บ้านที่อยู่ตรงกลางระหว่างการปิดทึบเพื่อความเป็นส่วนตัว และการเปิดเพื่อรับกับธรรมชาติ
Location: แยกรินคำ, จังหวัดเชียงใหม่
Owner: อมรศักดิ์ ปัญสุรินทร์, วนิดา ปัญสุรินทร์
Architect: สุเมธ กล้าหาญ, พงศกร ณ พัทลุง, พิสิฐ ฟุ้งสุข, Materior Studio
Photograph: ธฤตยา กล้าหาญ
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียกอาคารประเภทนั้นว่าบ้าน มันจะต้องอยู่สบาย และการออกแบบก็ควรจะตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน แค่นี้ผู้พักอาศัยก็มีความสุขแล้ว” คุณพงศกร ณ พัทลุง สถาปนิกจาก Materior Studio ได้กล่าวเริ่มต้นบทสนทนา เมื่อเราได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับการออกแบบ Punsurin House บ้านที่แม้ภายนอกจะดูคล้ายกับผนังสีขาวที่ทึบ ตัน แต่ภายในกลับซ่อนความโปร่ง โล่ง ด้วยสวนขนาดใหญ่กลางบ้าน
Punsurin House เป็นบ้าน 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่แยกรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ใช้สอย 275 ตารางเมตร โดยมีเจ้าของบ้านคือคุณอมรศักดิ์ ปัญสุรินทร์ และคุณวนิดา ปัญสุรินทร์ เจ้าของบ้านทั้ง 2 ท่าน ต้องการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากบ้านทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับพวกเขาที่อายุเพิ่มมากขึ้น โดยต้องการให้พื้นที่ชั้น 1 มีครบครันทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องนอน ส่วนชั้น 2 เป็นห้องนอน 2 ห้อง สำหรับลูกสาวทั้ง 2 คน ความต้องการในตอนแรกของเจ้าของบ้านทั้ง 2 ท่าน คือต้องการบ้านที่สามารถใช้เวลาร่วมกันได้ตลอดทั้งวัน จึงติดต่อคุณสุเมธ กล้าหาญ คุณพงศกร ณ พัทลุง และคุณพิสิฐ ฟุ้งสุข สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Materior Studio มาช่วยสร้างบ้านที่ตรงกับใจกับเจ้าของบ้านให้กลายเป็นจริง
คุณสุเมธ กล้าหาญ คุณพงศกร ณ พัทลุง คุณพิสิฐ ฟุ้งสุข และทีม Materior Studio ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้
ทาวน์เฮ้าส์เดิมที่คุณอมรศักดิ์และคุณวนิดาเคยอาศัย
บ้านเก่าอายุ 30 ปี ก่อนทำการรื้อทิ้ง
บ้านเก่า บ้านใหม่ และการเชื่อมต่อกันของทั้ง 2 บ้าน
เจ้าของบ้านทั้ง 2 ท่านเริ่มมีอายุมากขึ้น การขึ้นลงบันได 3 ชั้น จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องอันตราย พวกเขาทั้ง 2 จึงเกิดความคิดที่จะสร้างบ้านขึ้นใหม่เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานที่เปลี่ยนแปลง ประจวบเหมาะกับมีการประกาศขายที่ดินพร้อมบ้านเก่าอายุ 30 ปี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กันกับบ้านของพวกเขา ทางเจ้าของบ้านจึงตัดสินใจซื้อที่ดินพร้อมบ้านเก่าหลังนี้
เมื่อสถาปนิกได้เข้ามาดูบ้านเก่าครั้งแรก ก็เกิดความคิดที่จะรีโนเวทบ้านเก่าแทนการสร้างใหม่ เพราะบ้านเก่ายังมีสภาพดีและพื้นที่ภายในก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของบ้าน แต่เมื่อได้ลองทุบผนังเดิมทิ้งและศึกษาโครงสร้างเพิ่มเติม ก็พบว่าโครงสร้างค่อนข้างเก่า ถ้าจะรีโนเวทบ้านก็อาจจะมีปัญหาบานปลายในภายหลัง สถาปนิกจึงตัดสินใจรื้อบ้านเดิมและสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาแทน
ผังอาคารชั้น 1 และ 2
คุณอมรศักดิ์และคุณวนิดา ชอบบ้านในรูปแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีลักษณะเรียบง่าย ขาว สะอาดตา และมีสภาวะอยู่สบาย สถาปนิกจึงออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นผสานกับวัสดุที่ทำจากไม้ เช่น พื้น ผนังและเฟอร์นิเจอร์ตามแบบที่คุณอมรศักดิ์ชื่นชอบ โดยเฟอร์นิเจอร์แบบไม่ตายตัวก็ประยุกต์มาจากบ้านทาวน์เฮ้าส์เก่านั่นเอง
ห้องนั่งเล่น พื้นที่แบ่งปันความรู้สึก
บ้านหลังใหม่นี้สร้างโดยอิงจากความต้องการของเจ้าของบ้านมากที่สุด นั่นคือมีห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ โดยต้องการให้เป็นพื้นที่ ที่เจ้าของบ้านสามารถใช้เวลาร่วมกัน เช่น ระหว่างที่คุณอมรศักดิ์ทำงาน หรืออ่านหนังสือ คุณวนิดาก็สามารถทำกับข้าวซึ่งเป็นงานอดิเรกไปพร้อมกับพูดคุยด้วยกันได้ โดยผังของห้องนั่งเล่นจะถูกวางให้ตรงกับบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเก่า และมีทางเดินทะลุเชื่อมต่อทั้ง 2 บ้าน ช่วยให้เกิดสเปซที่ต่อเนื่องระหว่างบ้านใหม่และเก่า เจ้าของบ้านก็จะเกิดความรู้สึกคุ้นเคยและอบอุ่นในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
มุมมองความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นระหว่างบ้านเก่าและบ้านใหม่
อีกทั้งยังมีการออกแบบพื้นที่ภายใน ให้มีลักษณะโล่ง โปร่ง และมีช่องเปิดขนาดใหญ่ เพื่อให้ลมพัดผ่านตลอดวัน และมีสวนกลางบ้านรายล้อมรอบห้องนั่งเล่นเพิ่มบรรยากาศผ่อนคลาย
สวน … ใจกลางบ้าน
อีกหนึ่งแนวคิดของการออกแบบพื้นที่ห้องนั่งเล่น คือการเปรียบห้องนั่งเล่นเป็นเสมือนศาลาที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนสวย ซึ่งได้รับแสงธรรมชาติและมีลมพัดผ่านตลอดวัน มากไปกว่านั้นสถาปนิกยังปลูกต้นปีปทั้งหมด 6 ต้น เรียงรายตามแนวทางเดิน ช่วยสร้างความร่มรื่นและเกิดพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างน่าสนใจ
สวนกลางบ้านนี้เป็นสวนส่วนกลางสำหรับบ้านเก่าและบ้านใหม่ ช่วยพรางตาระหว่าง 2 บ้านได้เป็นอย่างดี
ทึบ … แต่โปร่ง
ลักษณะภายนอกของบ้านนี้จะค่อนข้างทึบและปิด แต่พอได้เข้ามาสัมผัสภายในก็จะเจอกับความโปร่ง โล่ง และบรรยากาศสงบจากธรรมชาติในบ้าน ผู้ใช้งานจะรู้สึกเซอไพรส์เมื่อได้เข้าไปยังสเปซข้างใน เพราะพื้นที่ในส่วนนี้จะถูกซ่อนเอาไว้จากภายนอก ต้องเข้าไปยังพื้นที่ในบ้านถึงจะเจอกับธรรมชาติที่แตกต่างกันแบบเห็นได้ชัด
เนื่องจากสถานที่ตั้งห้องนอนของอาคารอยู่ในทิศตะวันตกที่โดนแสงแดดตลอดทั้งวัน สถาปนิกจึงออกแบบผนังในส่วนนี้ให้เป็นผนังทึบและมีความหนากว่าปกติ มีช่องเปิดแค่บริเวณบันไดและห้องน้ำเพื่อให้เกิดการระบายอากาศเท่านั้น เป็นการช่วยลดความร้อนจากภายนอกสู่ภายใน และเลือกที่จะเปิดหน้าต่างในทิศทางตรงกันข้ามหันเข้าหาส่วนกลางบ้าน ที่มีบรรยากาศร่มรื่น สามารถสัมผัสได้ถึงธรรมชาติตลอดทั้งวัน และข้อดีอีกประการของการออกแบบให้ผนังด้านนอกทึบแต่ด้านในเปิดโล่งคือจะสามารถสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งานได้นั่นเอง
พรางตา แต่เปิดโล่ง
มีการติดตั้งแผงอะลูมิเนียมในบริเวณช่องเปิดขนาดใหญ่ในบ้าน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวระหว่างการพักอาศัย โดยข้อดีของการติดตั้งแผงอะลูมิเนียมคือสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามความต้องการ ผู้ใช้งานจะไม่รู้สึกอึดอัดที่มีแผงอะลูมิเนียมกั้นไว้ มุมมองจากภายในจะคล้ายกับมีม่านโปร่งกั้นแสงติดตั้งไว้ แต่มุมมองจากภายนอกจะแทบมองไม่เห็นภายในเลยแม้แต่น้อย และทางผู้ออกแบบยังสามารถซ่อนเหล็กเส้นไว้ในอะลูมิเนียมช่วยกันขโมยได้อีกด้วย
บ้านที่ดีควรจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีมากกว่าความสวย เพราะบ้านแต่ละหลังนั้นล้วนมีแนวคิดหรือการใช้งานอะไรบางอย่างที่มีความหมาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน เช่นห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ของบ้านหลังนี้ซึ่งเปรียบเสมือนศาลาที่ตั้งอยู่กลางสวนธรรมชาติ และยังมีความน่าสนใจในการเชื่อมต่อพื้นที่บ้านเก่าและบ้านใหม่ด้วยทางเดินและสวนกลางบ้าน เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของผู้ใช้งานผ่านการออกแบบบ้านได้อย่างลงตัว