“ฉากหลังของพิธีกรรมและธรรมชาติ เส้นสายที่โค้งละมุน ดุจความปลอดภัยในท้องแม่”
Mary Help of Christian Church (Chaweng)
Location: Bangkok, Thailand
Architect: JUTI architects
Photograph: Peerapat Wimolrungkarat & Juti Klipbua
เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนคาทอลิคบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประกอบกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าร่วมพิธีมิสซาของอาคารโบสถ์น้อยหลังเดิมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก พระสังฆราช โยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโบสถ์หลังใหม่แห่งนี้ขึ้นและได้ประทานชื่อโบสถ์แห่งนี้ว่า “วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์” โดยมีการจัดประกวดแบบเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งทำให้ “จุติ กลีบบัว” สถาปนิกจาก JUTI Architects ผู้ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์และเข้าใจถึงแก่นทางสถาปัตยกรรมประเภทนี้เป็นอย่างดี ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดแนวคิดจากคัมภีร์ไบเบิ้ลผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมหลังนี้
ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านและพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน เพราะฉะนั้น บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า”
พระนางมารีย์จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” แล้วทูตสวรรค์ก็จากพระนางไป บทอ่านนักบุญลูกา 1:35 และ1:38
ปีกเทวฑูต และรัศมีการสถิตย์ของพระจิต
แรงบันดาลใจของสถาปนิก ที่ได้ถอดบทความจากบทอ่านในไบเบิ้ล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับหน้าที่ของพระนางมารีย์ ผู้ต้องตัดสินใจในการรับภาระอันยิ่งใหญ่จากฑูตสวรรค์ ที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายและทรงพลัง จึงถ่ายทอดออกมาตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่มีเส้นสายความโค้งละมุน ดูเบาสบาย ผนวกกับลักษณะของมือซึ่งยกขึ้นภาวนา ปีกเทวฑูต และรัศมีการสถิตย์ของพระจิต
ไร้ซึ่งการตกแต่ง คือการตกแต่งที่ดีที่สุด
สีขาว และความเรียบง่ายที่เกิดขึ้นภายในอาคาร องค์ประกอบน้อยชิ้นที่ตกแต่งเท่าที่จำเป็น เช่น รูปปั้นของพระเยซู ตู้เก็บศีล และแท่นทำพิธี เฟอร์นิเจอร์และเก้าอี้นั่งต่างๆที่ทำจากไม้โอ๊คถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ลงตัวกับพื้นที่ต่างๆภายใน รวมถึง กระจก หินอ่อน และพื้นหินขัดสีขาวที่เป็นไปในทางเดียวกัน ประดุจไร้ซึ่งการตกแต่ง แต่คือการตกแต่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ตัวอาคารเป็นเพียงฉากหลังของพิธีกรรมและธรรมชาติโดยรอบ
ซึ่งรูปแบบการวางผังโบสถ์นั้น คล้ายกับโบสถ์ในยุคเก่า ที่ยังคงมีห้องล้างบาป อยู่ทางด้านซ้ายเมื่อก้าวเข้ามาภายในโบสถ์หลังนี้ และห้อง Crying room ที่อยู่ด้านซ้ายถัดมา พื้นที่สำหรับพ่อแม่ที่มีเด็กมาร่วมพิธีต่างๆทางศาสนาศริสต์ด้วย
ด้านขวาของพื้นที่ทำพิธีตรงกลาง จะเชื่อมต่อกับห้องเปลี่ยนชุดของบาทหลวงและผู้มีบทบาทสำคัญในการทำพิธีต่างๆ โดยมีพื้นที่ล้างภาชนะศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่แขวนชุดหลังจากพิธีการเสร็จสิ้น ซึ่งในขณะเดียวกันยังสามารถเป็นพื้นที่นั่งสำหรับบาทหลวงที่ส่วนใหญ่อายุค่อนข้างมากได้อีกด้วย
ส่วนด้านซ้ายของพื้นที่ทำพิธี เป็นห้องเก็บของที่ไว้เก็บสิ่งของที่สำคัญในการทำพิธีต่างๆ
แสงธรรมชาติกระทบ สถาปัตยกรรม
ภาพธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ด้านหลังรูปปั้นของพระเยซู ผ่านช่องเปิดแนวดิ่งที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งองค์ประกอบช่องเปิดต่างๆที่ซ่อนอยู่ภายในโบสถ์หลังนี้ ซึ่งยังมีการเปิดช่องแสงจากด้านบนไล่ตามแนวยาวของอาคาร เพื่อเปิดแสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามาผ่านเส้นสายทางสถาปัตยกรรมที่ความโค้งละมุนตา ทำให้ความรู้สึกปลอดภัยประหนึ่งอยู่ในครรภ์ของมารดา
ช่องแสงที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาในช่วงกลางวันโดยไม่ต้องอาศัยแสงไฟจากหลอดไฟ ซึ่งในเวลา 10 โมงเช้า แสงจะมีความสวยงามมากที่สุด ซึ่งเป็นเวลาของพิธีมิสซาพอดิบพอดี
ช่องว่างรูปไม้กางเขน ซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาคริสต์ ถูกออกแบบไว้ด้านข้าง ซึ่งเมื่ออยู่ในห้อง Crying room นั้นจะสามารถมองเห็นพระแม่มารีย์ผ่านช่องเปิดรูปไม้กางเขนนี้ได้อย่างพอดิบพอดี
การใช้แสงจากธรรมชาติภายในอาคารเพื่อให้ความรู้สึกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าในธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นแสงที่ลอดผ่านช่องแสงและเงาของเมฆที่ทอดลงบนผนังอาคาร เกิดการสื่อสารกันระหว่างสถาปัตยกรรมและแสงในสภาวะอากาศร้อนชื้นของเกาะสมุย ทำให้จำเป็นจะต้องสร้างช่องที่มีลักษณะแคบยาว และฉากรับเงาที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงปีกที่ยื่นขึ้นทะลุช่องแสงเพื่อสร้างขอบเขตของเงา เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาจากธรรมชาติภายนอก โดยให้สูญเสียภาวะสบายภายในอาคารให้น้อยที่สุด
ผนังฉนวน เบาลอย ยืดหยุ่น
ในส่วนของรายละเอียดโครงสร้างอาคาร เสาคอนกรีตทุกต้นที่โค้งรับกับผนังถูกหล่อขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างและรากฐานที่แข็งแรง แต่ในส่วนของโครงสร้างผนัง มีการใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นผนังที่มีเนื้อโฟมแทรกอยู่ด้านใน นอกจากจะช่วยในเรื่องของน้ำหนักที่เบา ความยืดหยุ่นที่รับกับองศาโค้งของอาคารแล้ว ยังเป็นฉนวนสามารถดูดซับเสียงและความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
โบสถ์หลังนี้ เป็นอีกหนึ่งประเภทอาคารที่นำเสนอการตกแต่งด้วยความเรียบง่ายของวัสดุ และองค์ประกอบที่ถูกปรุงแต่งให้น้อยที่สุดเพื่อให้ผู้ร่วมพิธีกรรมหรือผู้ใช้งานภายในอาคาร จดจ่ออยู่กับการภาวนา พิธีกรรม และบรรยากาศของธรรมชาติเท่านั้น เพื่อการระลึกถึงความสงบภายในจิตใจ และความนอบน้อมต่อความยิ่งใหญ่อันแสนเรียบง่ายของพระเจ้าผู้สร้างสรรค์ธรรมชาติทั้งปวงนั่นเอง