OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Shigeru Ban สถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจาก ‘แกนกระดาษ’

สถาปนิกผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยการออกแบบอาคารจากวัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

 

Aspen Art Museum

Shigeru Ban สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ชนะรางวัล Pritzker Prize ในปี 2014 จุดเด่นของเขาคือการใช้นวัตรกรรมสมัยใหม่ผสานกับการออกแบบเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเขามักจะใช้ Paper Tube หรือแผ่น Cardboard รีไซเคิล ที่ สนใจและได้เรียนรู้ด้วยตนเอง นำมาประยุกต์และแปรเปลี่ยนตามบริบทที่แตกต่าง ส่งผลให้สถาปัตยกรรมของ Shigeru Ban มีความซับซ้อนแต่เรียบง่าย เพราะไม่เพียงแต่เป็นอาคารที่สวยงาม หากยังเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือได้ด้วยเช่นกัน

Aspen Art Museum

“Shigeru Ban เป็นสถาปนิกผู้ใช้นวัตรกรรมผสานรวมกับวัสดุได้อย่างน่าสนใจ และยังเป็นสถาปนิกผู้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การทำงานของเขาไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่เท่านั้น หากยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานอีกด้วย” หนึ่งในกรรมการผู้ตัดสินรางวัล Pritzker Prize กล่าว 

จากความชื่นชอบ สู่การทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการ

Shigeru Ban เกิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1957 เขาเกิดในครอบครัวนักธุรกิจ ที่คุณพ่อเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการเล่นดนตรีคลาสสิค และคุณแม่เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Haute Couture ความคิดสร้างสรรค์ของเขาเริ่มต้นจากที่บ้าน เพราะบ้านของเขาเป็นไม้สไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ที่มักจะมีช่างไม้มาปรับปรุงหรือรีโนเวทบ้านอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนี่เป็นการจุดประกายความชอบงานไม้และความฝันที่จะเป็นช่างไม้ตั้งแต่วัยเยาว์ของ Shigeru Ban ภายในเวลาต่อมาเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็ชื่นชอบในด้านงานคราฟท์และงานศิลปะ โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่โมเดลบ้านซึ่งเป็นการบ้านในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนของเขา ได้ถูกโหวตให้เป็นโปรเจคที่ดีที่สุดในโรงเรียน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาจึงอยากเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และอยากเป็นสถาปนิกให้จงได้

Metal Shutter House

ภายในเวลาต่อมาเขาได้เข้าเรียนที่ Tokyo University of the Arts สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ตามความตั้งใจของเขา และเมื่อเขาได้รู้จัก John Hejduk ผู้เชี่ยวชาญด้าน Paper Architect และเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย Cooper Union School of Architecture ผ่านทางหนังสือของทางมหาวิทยาลัย Shigeru Ban จึงตัดสินใจจะไปเรียนต่อที่ Cooper Union แต่ทว่าในขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยไม่รับนักศึกษานอกสหรัฐอเมริกา และในปี 1977 เขาก็ได้ไปเรียนภาษาอังกฤษและเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ Southern California Institute of the Architecture ก่อนและได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Cooper Unionในปี 1980 ซึ่งระหว่างการเรียนที่ Cooper Unionนั้น เขาได้พบกับ Dean Maltz พาร์ทเนอร์ของเขา และยังได้เรียนกับสถาปนิกผู้โด่งดังหลายท่าน เช่น Ricardo Scofidio, Tod Williams, Bernard Tschumi, Peter Eisenman และ John Hejduk

Tamidia Ofiice Building

และก่อนที่ Shigeru Ban จะจบการศึกษาในปี 1984 เขาได้หยุดพักการเรียน 1 ปี เพื่อไปทำงานให้กับ Arata Isozaki ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเรียนจบเขาได้เดินทางท่องเที่ยวยุโรปไปกับช่างภาพ Yukio Fukagawa เพื่อนของเขา ซึ่งการออกทริปในครั้งนี้ เขาได้รับแรงบันดาลใจเรื่องการใช้วัสดุและการใส่ใจถึงบริบทจากงานของ Alvar Aalto ในประเทศฟินแลนด์นั่นเอง

Curtain Wall House และ Naked House

วิสัยทัศน์และแนวคิดหลัก

จากประสบการณ์การเรียนรู้ในช่วงมหาวิทยาลัยและประสบการณ์ในวัยเด็กสะท้อนถึงงานของ Shigeru Ban ในยุคเริ่มต้น เมื่อเขาเรียนจบและเริ่มทำงานแบบไม่มีประสบการณ์ เขาใช้ช่วงเวลา 1 ปีแรกไปกับการออกแบบ Installation ในส่วนนิทรรศการต่างๆ ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งานออกแบบ Installation ของเขามักจะมีการใช้ Paper Tube เป็นโครงสร้างในการติดตั้งงานต่างๆ และในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มออกแบบสถาปัตยกรรมในซีรียส์ Case Study Houses เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงการทดลองงานสถาปัตยกรรมในรูปแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วย PC Pile House, House of Double Roof, Furniture House, Curtain Wall House, 2/5 House, Wall-Less House และ Naked House

Hannover Expo 2000

Shigeru Ban ได้ร่วมงานกับ Frei Otto สถาปนิกชาวเยอรมณีในปี 2000 เพื่อออกแบบ Hannover Expo 2000 ซึ่งเป็นพาวิลเลี่ยนขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างจาก Paper Tube โดยเป็นที่โด่งดังในขณะนั้น เพราะเป็นโครงสร้างอาคารที่สามารถนำมารีไซเคิลได้

Pompidou Centre-Metz

ในปี 2004 Shigeru Ban ได้ทำงานออกแบบร่วมกับ Jean de Gastines และ Philip Gumuchdjian เพื่อทำงานแข่งขันออกแบบ Pompidou Centre-Metz และพวกเขาทั้ง 3 ก็เป็นผู้ชนะในรางวัลนี้และได้ออกแบบอาคารจริง จากนั้นเขาจึงตั้งออฟฟิศชั่วคราวจากโครงสร้าง Paper Tube ที่ชั้นดาดฟ้าบนสุดของ Centre Pompidou ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

Paper temporary studio

Paper Tube และแนวทางการออกแบบ

Shigeru Ban สนใจในการใช้ Paper Tube และ Cardboard เพราะเป็นวัสดุที่ราคาไม่แพง สามารถนำมารีไซเคิล และเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน ไม่ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศในธรรมชาติ และเขาได้ตระหนักว่าการใช้ Paper Tube สามารถนำไปช่วยผู้ลี้ภัยหรือผู้ประสบภัยต่างๆได้ ด้วยการนำมาเป็นโครงสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น

Paper log House

เมื่อปี 1994 Shigeru Ban จึงได้เสนอที่พักชั่วคราวจาก Paper Tube ให้แก่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งในเวลาต่อมา เขาก็กลายเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ และได้ก่อตั้งมูลนิธิ Voluntary Architects’ Network (VAN) หรือองค์กรอิสระเครือข่ายสถาปนิกอาสาเพื่อสานต่อการสร้างที่พักพิงชั่วคราว สำหรับเหตุการณ์เลวร้ายจากธรรมชาติหรือจากสงคราม เช่น ที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยในประเทศเคนยา ตุรกี รวันดา หรือที่พักพิงชั่วคราวจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้น เขา ยังได้เดินทางไปยังสถานที่ประสบภัยต่างๆ เพื่อศึกษาถึงความต้องการ ศึกษาสภาพอากาศ และบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาสร้างบ้านพักอาศัยชั่วคราวที่สามารถใช้ได้กับคนทุกคน โดยคำนึงถึงการสร้างซึ่งต้องประกอบได้อย่างรวดเร็ว ใช้วัสดุรีไซเคิล มีต้นทุนต่ำ และที่สำคัญคือต้องสามารถประยุกต์ขนาดและวิธีการใช้ได้ตามความต้องการ

La Seine Musicale

สำหรับจุดเด่นในงานของ Shigeru Ban คือการใช้โครงสร้างที่มองไม่เห็นหรือ “Invisible Structure” นั่นคือการรวมโครงสร้างเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการออกแบบงานสถาปัตยกรรม เพราะเขาไม่สนใจเทคนิคหรือวัสดุใหม่ๆ แต่เขาเลือกที่จะแสดงออกถึงวัสดุและแนวคิดในการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างยั่งยืน ทั้งการใช้ Paper Tube, Cardboard หรือแม้แต่การใช้ไม้ในรูปแบบของเขานั่นเอง

La Seine Musicale

จากประสบการณ์การเรียนและการทำงานที่หลากหลายของเขาทั้งในประเทศญี่ปุ่น และการเข้าเรียนที่สหรัฐอเมริกากับ John Hejduk ส่งผลให้งานของ Shigeru Ban มีความผสมผสานทั้งการออกแบบสเปซที่ยืดหยุ่นตามสไตล์ญี่ปุ่น รูปแบบอาคารสไตล์โมเดิร์นและนวัตรกรรมที่ทันสมัยจากฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับอิทธิพลจาก John Hejduk ก็ทำให้งานของเขาเป็นที่โด่งดังในการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ มาออกแบบโครงสร้างอาคารจาก  Paper Tube และ Cardboard มากไปกว่านั้น Shigeru Ban ยังเป็นสถาปนิกคนแรกในญี่ปุ่นที่ออกแบบอาคารจาก Paper Tube และผ่านกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

Terrace House ตั้งอยู่ที่เมือง Vancouver ประเทศแคนาดา เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยโครงสร้างไม้ที่สูงที่สุดในโลก (อยู่ในขั้นตอนออกแบบ)

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น

Shigeru Ban และอาสาสมัครจากโครงการ VAN ได้ออกแบบที่พักชั่วคราวสำหรับชาวญี่ปุ่นทางตอนใต้ที่ได้รับภัยพิบัติจากน้ำท่วมและดินถล่มเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา โดยเขาได้ออกแบบโครงสร้างจาก Paper Tube ซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราวที่สามารถรื้อและประกอบใหม่ได้โดยง่าย และยังสามารถประยุกต์การใช้งานได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสำหรับครั้งนี้ เขาออกแบบพื้นที่ให้เป็นโมดูล 2 x 2 เมตร และใช้ม่านกั้นพื้นที่แต่ละเสปซเพื่อความเป็นส่วนตัว

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

Cardboard Cathedral

Shigeru Ban ได้ออกแบบโบสถ์จากโครงสร้าง Paper Tube ในเมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากที่เมือง Christchurch มีแผ่นดินไหวรุนแรงและโบสถ์อันเก่าได้พังทลายลงไป โดยโบสถ์ใหม่นี้มีรูปทรงสามเหลี่ยมและจุผู้คนได้ถึง 700 คน Cardboard Cathedral แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะใช้ Paper Tube เป็นโครงสร้างสำหรับสร้างบ้านเพื่อผู้ประสบภัยแล้วนั้น ยังสามารถนำมาประยุกต์เป็นโครงสร้างอาคารที่สวยงามและมีความแข็งแรงมากพอที่จะใช้เป็นอาคารถาวรได้อีกด้วย

Cardboard Cathedral

Mountain Fuji world heritage center

Mountain Fuji world heritage center สถานที่แลนด์มาร์คแห่งใหม่ในญี่ปุ่นใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ โดยภูเขาไฟฟูจิถือเป็นภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นภูเขาไฟที่สำคัญอย่างมากในญี่ปุ่น ซึ่งแสดงถึงความสมมาตรและความเงียบสงบของชาวญี่ปุ่น

Shigeru Ban คือผู้ชนะการแข่งขันออกแบบ Mountain Fuji world heritage center ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 230 ท่าน มีเป้าหมายคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นพื้นที่สังเกตการณ์ภูเขาไฟฟูจิสำหรับคนรุ่นใหม่ ภายในอาคารมีพื้นที่ 4,300 ตารางเมตร และมีหอคอยที่ผู้ใช้งานสามารถเดินขึ้นไปชั้นบนสุดเพื่อชมทิวทัศน์ของภูเขาไฟฟูจิได้ โดยเขาออกแบบอาคารให้มีเพื่อเลียนแบบความรู้สึกในการขึ้นไปที่ภูเขาของเขานั่นเอง

“สำหรับผม ผมคิดว่าผู้เข้าแข่งขันท่านอื่นๆ พยายามออกแบบอาคารให้มีรูปร่างคล้ายกับภูเขาไฟฟูจิ แต่ผมคิดว่าการทำเช่นนี้จะเป็นไปได้ยากที่จะแข่งขันกับภูเขาไฟฟูจิที่อยู่ด้านหน้า ผมจึงออกแบบในรูปแบบอื่นที่แตกต่างออกไป ผมออกแบบหอคอยภายในอาคารเป็นสโลป ที่ผู้ใช้งานจะต้องค่อยๆเดินขึ้นไปข้างบน คล้ายกับการสร้างประสบการณ์ในการปีนภูเขา และในขณะที่เดินขึ้นไปก็จะพบกับความงามของภูเขาไฟฟูจิในมุมมองที่หลากหลาย และเมื่อขึ้นสู่ชั้นบนสุดก็จะพบกับทิวทัศน์จากภูเขาไฟฟูจิที่สวยงามที่สุดอยู่ตรงหน้า” Shigeru Ban กล่าว

Shigeru Ban เป็นสถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากแกนกระดาษรีไซเคิล ที่เกิดจากการเรียนรู้และความชอบ จนนำไปสู่การออกแบบที่มากกว่าสวยงามและแปลกใหม่ เพราะสามารถนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเพื่อสังคมและมนุษย์ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณรูปภาพและบทความจาก Archdaily, Designbom, Dezeen, Asiasociety, Arcspace, Tcdc