“เปลี่ยนพื้นที่ไร้ประโยชน์แนวตั้งให้มีคุณค่าต่อชุมชน”
Green Belly
Project Design: AVL Studio และ agriculture engineer Camille Lassale
เชื่อว่าหลายๆพื้นที่ในเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ย่อมมีพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ถูกใช้งานสอดแทรกอยู่ภายในเมืองนั้นๆอยู่ไม่น้อย กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเพื่อปรับเปลี่ยนเมืองให้ปลอดภัยและน่าอยู่ยิ่งขึ้น ทำให้เราเห็นโปรเจกต์พัฒนากันอยู่เสมอ ซึ่ง “AVL Studio” และ “Agriculture engineer Camille Lassale” ก็เป็นอีกสองหน่วยงานที่ไม่อาจมองข้ามการออกแบบพื้นที่ความว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ แต่ทว่าความน่าสนใจคือ การมองเห็นพื้นที่รกร้างในแนวตั้ง หรือบนผืนผนังของสถาปัตยกรรมในเมือง
ผืนผนังอันว่างเปล่านี้ มักปรากฏอยู่บนผนังด้านใดด้านหนึ่งที่ไม่มีช่องเปิดของสถาปัตยกรรมประเภท Low rise ซึ่งเป็นอาคารที่มีความสูงไม่มากนัก อย่างตึกแถว หอพัก อาพาร์ทเมนท์ โรงเรียน โรงพยาบาล ที่มีความสูงประมาณ 4-8 ชั้น โปรเจกต์ที่จะปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ไร้ประโยชน์ให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ธรรมชาติอย่างแดด ลม ฝน และการสร้าง “Greem Belly” สวนผักกินได้จึงเกิดขึ้น
GreenBelly แนวคิด “Vertical Garden” หรือ สวนแนวตั้ง จากการเติมเต็มผืนผนังอาคารพาณิชย์ในเมืองอันว่างเปล่า ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวและสวนผักกินได้ของชุมชน แหล่งผลิตอาหารในขนาดจำกัด ซึ่งความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้คือ จุดเริ่มต้นความคิดของโครงการที่ยั่งยืนในระดับที่คนในชุมชนสามารถร่วมมือกันสร้างได้ โดยรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ และขยะอินทรีย์ในชุมชน มาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สถาปัตยกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความสวยงามให้กับเมืองมากขึ้นกว่าเดิม
โมดูลาร์จากวัสดุเหลือใช้
การออกแบบต้นแบบโดยใช้ทุกองค์ประกอบที่มีอยู่ในบริบทของเมือง เพื่อรูปแบบที่ยั่งยืนที่สุด โดยการใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น โครงนั่งร้าน ไม้พาเลท หรือแผ่นไม้ต่างๆที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งนอกจากจะมีราคาถูก และหาได้ง่ายในชุมชนแล้ว ยังยืดหยุ่นต่อลักษณะในการใช้งานอีกด้วย
โดยแนวคิดการออกแบบเป็นลักษณะโมดูลาร์เล็กๆ หรือ “Production cabin” ที่นำมาประกอบกันเป็นหลายๆโมดูลาร์ เชื่อมต่อด้วยบันไดโครงสร้างเดียวกับบันไดหนีไฟนอกอาคาร ซึ่งแต่ละโมดูลาร์สามารถปรับขนาดความกว้างให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ผนังนั้นๆ ซึ่งข้อดีของการออกแบบนี้คือ การก่อสร้างที่ง่าย และรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ประหยัดแรงค่าใช้จ่าย ที่สำคัญสามารถถอดแยกเก็บ เคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่ และง่ายต่อการขนส่งอีกด้วย
ภายในหนึ่งโมดูลาร์ก็สามารถจัดสรรพื้นที่ปลูกพืชผักได้หลากหลายชนิด
ตัวอย่างรูปแบบของผลประโยชน์จากผลผลิตพืชผักต่างๆที่ปลูกใน GreenBelly ซึ่งจะเป็นไปตามสิทธิเจ้าของอาคารหรือพื้นที่ดินนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือเอกชนก็ได้
ดูแลด้วยระบบธรรมชาติ
สวนแนวตั้งนี้ สามารถเลือกเปิด-ปิดกระจกจากภายนอกได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความปลอดภัยที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ รวมถึงมีแผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานพื้นฐานของระบบดูแลต่างๆ ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโต รดน้ำด้วยระบบเก็บกักน้ำฝนด้านบน ที่จะเคลื่อนจากชั้นบนสุดลงมาชั้นล่างสุดโดยตั้งค่าการปล่อยน้ำแบบอัตโนมัติตามเวลาที่เหมาะสมได้เอง
การมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกเหนือจากการสร้างผลประโยชน์สังคมสำหรับเมืองใหญ่ในภาพรวมที่ดีขึ้นแล้ว GreenBelly ยังนับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจกรรมที่มีส่วนร่วมกันของคนชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ทางการเกษตรกันได้ และเป็นประโยชน์จากการสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย
แม้ตอนนี้โปรเจกต์ “GreenBelly” ยังเป็นเพียงภาพแห่งความคิดเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นไอเดียในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ว่างเปล่าของเมืองที่ไร้ประโยชน์ ให้เป็นดั่งพื้นที่ที่สร้างความสวยงามและมีคุณค่าให้การดำรงค์ชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นได้ ส่วนใครที่อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถติดตามหรือสนับสนุนโครงการนี้ได้ที่ GreenBelly และ Kickstarter
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก GreenBelly และ Kickstarter