“เติมเต็มบ้านในพื้นที่รกร้าง”
Plugin House
Location: shenzhen, china
Huang family plugin house size: 15 sq.m.
Fang family plugin house size: 20 sq.m.
Architect: people’s architecture office
Photography: people’s architecture office, zhan changheng
‘พื้นที่รกร้าง’ ที่ดูเหมือนไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญสำหรับเมืองทั่วโลก เช่นเดียวกันกับหมู่บ้าน Shangwei เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ที่แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก แต่หมู่บ้านแห่งนี้กลับมีพื้นที่รกร้างและบ้านที่ทรุดโทรมโดยไม่มีผู้อยู่อาศัย เป็นจำนวนมาก และนี่ก็เป็นอีกสอง ‘Plugin House’ บ้านที่เติมเต็มลงในพื้นที่ว่าง โปรเจกต์ล่าสุดจาก people’s architecture office (PAO) สถาปนิกสัญชาติจีนผู้เนรมิตบ้านใหม่ในพื้นที่เก่า ด้วยความหวังที่จะพัฒนาเมือง Shangwei ให้กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น
บ้าน Plugin และผังของบริเวณหมู่บ้าน ที่พบว่ามีพื้นที่รกร้างมากกว่าปกติ สาเหตุจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและความแออัดของประชากร
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างที่ไร้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพในการอยู่อาศัย อย่างบ้าน Plugin ทั้งสองหลังในหมู่บ้าน Shangwei ย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ของจีนนี้ เป็นอีกหนึ่งความพัฒนาที่ชุบชีวิตพื้นที่รกร้างในเมืองด้วยการเติมเต็มสถาปัตยกรรมขนาดเล็กอย่าง ‘บ้าน’ได้เป็นอย่างดี
เก็บเก่า ไว้เล่า(ใน)ใหม่
เนื่องจากบ้านมีอายุมากกว่า 100 ปี การปรับปรุงรีโนเวทใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สถาปนิกจึงเลือกที่จะเก็บทุกร่องรอยของสิ่งที่มีอยู่เดิมไว้ ทั้งตัวกำแพง หลังคาบ้านที่ชำรุดทรุดโทรมจนเปิดโล่งสู่ท้องฟ้า หรือแม้กระทั่งช่องประตูทางเข้า และออกแบบตามขนาดโดยแยกผนังใหม่ออกจากผนังเดิมเข้ามาเล็กน้อย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีความแออัด และบ้านแต่ละหลังอยู่ติดกัน ถ้าหากใช้โครงสร้างเดิมนั้นอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทั้งหมดได้
นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาความทรงจำเก่าๆ เช่น คราบตะไคร่ต่างๆบนกำแพง รูปร่างของผนังอิฐที่ผุพัง ที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ไว้
ผนังกึ่งสำเร็จรูป
บ้าน Plugin ทั้งสองหลังนี้ใช้ระบบอาคารแบบแยกส่วน เป็นแผ่นผนังที่ผลิตมาสำเร็จรูปและนำชิ้นส่วนมาประกอบกันจนกลายเป็นบ้าน ที่ถูกออกแบบภายในไว้อย่างพอดิบพอดี ซึ่งข้อดีของการใช้ระบบผนังสำเร็จรูปนี้ นอกจากเป็นการที่เก็บรักษาสถาปัตยกรรมเดิมๆไว้แล้ว คือ ‘ความประหยัด’ ทั้งแรงงานและเวลาในการก่อสร้าง รวมถึงง่ายต่อการก่อสร้างการขนย้ายวัสดุพื้นที่แคบไม่ไปกระทบกระทั่งของเดิมอีกด้วย
และยังมีการออกแบบสกายไลท์ หรือช่องแสงด้านบน เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้าน ทำให้บ้านไม่ทึบตันจากปัญหาความแออัดของพื้นที่
มาดูกันที่บ้านหลังแรก เป็นบ้าน Pluginสำหรับครอบครัว Huang ที่มีขนาดพื้นที่เพียง 15 ตารางเมตร และเนื่องจากส่วนหนึ่งของหลังคาเดิมยังคงพาดอยู่ สถาปนิกจึงออกแบบบ้านในลักษณะแทรกเข้าไป โดยความลาดเอียงของหลังคายังคงเท่าของเดิม เพื่อให้บ้านทำหน้าที่เป็นตัวเสริมความแข็งแรง ป้องกันปัญหาโครงสร้างที่บ้านเดิม และได้เพิ่มพื้นที่ห้องนอนในชั้นบน พร้อมกับหน้าต่างกระจกมุมที่ยื่นออกมาจากผนังเพื่อเปิดรับมุมมองวิวของหมู่บ้าน
กระจกเข้ามุมพื้นที่สามเหลี่ยมที่ยื่นออกมาจากห้องนอน
ไดอะแกรม แปลนชั้น 1 และชั้น 2 ของบ้าน
ฟังก์ชั่นภายใน เมื่อเปิดเข้ามาจะพบกับห้องครัว ห้องน้ำ และเชื่อมต่อไปยังห้องนั่งเล่น ที่ออกแบบให้มีช่องเปิดสกายไลท์เป็นแนวยาวด้านหลังของบ้าน ทำให้แสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทำให้บ้านสว่างขึ้น
ส่วนบ้าน Plugin สำหรับครอบครัวFang มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 20 ตารางเมตร โดยสถาปนิกยังคงตำแหน่งทางเข้าเดิมไว้ พร้อมทั้งออกแบบแนวผนังของตัวบ้านใหม่ให้เฉียง ใส่กระจกบานเลื่อนเพื่อเปิดรับมุมมองจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งทำให้มีพื้นที่ที่เหลือด้านหน้าเล็กน้อย เสมือนพื้นที่เชื่อมต่อความรู้สึกระหว่างความเก่าและความใหม่เข้าด้วยกัน
ซึ่งเมื่อเข้ามาก็จะพบกับมุมนั่งเล่น และส่วนของ Pantry ก่อนเชื่อมไปยังส่วนของห้องน้ำและห้องนอนด้านหลัง
แปลนของบ้าน Plugin สำหรับครอบครัว Fang
ด้านบนมีหน้าต่างสกายไลท์ด้านบน ที่ต้อนรับแสงแดดในยามเช้าให้พาดผ่านลงมาภายในห้องนอน ซึ่งในตอนกลางวันนั้นสามารถใช้ความสว่างจากธรรมชาติโดยไม่ต้องเปิดไฟเลย
โดยจากห้องนอนจะมีพื้นที่เชื่อมต่อออกไปชานเล็กๆภายนอก ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งมุมพักผ่อนที่สามารถออกไปสัมผัสกับความคลาสสิคของผนังเดิม และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างร่มรื่น รวมถึงการที่ออกแบบหน้าต่างและประตูที่มีขนาดกว้าง ทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงได้อย่างเต็มที่
ขอบคุณข้อมูลจาก Designboom และ Archdaily