Drive-through Starbucks
Location | Hualien, Taiwan
Architect | Kengo Kuma
Photographer | Starbucks, Money.udn.com
หากจะพูดถึงร้านกาแฟ แบรนด์ยอดนิยมของมนุษย์ออฟฟิศ เชื่อว่าชื่อ “Starbucks” น่าจะเป็นอันดับต้นๆในคำตอบของหลายคน เพราะด้วยกาแฟที่มีคุณภาพ และการให้ความสำคัญกับการออกแบบร้านในทุกๆสาขา กลมกลืนกับชุมชนรอบข้างได้อย่างมีเอกลักษณ์ จึงไม่แปลกหากสตาร์บัคจะกลายเป็นเพื่อนสนิทครองใจทุกคนมานานเกือบ 50 ปี และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีอีกหนึ่งงานสร้างสรรค์กับสาขาใหม่ในไต้หวัน ที่ปรากฎภาพของตู้คอนเทนเนอร์สีขาววางซ้อนชั้นกันอยู่อย่างมีมิติ
ตู้คอนเทนเนอร์สีขาวทั้ง 29 ตู้นี้ ตั้งอยู่เบื้องหน้าของห้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในเมืองฮัวเหลียน บนเนื้อที่เพียง 320 ตารางเมตร เป็นสาขาที่มีการซื้อขายแบบ drive-thru หรือสาขาที่ให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้า โดยสามารถขับรถผ่านเพื่อซื้อกาแฟได้เลยโดยไม่ต้องจอดรถ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในการออกแบบร้าน สตาร์บัคด้วยตู้คอนเทนเนอร์ในเอเชียแปซิฟิก
ใช้แล้ว มาใช้ใหม่ แรงบันดาลใจจากต้นกาแฟ
เห็นภาพครั้งแรกแทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง เพราะชื่อของผู้ออกแบบร้านสาขานี้คือ Kengo Kuma สถาปนิกไม้ระดับโลกชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานออกแบบร้านสตาร์บัคสาขาดังที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ภาพจำอันสวยงามของไม้แท่งบนเพดานและผนัง ทำให้คนติดภาพงานออกแบบไม้ของเขา แต่งานครั้งนี้ผลงานของเขากลับแตกต่างออกไป เพราะได้นำตู้คอนเทนเนอร์เก่าสีขาวจำนวน 29 ตู้ มาออกแบบใหม่ด้วยการใส่แรงบันดาลใจจากใบของต้นกาแฟที่มีความไม่สม่ำเสมอกัน รวมกับ “bucket arch” องค์ประกอบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ผสมผสานกันจนกลายเป็นรูปแบบร้านกาแฟสตาร์บัคสาขานี้
ร้าน Starbucks หน้าทางเข้า Dazaifu Tenmangu หรือหนึ่งศาลเจ้าที่ดังที่สุดของญี่ปุ่น ที่ Kengo Kuma ออกแบบงานไม้ประดับเป็นแท่งกว่า 2,000 ชิ้น ผสมผสานระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกได้อย่างคลาสสิค
นอก 4 ใน 2
ตู้คอนเทนเนอร์ถูกออกแบบให้วางซ้อนกันในแนวขวางสลับชั้นกันไป มองจากภายนอกนับได้สี่ชั้นพอดิบพอดี แต่หากภายในมีพื้นที่ใช้งานเพียงสองชั้นล่างเท่านั้น ส่วนสองชั้นบนเป็นเพียงตู้วางเปล่าสำหรับตกแต่งให้อาคารมีมิติมากขึ้น ซึ่งการที่วางตู้คอนเทนเนอร์เว้นระยะห่างพอเหมาะในแต่ละชั้นนั้น นอกจากจะสร้างภาพจำให้กับสตาร์บัคสาขานี้ได้เป็นอย่างดีแล้ว พื้นที่เหล่านั้นยังทำให้ภายในดูกว้างและโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น และเปิดรับแสงจากธรรมชาติเข้ามาได้อย่างทั่วถึง
(พื้นที่ภายในชั้นล่างสุด)
ประวัติศาสตร์ในรูปทรงสี่เหลี่ยม
พื้นที่ภายในรูปสี่เหลี่ยมเล็กใหญ่ที่เชื่อมต่อกันอยู่ภายในถูกตัดด้วยพื้นและเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน พร้อมทั้งถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่หลากหลายของเมืองฮัวเหลียน อย่างภาพจิตรกรรมฝาผนังลายมรดกของชาวอะบอริจิไต้หวันที่เข้ามาสอดแทรกสีสันให้พื้นที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น ส่วนเฟอร์นิเจอร์ถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่ที่สามารถทอดสายตาชมทัศนียภาพอันงดงามของเทือกเขา Zhongyang ได้อีกด้วย
(ภาพจิตรกรรมฝาผนังลายมรดกของชาวอะบอริจิชาวไต้หวันสีฟ้าและเขียวบนผนังสีขาว)
(ลวดลายการตกแต่งด้วยกราฟิกอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมาของกาแฟต่างๆ)
ร้านกาแฟรักษ์สิ่งแวดล้อม
อย่างที่ทราบกันดีว่าร้านกาแฟสตาร์บัคในทุกๆสาขาที่ถูกออกแบบใหม่ นอกจากการคำนึงถึงการถ่ายทอดเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ออกมาผ่านองค์ประกอบและจิตกรรมฝาผนังภายในร้านแล้ว ยังมีเรื่องของขั้นตอนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การจ้างช่างฝีมือท้องถิ่น และการนำวัสดุใช้ซ้ำหรือวัสดุรีไซเคิลเข้ามาใช้ในจุดที่สามารถทำได้ให้มากที่สุดอีกด้วย เป็นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป้าหมายที่ให้รับรองมาตรฐานอาคาร LEED นั่นเอง
ร้านนี้เป็นอีกหนึ่งในความมุ่งมั่นของ Starbucks ที่จะสร้างร้านค้าที่ยั่งยืนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งการนำโครงสร้างคอนเทนเนอร์มาออกแบบนับเป็นก้าวสำคัญในวงการงานสถาปัตยกรรม เพราะด้วยขนาดที่กะทัดรัด โยกย้ายง่าย ติดตั้งรวดเร็ว แถมยังไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาในระยะยาวมากมาย รวมถึงการสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างในรูปแบบใหม่ ให้ลูกค้าอยากเข้าไปสัมผัสบรรยากาศดีๆ พร้อมจิบกาแฟร้อนๆ ในมือซักแก้ว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก treehugger , dezeen และ starbucksstarnews