เซนติเมตร แล้วฉีดโฟมกันความร้อนทับลงไป อีกทั้งภายในบ้านยังมีช่องเปิดค่อนข้างเยอะและมีระเบียงโดยรอบ ช่วยระบายอากาศภายในบ้านได้ดีและแสงแดดส่องเข้าสู่ตัวอาคารได้น้อยลง

โดยทั่วไปผนังก่ออิฐฉาบปูนที่มีพื้นที่ค่อนข้างมากมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดรอยแตกร้าวได้โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยต่อของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กกับผนังก่ออิฐฉาบปูน หรือบริเวณผิวปูนที่ผสมไม่ได้มาตรฐาน เราสามารถป้องกันรอยแตกร้าวเหล่านี้ได้ด้วยกันเซาะร่องตามรอยต่อของวัสดุที่ต่างกัน เพื่อหยุดรอยร้าวให้อยู่แค่บริเวณที่เซาะร่องหรือเซาะร่องที่ผนังเพื่อลดพื้นที่ฉาบปูนไม่ให้มีขนาดใหญ่จนเกินไป ถ้าเกิดการแตกร้าวก็จะหยุดอยู่ในส่วนเส้นเซาะร่องนั่นเอง

– กลมกลืนเข้าหาธรรมชาติ –

“สวนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานออกแบบมีความสวยงามยิ่งขึ้น”สถาปนิกกล่าวกับเราเพราะการจัดสวนภายในบ้านนั้นจะสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นน่าใช้งาน มีร่มเงาของต้นไม้อยู่ในที่ต่างๆ และยังช่วยกันความร้อนจากแสงแดดในตอนกลางวันอีกด้วย

เนื่องจากมีการออกแบบผังบ้านให้กระจายตัว และมีช่องเปิดขนาดใหญ่ภายในบ้าน จึงทำให้ลมพัดผ่านได้เกือบทุกพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยให้มองเห็นสวนที่รายล้อมบ้านตามความต้องการของเจ้าของบ้านได้อีกด้วย ทำให้บรรยากาศของบ้านดูร่มรื่นน่าใช้งานมากขึ้น เพราะเพียงแค่ก้าวเท้าออกจากบ้านไปไม่กี่ก้าว ก็จะเข้าถึงธรรมชาติและสวนที่อยู่รอบๆ ได้อย่างง่ายดาย

ที่รับประทานอาหารภายนอกซึ่งอยู่ริมบ่อปลาคาร์ปเป็นที่นั่งประจำของคุณปวิธและครอบครัว เพราะเป็นบริเวณที่ร่มรื่นผ่อนคลายด้วยบรรยากาศจากสวนโดยรอบ และยังเป็นพื้นที่เปิดโล่งทำให้มีลมพัดผ่านเข้ามาได้ตลอดทั้งวัน

ต้นพะยอม ต้นไม้ใหญ่ซึ่งปลูกอยู่บริเวณทางเข้าบ้านเป็นต้นไม้ที่คุณปวิธชื่นชอบและคัดสรรมาลงด้วยตนเอง รูปทรงของต้นไม้ที่แตกต่างและเกิดจากธรรมชาติช่วยลดความแข็งของบ้านลงได้เป็นอย่างดี และการเจาะช่องเปิดบนหลังคาให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตขึ้นสู่ข้างบนก็ยังทำให้แสงแดดส่องมาถึงต้นไม้ได้อีกด้วย

 – วัสดุและการออกแบบ –

แนวทางในการเลือกใช้วัสดุของบ้านหลังนี้จะเป็นโทนสีสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายสบายตา และช่วยให้พื้นที่ใช้งานดูกว้างขึ้น วัสดุภายนอกจะเป็นผนังปูนทาสีขาว เหล็กสีเทาดำ หิน และไม้ ส่วนภายในจะใช้หิน กระเบื้อง และไม้ การนำไม้เข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ ของบ้านช่วยลดความแข็งกระด้างจากวัสดุอื่นๆ รวมทั้งรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมแข็งๆ ของบ้าน ช่วยให้บ้านมีความอบอุ่นอยู่สบายและน่าใช้งานมากขึ้น

BSP01 Residence บ้านที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้พักอาศัยเพราะเป็นบ้านที่ถูกออกแบบมาตามบุคลิกและความต้องการของเจ้าของบ้าน สร้างความสุขและความผ่อนคลายตลอดการใช้งานในบ้านหลังนี้ได้อย่างแท้จริง และถึงแม้บ้านหลังนี้จะเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ดูเรียบง่าย แต่กลับมีรายละเอียดมากมายที่ช่วยเติมเต็มให้สถาปัตยกรรมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น