OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปัตยกรรมสารเลว กับมุมมองที่แตกต่างของคุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล แห่ง CHAT Architects

ตลาด สลัม หรือบ้านคนงานก่อสร้าง ดูจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่น่าพิสมัย แต่กลับซ้อนเร้นด้วยความงามและการออกแบบที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ตลาด ตึกแถวเก่า และบ้านคนงานก่อสร้าง เป็นสิ่งที่เราเห็นทุกวันบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้ความธรรมดานี้ กลับแอบแฝงด้วยความคิดสร้างสรรค์ของสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการประยุกต์ใช้สิ่งรอบตัวและการออกแบบที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พักอาศัยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนี่คือโครงการรีเสริชของคุณอั๋น ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมลแห่ง CHAT Architects ในชื่อโปรเจคที่ว่า Bangkok Bastards หรือสถาปัตยกรรมสารเลว

คุณอั๋น ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล แห่ง CHAT Architects

Bangkok Bastards เป็นการศึกษาและทำโครงการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ ตามความเข้าใจของเขา แม้จะไม่มีความรู้ด้านการออกแบบ แต่การออกแบบของพวกเขาก็สอนผม ให้ใส่ใจถึงความเรียบง่าย คำนึงถึงคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้พักอาศัยได้พอสมควรเลยครับ” คุณอั๋นกล่าวถึงโปรเจค Bangkok Bastards กับเรา

DSS: ทำไมถึงใช้ชื่อ Bangkok Bastards (สถาปัตยกรรมสารเลว)?

Chatpong: คำว่า Bastard หมายความว่าลูกที่ไม่มีพ่อ แต่ถ้าเป็นคำแสลงจะแปลว่าสารเลว ซึ่งผมคิดว่ามันเหมาะกับประเภทอาคารที่ผมศึกษา เพราะคนส่วนมากจะเห็นว่าอาคารประเภทนี้ บ้านคนงานก่อสร้าง สลัม แผงลอยเป็นสถาปัตยกรรมชั้นต่ำ เหม็น สกปรก อันตราย และเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ความสำคัญ ผมจึงตั้งชื่อนี้ตามความหมายตรงๆ เลยครับ

ผมว่าสถาปัตยกรรมพวกนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมอะไรที่กว้างมากในปัจจุบัน และยังเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่คนกรุงเทพสร้างขึ้นมาอย่างแท้จริงอีกด้วย ซึ่งจะคล้ายคลึงกับบ้านไทยเดิมของเรา แต่แตกต่างในเรื่องวัสดุและบริบทที่นำมาใช้ เมื่อประมาณ 100 – 200 ปีที่แล้ว การสร้างบ้านเรือนไทยจะค่อนข้างง่าย เพราะใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุใกล้ตัวและราคาถูก ส่วนในปัจจุบันบ้านชั่วคราวหรือบ้านคนงานก่อสร้างที่ชาวบ้านสร้างกันเอง ก็จะใช้วัสดุใกล้ตัว เช่น ซีเมนท์ ไฟเบอร์บอร์ด สังกะสี หรือเศษไม้จากไซท์งานก่อสร้างเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้คือการสร้างสถาปัตยกรรมที่พอเพียงที่สุด ซึ่งผมคิดว่าตัวชุมชนที่เราเห็นทั่วๆ ไปนั้น ไม่แตกต่างจากบ้านเรือนไทยในประวัติศาสตร์ซักเท่าไรครับ

DSS: อะไรคือจุดเริ่มต้นของ Bangkok Bastards?

Chatpong: ผมเริ่มศึกษา Bangkok Bastard หรือสถาปัตยกรรมสารเลว เพราะคิดว่าในกรุงเทพมีเรื่องราวน่าสนใจเต็มไปหมด แต่เราจะเชื่อมโยง จะเสพอย่างไรให้ได้ประโยชน์ และคิดว่าตัวผมเองยังมีความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นไม่เพียงพอ เพราะสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในบ้านเราไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ที่จะสื่อว่าสถาปัตยกรรมในปัจจุบันคืออะไร คือเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในประวัติศาสตร์ เช่น วัด บ้านเรือนไทย โดยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถามว่าสามารถนำมาใช้ในการใช้ชีวิตของชาวเมืองยุคปัจจุบันได้รึเปล่า สำหรับผม ผมมองว่ายังไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้นครับ

“ผมเลยพยายามมองหาสถาปัตยกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน และคนไทยเป็นคนสร้างขึ้นด้วยตนเอง”

DSS: กรณีศึกษาชิ้นแรกของ Bangkok Bastards?

Chatpong: เริ่มต้นจากบ้านคนงานก่อสร้างครับ ไซท์ที่ผมสนใจเป็นไซท์ที่ผมขับรถยนต์ผ่านทุกวัน แต่ทุกๆ วันจะเห็นบ้านคนงานมีแสลนปิดบังอยู่ วันหนึ่งขับรถยนต์ผ่านแล้วเห็นลมตีผ้าแสลนขึ้นไป ผมเลยเห็นสเปซข้างในและก็เกิดความสนใจขึ้นมา รู้สึกว่าข้างในค่อนข้างแปลกและเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น เมื่อผมได้มองลอดเข้าไปข้างในก็พบนั่งร้านขนาดใหญ่เรียงต่อกันเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่น่าสนใจคือฟังก์ชันทุกอย่างเกิดขึ้นที่นั่งร้านนี้ ทั้งการตากผ้า กินข้าว การพบปะสังสรรค์ กล่าวคือชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นบนนั่งร้านนี่เอง

ไดอะแกรมแสดงการใช้สเปซของบ้านคนงานก่อสร้าง

วันรุ่งขึ้นผมเลยตัดสินใจขออนุญาตผู้พักอาศัยในบ้านคนงานก่อสร้างเข้าไปถ่ายรูป ไปเดินสำรวจสเปซข้างใน และเริ่มทำความเข้าใจว่าวิธีที่พวกเขาอยู่และก่อสร้างเป็นอย่างไร ก็รู้สึกประทับใจนะครับ เพราะได้เจอสิ่งใหม่ๆ และพบเรื่องราวที่น่าสนใจในนั้น และคิดว่าถ้าเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเป็นการสอนตัวเองในเรื่องงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้อย่างสมบูรณ์ จึงเริ่มต้นการวิจัยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาครับ

โปรเจคชุมชนริมน้ำคลองสามเสนที่คุณฉัตรพงษ์และทีมได้เข้าไปคุยกับผู้พักอาศัยและขอเข้าไปวัดพื้นที่ภายในบ้าน

DSS: ทำไมต้องบ้านคนงานก่อสร้าง ?

Chatpong: ผมมองว่าบ้านคนงานก่อสร้างเป็นอาคารที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ คนงานก่อสร้างจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างนั้นๆ พวกเขาสร้างบ้านจากเศษวัสดุเหลือใช้หน้างานก่อสร้าง ผมว่ามีความน่าสนใจเพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากกองขยะ มีความน่ารักและความพอเพียงในการนำของเหล่านี้มาสร้างสเปซที่ตอบโจทย์ฟังก์ชันง่ายๆ หรือก็คือการดำเนินชีวิตอย่างง่ายที่สุด

จะพบว่าบ้านคนงานก่อสร้างเป็นห้องขนาดเล็ก ไม่ค่อยน่าอยู่ แต่เขาจะสร้างนั่งร้าน โดยระเบียงเป็นโครงไม้หรือโครงเหล็กเบาเพื่อเปิดพื้นที่ส่วนกลาง และออกมาใช้ชีวิตในส่วนนี้มากกว่าในห้องที่มีอากาศร้อนและคับแคบ

ซึ่งผมมองว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในสถาปัตยกรรมไทยหรือในบ้านเมืองร้อน คือการใช้พื้นที่ร่วมกันและการออกแบบฟังก์ชันให้เกิดการถ่ายเทอากาศที่ดี

เป็นเพราะรีเสริชครั้งนี้ผมได้รู้จักและทำความเข้าใจกับสเปซสวยๆ ในกรุงเทพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การใช้พื้นที่ของพวกเขา ซึ่งจะมีพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กที่ดีมากๆ ต่อเติมออกจากห้องพัก เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งได้รับแสงธรรมชาติและมีลมพัดผ่าน ถึงแม้ว่าจะมีขนาดเล็กหรือเป็นระเบียงแคบๆ แต่ก็เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งสามารถทำทุกอย่างในบริเวณนั้นได้ เช่นตากผ้า ทำกับข้าว เป็นที่กินเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยสอนให้ผมเริ่มออกแบบสเปซที่ยืดหยุ่นในอาคารครับ

ไดอะแกรมแสดงภาพชุมชนริมน้ำคลองสามเสน

DSS: ขั้นตอนการทำรีเสริชของคุณฉัตรพงษ์ ?

Chatpong: เริ่มจากทำไดอะแกรมง่ายๆเพื่ออธิบายว่าตัวสถาปัตยกรรมทำหน้าที่อะไร แต่พอถึงจุดหนึ่งผมคิดว่าแค่การทำไดอะแกรมยังไม่พอ เพราะบ้านแต่ละแห่งจะมีรายละเอียดเยอะมาก ผมเลยเข้าไปสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง เริ่มจากวัดพื้นที่ วาดแปลน และวาดรูปตัดอย่างละเอียด เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาและเก็บเป็นข้อมูลไว้ครับ

DSS: สถาปัตยกรรมไทยในหมายความของคุณฉัตรพงษ์ ?

Chatpong: ผมว่าจริงๆแล้วไม่มีสถาปัตยกรรมไทยที่แน่นอน แต่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในที่นั้นๆมากกว่า และที่ผมศึกษาคือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในกรุงเทพ ซึ่งเกิดขึ้นจากชีวิตธรรมดาไม่โดนปรุงแต่ง ตัวสถาปัตยกรรมจะเป็นอะไรที่ง่ายและเป็นพื้นฐานมากที่สุด แต่ในความง่ายนี้ก็จะมีความคิดสร้างสรรค์แอบแฝงอยู่ในนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมท้องถิ่นบ้านเรามีเอกลักษณ์และน่าจับตามองมากเลยครับ

เป็นเพราะเราอยากรู้มากขึ้น เราเลยศึกษามากขึ้น เราจึงตั้งคำถามว่าอะไรคือ Thai Architecture ที่แท้จริง ?

Sala Areeya

DSS: Bangkok Bastard มีความเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรม และวงการสถาปัตยกรรมอย่างไร?

Chatpong: จะเห็นว่าดีไซน์ที่ผมทำจะเกี่ยวข้องกับชุมชน บ้านเมือง เพราะผมพยายามเรียนรู้วิธีการคิด การก่อสร้างของชาวบ้าน ซึ่งเต็มไปด้วยพับลิคสเปซ เต็มไปด้วยการใช้ชีวิต รวมทั้งการนั่งคุยและการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางเล็กๆ ที่ช่วยสอนผมทางอ้อมให้นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพราะจริงๆ แล้วสเปซเหล่านี้เป็นพื้นที่ ที่สร้างโดยคนท้องถิ่น ใช้โดยคนท้องถิ่น เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย แต่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ในระดับนึงครับ

“จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้องสเปควัสดุราคาแพงเพื่อสร้างเสปซที่สวยงาม ของเหลือใช้ก็สามารถสร้างสเปซที่สวยงามและตอบโจทย์การใช้งานได้ไม่แพ้กัน”

DSS: เรียนรู้อะไรจาก Bangkok Bastards?

Chatpong: ผมได้เรียนรู้จากชาวบ้านที่เขาใช้ของเหลือใช้ในพื้นที่ใกล้เคียง และนำมาสร้างสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและตอบปัญหาการใช้ชีวิต นี่เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผมครับ

จากจุดเริ่มต้นคือการบันทึกรูปภาพเพราะความสวย แต่ตอนนี้คือเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านสถาปัตยกรรมสารเลวเหล่านี้

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจมากขึ้นคือความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและบริบทรอบข้างครับ เช่น บ้านของผมในย่านเอกมัย ได้นำรั้วมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ โดยปกติแล้วทุกคนจะคิดว่ารั้วไม่ใช่ส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม คิดว่าเป็นแค่ผนังกันโจรเพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่าความคิดนี้กำลังฆ่าเมืองของเราโดยไม่รู้ตัว ทำให้เมืองไม่น่าเดิน ดูไม่ปลอดภัย ผมเลยออกแบบให้รั้วบ้านสามารถเปิดปิดเพื่อเชื่อมพื้นที่ภายใน ภายนอก สร้างปฎิสัมพันธ์กับชุมชนและคนภายนอกขึ้นมาครับ

“เพราะผมเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแต่ความเพอร์เฟค หากมันคือการมีชีวิตของผู้อยู่อาศัยจากบริบทและสิ่งรอบข้าง” คุณอั๋นกล่าวปิดท้ายกับเรา ชวนให้เรานึกคิดว่าแท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมที่ดีสำหรับเรา สำหรับผู้ใช้งาน หรือแม้แต่สำหรับชุมชนคืออะไรกันแน่ การออกแบบของเราครอบคลุมไปถึงเรื่องราวเหล่านั้นที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหมายของคำว่าสถาปัตยกรรมหรือเปล่า …

ขอบคุณรูปภาพและบทสนทนาดีๆจากคุณอั๋นฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมลแห่ง CHAT Architects