“บ้านที่ซ่อนเร้นฟังก์ชันจากภายนอก แต่เปิดเผยชีวิตและความอบอุ่นจากภายใน”
Location: นวมินทร์, กรุงเทพฯ
Owner:ขวัญชัย ลุประสิทธิวร
Architect: จีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ, ระพีพัฒน์ รัตนโชติ, ฉัตรชัย ดิษดี จากบริษัท Message design studio
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
เมื่อสภาพแวดล้อมรอบข้างไม่ลงตัว การสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการออกแบบ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในซอยที่พลุกพล่านด้วยผู้คนตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังมีอพาร์ทเม้นท์ตั้งตระหง่านอยู่ทางหน้าบ้าน เมื่อมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างน้อย สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือจะสามารถสร้างระดับขั้นของความเป็นส่วนตัวอย่างไร ให้ผู้ใช้งานภายในบ้านอยู่แล้วไม่อึดอัดแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถปิดบังสายตาจากผู้คนภายนอกได้
บ้านหลังนี้มีขนาดที่ดิน 50 ตารางวา เป็นบ้าน 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน 1 ห้อง และคอร์ทกลางบ้าน ส่วนชั้น 2 จะมีโถงบ้านและห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง ด้วยสถานที่ตั้งของบ้านหลังนี้อยู่ในซอยนวมินทร์ เป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น หน้าซอยเข้าบ้านเป็นตลาดที่เปิดตลอดทั้งวัน และรอบข้างบ้านถูกรายล้อมด้วยบ้านพักที่อยู่ชิดติดกับรั้วบ้านและมีอพาร์ทเม้นท์อยู่ฝั่งตรงข้าม บ่อยครั้งจึงเกิดเสียงดังรบกวนและมีผู้คนเดินผ่านไปมาตลอดบริเวณหน้าบ้าน การสร้างความเป็นส่วนตัวจึงเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้
คุณจีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ คุณระพีพัฒน์ รัตนโชติ และคุณฉัตรชัย ดิษดี สถาปนิกผู้ออกแบบ
คุณขวัญชัย ลุประสิทธิวร เจ้าของบ้าน จึงให้คุณจีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ คุณระพีพัฒน์ รัตนโชติ และคุณฉัตรชัย ดิษดี ผู้เป็นทั้งเพื่อนและสถาปนิกจากบริษัท Message design studio เป็นผู้ออกแบบ
แผนผังอาคารชั้น 1 และ 2
การสร้างความเป็นส่วนตัวจากสภาพแวดล้อม
จากข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ดินและขอบเขตย่นระยะอาคารตามกฎหมายเทศบัญญัติ สถาปนิกจึงวางผังบ้านให้อยู่ชิดขอบเขตที่ดินมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเว้นระยะ Setback 1 เมตร สำหรับผนังทึบ และ 2 เมตรสำหรับผนังที่มีช่องเปิด เพื่อการสร้างสรรค์พื้นที่การใช้งานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
แต่ทั้งนี้ก็คำนึงถึงการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับคนในบ้าน ด้วยการสร้าง ‘Layer’ หรือสร้างลำดับชั้นของความเป็นส่วนตัวด้วยการแบ่งเสปซจากการมีอิฐบล็อคช่องลมและคอร์ทกลางบ้าน เสมือนเป็นระดับในการเข้าถึงตัวบ้าน ซึ่งสามารถทำได้ 2 แบบคือ การเข้าบ้านจาก Public Space สู่ Private Space ตามปกติ (จากที่จอดรถ ไปยังห้องนั่งเล่นและห้องนอน) หรือเข้าสู่ส่วน Private Space โดยไม่ต้องผ่านส่วน Public Space ด้วยการเข้าจากคอร์ทกลางบ้าน
คอร์ทกลางบ้าน สารพัดประโยชน์
เมื่อขอบเขตผังอาคารถูกวางจนชิดขอบที่ดิน จึงอาจจะเกิดปัญหาเรื่องช่องเปิดภายในบ้านได้ คุณจีรศักดิ์จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างคอร์ทในพื้นที่กลางบ้าน ช่วยให้เกิดการระบายอากาศภายในอาคารและยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้กับผู้อยู่อาศัยมาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันในบริเวณนี้นั่นเอง
โดยปกติถ้าบ้านมีพื้นที่ที่จำกัดแล้วคอร์ทมักจะอยู่หน้าบ้าน แต่บ้านหลังนี้คอร์ทถูกดันให้อยู่กลางบ้าน จากเหตุผลเรื่องการสร้างระดับความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนั้นยังสร้างบรรยากาศผ่อนคลายด้วยการออกแบบสวนหินและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
เมื่อมองจากภายนอกจะมองเห็นพื้นที่คอร์ทไม่ชัดเจนเพราะมีอิฐบล็อคช่องลมบังสายตา แต่หากมองจากมุมมองภายในจะพบกับพื้นที่เปิดโล่งอันเป็นส่วนตัวซึ่งปราศจากสิ่งรบกวนจากภายนอกและมีลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน
การบังสายตาแบบมีลำดับ ด้วยอิฐบล็อคช่องลม
นอกจากการสร้างลำดับความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังสามารถสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ในบ้านด้วยการใช้วัสดุที่สามารถพรางสายตาจากภายนอกได้ ซึ่งบ้านหลังนี้เลือกใช้ ‘อิฐบล็อคช่องลมสำเร็จรูป’ เพราะมีความสอดคล้องกับโครงสร้าง ช่องเปิดและลักษณะทางกายภาพของอาคารที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกัน
มากไปกว่านั้นอิฐบล็อคช่องลมยังเป็นวัสดุที่มีความหนามากกว่าวัสดุอื่นๆ เมื่อมองมุมตรงจะมองเห็นภายในอาคารแบบไม่ชัดเจน แต่ถ้ามองจากมุมข้างหรือมุมเฉียง ความหนาของอิฐจะช่วยปิดบังซ่อนเร้นพื้นที่ภายในอาคารได้มากกว่าการใช้ระแนงไม้หรืออะลูมิเนียมแบบทั่วไป กล่าวคือจากภายในจะสามารถมองเห็นภายนอกได้เฉกเช่นเดิม แต่จากภายนอกจะไม่สามารถเห็นภายในได้เพราะมีอิฐบล็อคช่องลมกั้นระยะสายตานั่นเอง
ในส่วนบันไดขึ้นชั้น 2 โถงบ้าน และห้องนอน จะเป็น Double Façade ซึ่งภายในสุดเป็นกระจกใสและภายนอกเป็นผนังอิฐบล็อคช่องลม ช่วยเปิดทิวทัศน์ให้กับผู้พักอาศัย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถปิดบังซ่อนเร้นจากผู้คนภายนอก
ความเป็นส่วนตัวของครอบครัวในบ้าน
เนื่องจากผู้ใช้งานในบ้านประกอบด้วยบิดา มารดา และครอบครัวของบุตรอีก 2 ครอบครัว ทำให้มีสมาชิกในบ้านถึง 8 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในการออกแบบบ้าน เพราะขนาดพื้นที่บ้านมีเพียง 200 ตารางเมตร คุณจีรศักดิ์ จึงออกแบบบ้านด้วยการ Share Function เช่น มีห้องน้ำรวมในส่วนชั้น 1 และชั้น 2 เพื่อลดขนาดพื้นที่การใช้งาน และออกแบบ Common Space ในพื้นที่ทั้ง 2 ชั้น หรือมีคอร์ทกลางบ้านเพื่อสร้างสเปซในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของครอบครัว
“ผมพยายามออกแบบบ้านให้เรียบง่ายที่สุดเพื่อสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านออกมา เพราะสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นของผู้ออกแบบ แต่เป็นของผู้ใช้งาน” คุณจีรศักดิ์ สถาปนิกผู้ออกแบบกลาวปิดท้ายกับเรา
เพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สามารถแสดงออกถึงภาษาอาคารและตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ภายนอกคือการซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยตัวตนสู่ภายนอกสร้างความเป็นส่วนตัว ส่วนภายในคือการสร้างความรู้สึกที่เปิดโล่ง จากพื้นที่ Common Space ซึ่งเป็นคอร์ทกลางบ้านที่ผู้ใช้งานต่างมีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะเห็นได้ว่าแม้บ้านจะมีพื้นที่ที่จำกัด แต่การออกแบบก็สามารถทำให้พื้นที่จำกัดนั้นกลายเป็นบ้านแห่งความสุขของครอบครัว ผ่านแนวคิดอาคารและการจัดสรรฟังก์ชันออกมาได้อย่างน่าสนใจ