เชื่อว่าหลายๆครอบครัวคงมี “สัตว์เลี้ยง” เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อาศัยร่วมกันภายในบ้านอยู่ไม่มากก็น้อย หรือยอมให้สัตว์เข้ามาอาศัยอยู่ภายในพื้นที่บ้านของตัวเอง และสำหรับคนรักสัตว์แล้ว ย่อมเข้าใจดีว่า เจ้าเพื่อนผู้น่ารักเหล่านี้ต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัวไม่ต่างจากมนุษย์ วันนี้ DsignSomething จึงอาสานำเสนอไอเดียสำหรับ “การออกแบบบ้านสัตว์” ที่นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นแนวคิดดีๆสำหรับการอยู่อาศัยระหว่างคนและสัตว์ ได้อย่างลงตัว
Designer : studio schicketanz and lewis builders
-โฮ่ง โฮ่ง-
“สุนัข” เพื่อนรู้ใจสี่ขาที่เรานิยมเลี้ยงไว้ภายในบ้าน ซึ่งหากฝึกกันตั้งแต่เล็กๆ สุนัขส่วนใหญ่จะนอนเป็นที่เป็นทาง รู้จักอาณาเขตของตนเอง และรู้ว่าที่ตรงไหนไม่สามารถไปได้ ส่วนใหญ่สุนัขจะใช้เวลาส่วนตัวในบ้านของตัวเองแค่การนอน การจะสร้างพื้นที่ส่วนตัวสำหรับน้องหมานั้น มักจะเป็นพื้นที่ที่กว้างเพียงพอให้กลับตัวเพื่อหันหน้าออกมานอนได้ เพราะทำให้น้องหมารู้สึกถึงความปลอดภัย
Designer : badmarlon design studio
การออกแบบจึงมักมีช่องเปิดใหญ่ เป็นเหมือนทางเข้าหลักทางเดียว รูปทรงเหลี่ยม กลม แตกต่างกันไปตามความสวยงาม ซึ่งถ้าหากออกแบบดีๆให้เข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้านของเรา ก็จะเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เท่ๆ ตกแต่งบ้านชิ้นนึงเลยทีเดียว
รูปภาพจาก adorable-home
หากอยากให้พื้นที่ของสุนัขดูกลมกลืนไปกับการตกแต่งภายในของบ้าน การดัดแปลงเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น เช่น โต๊ะข้างเตียง เคาน์เตอร์ หรือสร้างพื้นที่ใต้บันไดก็ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ดี นอกจากจะประหยัดพื้นที่แล้ว ยังเป็นการใช้พื้นที่นั้นๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
Designer : acatthing
-เหมียว เหมียว-
ทาสแมวคงทราบกันดีว่า แมวนั้นมีพฤติกรรมชอบการปีนป่าย แถมยังเป็นนักสำรวจตัวยง พื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์นิสัยของแมวได้คงต้องมีความซับซ้อนของก้อนสถาปัตยกรรม มีช่องเปิดเกิดขึ้นหลากหลายทิศทางให้แมวได้ลอดผ่านไปมาได้ ซึ่งที่อยู่ของแมวส่วนใหญ่จะมีลักษณะซ้อนกันในแนวตั้ง หรือที่นิยมเรียกว่า “คอนโดแมว” นั่นเอง
Interior designer : INDOT
การออกแบบแท่นคล้ายชั้นวางยื่นสลับระดับออกมาจากกำแพงบ้าน เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างเส้นทางการเดินเล่นสำหรับแมวได้ง่าย และประหยัดพื้นที่ ซึ่งหากเติมเต็มความสร้างสรรค์เข้าไปก็อาจจะกลายเป็นงานตกแต่งภายในของบ้านที่สวยงามได้อย่างไม่คาดคิด
รูปภาพจาก suddenlycat และ weburbanist
นอกจากนี้แมวชอบฝนเล็บเนื่องจากสัญชาตญาณของนักล่า และผ่อนคลายกล้ามเนื้อตัวเอง วัสดุอย่าง เชือก พรม เสื่อ แผ่นไม้ กระดาษลัง จึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการสร้างพื้นที่ของแมว เพราะสามารถรองรับแรงขีดข่วนของเจ้าเหมียวได้ดี ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของ ที่ต้องคอยแอบสังเกตดูเพื่อปรับให้เหมาะสมกับแมวของตนเองด้วย
-จิ๊บ จิ๊บ-
“บ้านนก” ที่เรามักเห็นกันในของสำหรับตกแต่งสวน ลักษณะคล้ายบ้านย่อส่วน สถาปัตยกรรมที่สร้างมาให้นกใช้ทำรังเพื่อเป็นสถานที่วางไข่ และเลี้ยงดูลูกนก ซึ่งโดยตามธรรมชาติแล้วนกจะเลือกสร้างรังตามต้นไม้ หรือตามที่สูงภายในบ้าน เช่น ใต้หลังคา บานเกล็ด หรือช่องหน้าต่าง การสร้างบ้านนกขึ้นมาจึงทำให้นกทำรังแบบเป็นที่เป็นทางไม่รบกวนต้นไม้บริเวณบ้านเรา หรือพื้นที่ตัวบ้านนั่นเอง
Designer: sourgrassbuilt
รูปภาพจาก Pinterest
ขนาดของบ้านนกจะไม่ใหญ่มากเพราะต้องการแค่พื้นที่สำหรับการวางไข่และกกไข่ เมื่อมีนกเข้ามาอยู่นกจะเริ่มคาบเศษไม้ใบหญ้าเข้ามาเพื่อกักเก็บความอบอุ่นด้านใน ทำให้ทางเข้ามีขนาดเล็กเพียงทางเดียวและพื้นที่ค่อนข้างปิด นอกจากนี้ยังนิยมออกแบบให้มีแท่งยื่นเล็กๆออกมาจากตัวบ้าน เพื่อให้นกสามารถเกาะได้สะดวกขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการออกแบบรูปทรงที่หลากหลายมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการจัดที่ทางให้กับนกแล้ว ยังเป็นของตกแต่งภายในสวนของบ้านที่สวยงามไปในตัวอีกด้วย
ไอเดียในการออกแบบกระเบื้องหลังคาให้เป็นบ้านนก ออกแบบโดย klaas kuikenall
-กุ๊ก กุ๊ก-
สัตว์เลี้ยงพื้นบ้านอย่างไก่ ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงด้านนอกเพื่อการเกษตร ซึ่ง “สุ่มไก่” ที่เรารู้จักกันดีในฐานะที่จำกัดบริเวณของไก่ เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมสำหรับสัตว์ที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาไทยคุ้นตา งานหัตกรรมจักสานที่ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ อย่างหวาย ไม้ไผ่รวก และไม้ไผ่ต่างๆ ซึ่งหาได้ง่ายและราคาไม่แพง
Designer : SoomkaiPremium
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของสุ่มจะอยู่ที่ประมาณ 0.8-1.5 เมตร สูงประมาณ 0.7 เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับไก่หนึ่งตัวอาศัยอยู่ ซึ่งการออกแบบสุ่มไก่ในปัจจุบันมีแบบที่สามารถพับเก็บได้ เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการใช้งานด้วย
ไอเดียการออกแบบเล้าไก่ดีๆจากประเทศเวียดนาม ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของไก่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการวางไข่ ขุดดิน หรือวิ่งเล่น ซึ่งออกแบบพื้นที่ให้คนสามารถเข้าไปใช้งานร่วมกันได้ด้วย ออกแบบโดย Tropical Space
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ของคนหรือสัตว์ ต่างต้องตอบสนองพฤติกรรมการอยู่อาศัยด้วยกันทั้งนั้น