OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

รูปทรงแห่งความสุขที่เปิดสู่ท้องฟ้า…บ้านพุงกลม

“ความลงตัวของบ้าน ออฟฟิศ และโกดัง ภายใต้สถาปัตยกรรมสีขาวรูปทรงเกลี้ยงเกลาและเรียบง่าย”

บ้านพุงกลม
Owner : คุณพัฒน์ และ คุณวันวิสาข์ อังศุธรรม
 Architect : เผดิมเกียรติ สุขกันต์ แห่ง Studiomiti
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

เมื่อพูดถึงความแตกต่างของพื้นที่ใช้งานระหว่างบ้านกับสถานที่ทำงาน การรวมพื้นที่ให้ลงตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากได้รับการออกแบบจากสถาปนิกที่เข้าใจผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างดี ก็ย่อมทำให้การใช้ชีวิตในสถานที่นั้นเต็มไปด้วยความสุขและความเรียบง่าย เช่นเดียวกับ “บ้านพุงกลม”หลังนี้ ที่เจ้าของบ้านอย่าง คุณพัฒน์และคุณวันวิสาข์ อังศุธรรม” ไว้ใจให้สถาปนิกเพื่อนสนิท “คุณเติ้ล-เผดิมเกียรติ สุขกันต์” สถาปนิกจาก Studio miti  รีโนเวทบ้านหลังเก่าให้มีชีวิตใหม่ หลังจากพบหลากหลายปัญหาในการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อนหน้านี้

ด้วยความที่เจ้าของบ้านมีธุรกิจเป็นผู้นำเข้าของใช้แม่และเด็ก ชื่อว่า “พุงกลม” การขยับขยายกิจการสู่บ้านหลังใหม่จึงมีส่วนของออฟฟิศ และโกดังสต็อกสินค้าด้วย ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการรีโนเวทพื้นที่แห่งนี้โดยผู้รับเหมาที่จ้างมา และก็พบปัญหาหลายอย่าง เรื่องของคุณภาพไม่ค่อยดี สัดส่วนไม่ลงตัว จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาไป คุณเติ้ลผู้มารับช่วงต่อจากเดิมที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว 2 หลัง ส่วนอีกหนึ่งหลังถูกต่อเติมใหม่ ด้วยการตีความบ้านหลังนี้โดยการสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัยออกมา

“คุณเติ้ล-เผดิมเกียรติ สุขกันต์” สถาปนิกจาก Studio miti ผู้ออกแบบบ้านพุงกลมหลังนี้

ขาวสะอาดตา น่าสบายใจ

ภาพภายนอกของบ้านหน้าตาเกลี้ยงเกลา รูปทรงง่ายๆ ประหยัดช่องเปิด นั่นเป็นเพราะว่าเจ้าของชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการการมองเห็นจากภายนอกมากนัก ส่วนที่มาของสีขาวนั้น เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับธุรกิจของเจ้าของบ้านที่เกี่ยวกับของใช้เด็กซึ่งดูสะอาดและสบายตา โดยบ้านจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนพักอาศัย ส่วนออฟฟิศ และส่วนเก็บสินค้าหรือโกดัง

Section ที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของบ้านที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน

ในพื้นที่พักอาศัยด้านล่างจัดวางเป็นห้องนั่งเล่น กับมุมโต๊ะทำงาน มีความเรียบง่ายและมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เพื่อให้ห้องดูโปร่งโล่งมากขึ้น ด้านหลังจะเป็นส่วนของเซอร์วิสทั้งหมด อย่างบันได ห้องน้ำ และPantry

มีการใช้พื้นที่ของผนังบ้านให้เป็นประโยชน์ โดยทำเป็นหิ้งพระ

สตูดิโอเล็กๆ พื้นที่ชั้นสองที่เกิดขึ้นภายในส่วนของสำนักงาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายพื้นที่ใต้บันไดเล็กๆ น่ารักและลงตัว

เปิดมุมมองสู่ท้องฟ้า

“ฟ้าเป็นสิ่งที่มองได้ไกลที่สุด และมองได้ตลอดเวลา” คำตอบของสถาปนิกเมื่อเราถามถึงการเปิดมุมมองต่างๆทั้งภายในและภายนอกของบ้าน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้สวยงามนัก บวกกับที่ต้องการความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน จึงทำให้สถาปนิกเลือกที่จะทำรั้วต้นไม้พรางสายตาจากภายนอก และเลือกเปิดสู่ท้องฟ้าแทนเพราะเป็นสิ่งที่สามารถเห็นความสวยงามได้ตลอดเวลา

ในขณะเดียวกันก็เลือกเปิดมุมมองเชื่อมต่อภายในบ้านเอง จากห้องนั่งเล่นในส่วนของที่อยู่อาศัยทะลุไปยังส่วนของออฟฟิศเพื่อการดูแลน้องๆพนักงานอย่างทั่วถึง โดยความพิเศษอยู่ที่สวนหินสีขาวทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่พักอาศัยกับออฟฟิศ เสมือนเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายความรู้สึกและฟังก์ชัน เช่น สามารถจัดให้เป็นพื้นที่สังสรรค์ในโอกาสต่อๆได้ด้วย

สวนหิน พื้นที่ตรงกลางเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน เป็นมุมที่เมื่อเดินเข้าประตูบ้านมาจะเจอเป็นลำดับแรก

ทดลองแผ่นเดียวกัน

ผนังและหลังคาที่เชื่อมต่อเป็นแผ่นเดียวกัน เป็นการทดลองที่เกิดขึ้นใหม่ของสถาปนิก รูปแบบอันเกลี้ยงเกลาสามารถสร้างความโดดเด่นให้บ้านหลังนี้เป็นที่จดจำได้ แต่ทว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น การออกแบบให้หลังคาที่ฉาบปูนทรงจั่วโดยไร้ชายคาจึงจำเป็นต้องมีฉนวนกันความร้อนภายใน คล้ายแซนวิชที่สอดไส้แผ่นโฟมด้านใน

ภายในห้องนอนจัดวางแบบเรียบง่ายอย่างเป็นระเบียบ ฝ้าเพดานเฉียงให้ความรู้สึกเหมือนห้องใต้หลังคา มีที่นั่งติดริมกำแพงเป็นแนวยาวติดกับช่องเปิดเล็กๆอย่างหน้าต่าง ที่มีความพิเศษคือเป็นหน้าต่างกระจกใสที่เชื่อมต่อกันระหว่างผนังและหลังคา สามารถเปิดเพื่อนอนมองท้องฟ้าในยามกลางคืนได้ หรือเลือกปิดด้วยม่านระบบออโต้ได้หากต้องการความเป็นส่วนตัว 

ลึกเข้าด้านใน

เนื่องจากรูปทรงของบ้านที่ผนังมีการเชื่อมต่อกับหลังคา ทำให้บ้านไม่มีชายคา ช่องเปิดต่างๆภายในบ้านจึงถูกออกแบบให้ลึกเข้าไปกว่าปกติ 30 เซนติเมตร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝนสาด และแดดส่อง อีกทั้งมีการซ่อนรางน้ำไว้ด้านบนเพื่อไม่ให้น้ำไหลลงมาด้านล่างแล้วกลายเป็นคราบอีกด้วย

ส่วนพื้นที่ระเบียงที่เชื่อมต่อออกมาจากห้องนอนนั้น เมื่อมองจากด้านหน้าบ้าน ตำแหน่งจะอยู่ตรงกับประตูทางเข้า ซึ่งเป็นวัสดุไม้เหมือนกัน เมื่อตัดกับสีขาวของตัวบ้านแล้ว ทำให้เกิดเอกลักษณ์สะดุดตา นอกจากนั้นยังเป็นดั่งร่มเงาที่เชื่อมต่อพื้นที่ด้านล่าง ระหว่างออฟฟิศและที่อยู่อาศัยอีกด้วย

สุดท้ายแล้วบ้านหลังนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการออกแบบ รวมถึงสามฟังก์ชันเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัวภายใต้บ้านที่รูปทรงเกลี้ยงเกลา สีขาว ง่ายๆ แต่มีความสุข

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading