OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

เชื่อมต่อบริบท เก็บความเป็นธรรมชาติ ในสถาปัตยกรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา…“ดาดฟ้า”

“Market Park ที่กลมกลืนกับบริบท และใช้วัสดุที่ธรรมชาติเป็นผู้ช่วยออกแบบ”

ดาดฟ้า
Location: สุขุมวิท 105
Owner: คุณกนกอร บุญทวีกิจ
Architect: คุณภากร มหพันธ์ M SPACE
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“ดาดฟ้า” คำนี้อาจทำให้ส่วนใหญ่นึกถึงพื้นที่โล่งกว้างชั้นบนสุดของตึก แต่หาก “ดาดฟ้า” ในย่านลาซาลแห่งนี้นั้นแตกต่างออกไป เพราะเป็นดาดฟ้าที่อยู่บนพื้นดิน สถาปัตยกรรมและพื้นที่เปิดโล่งที่มาพร้อมกับวัสดุที่เผยให้เห็นถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ กับแนวคิดพื้นที่สุขภาพและพื้นที่สีเขียว ที่ถูกเติมเต็มเข้ามาตามความตั้งใจของ “คุณนุ้ย-กนกอร บุญทวีกิจ” ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย “คุณภากร มหพันธ์ แห่ง M SPACE” และนี่คือผลลัพธ์ของ “ดาดฟ้า” พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

“ลาซาล เป็นย่านที่มีคนพลุกพล่าน มีโรงเรียนอยู่ประมาณ 12 โรงเรียน และมีตลาดมากมาย หรือแม้แต่พื้นที่แห่งนี้ เดิมทีก็เป็นตลาด เลยนำรูปแบบของความเป็นชุมชนทั้งสองอย่างมาผสมกันโดยคงรักษาสิ่งเดิมไว้ และสามารถตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี” หนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณนุ้ยตัด เจ้าของโครงการดาดฟ้าสินใจทำพื้นที่แห่งนี้เป็นคอมมิวนิตี้มอล พร้อมแบ่งปันสิ่งดีๆให้กับชุมชน ด้วยการสร้างพื้นที่รักสุขภาพอย่างพื้นที่สีเขียว ร้านอาหารที่คัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี กิจกรรมออกกำลังกายอย่างฟิตเนส โยคะให้กับชุมชน

จากตลาด โรงเรียน และธรรมชาติ สู่รูปแบบสถาปัตยกรรม

แนวคิดของสถาปัตยกรรมดาดฟ้าได้มีหยิบนำบริบทรอบข้างอย่างตลาด และโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายอย่างคอนกรีต เหล็ก และอิฐบล็อกช่องลม รูปแบบการก่อสร้างที่ตรงไปตรงมา มาผสมผสานสะท้อนจิตวิญญาณของพื้นที่ย่านลาซาลออกมาอย่างกลมกลืนมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อกับบริบทรอบข้าง โดยออกแบบให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่เปิดโล่ง คล้ายใต้ถุนที่มีการลดหลั่นพื้นให้มีความสูงไม่เท่ากัน เพราะเมื่อมองจากถนนด้านหน้าโครงการในระดับสายตา สามารถมองเห็นทุกความเคลื่อนไหวของชุมชนหรือแม้กระทั่งภายในโครงการที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาต่างๆได้

ด้านหลังโครงการและตลาดที่ย้ายจากพื้นที่ที่สร้างโครงการดาดฟ้าไปอยู่ด้านข้างของโครงการ

ใจกลางคือ ความร่มรื่น

ภายในโครงการจะเน้นพื้นที่เปิดโล่งเป็นหลัก ทำให้เราสามารถสัมผัสกับความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางของโครงการได้อย่างใกล้ชิด โดยมีตัวอาคารที่เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพโอบล้อมพื้นที่ของธรรมชาติเอาไว้ มีมุมที่นั่งเล็กๆที่สร้างจากวัสดุคอนกรีตสอดแทรกอยู่มากมาย และมีลานกิจกรรมที่สามารถรองรับการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆได้

แปลนอาคารของดาดฟ้า ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่สีเขียวที่อยู่ใจกลางโอบล้อมไปด้วยพื้นที่สถาปัตยกรรม

บันไดที่เชื่อมต่อชั้นสอง สอดแทรกอยู่ภายในพื้นที่ระหว่างสวนภายนอก

ลานโล่งที่สามารถรองรับการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆได้

ในส่วนชั้นล่าง จะเป็นร้านอาหารที่เจ้าของโครงการคัดสรรมาแล้วว่าดีต่อสุขภาพ ส่วนบนชั้นสอง จะเป็นกิจกรรมกีฬาอย่างโยคะ และฟิตเนส รวมถึงแปลงผักออแกนิกฟาร์มปันสุข ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบให้เหมือนอาคารเล็กๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใต้อาคารหลังใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบแต่ละร้าน เพื่อเว้นระยะระหว่างกันเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ และใช้กระจกในทิศทางที่มองเห็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติ สร้างบรรยากาศความร่มรื่นจากภายนอกสู่ภายใน และแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาได้

ความงามแห่งสัจจะวัสดุ

“สถาปัตยกรรมมันไม่ต้องรักษาสภาพตัวเองให้ใหม่อยู่ตลอดเวลา” นี่คือเหตุผลที่ดาดฟ้ามีโครงสร้างของสถาปัตยกรรมเป็นแบบ Architecture Landscape คือมีการใช้วัสดุที่ปล่อยให้ธรรมชาติออกแบบความงามเอง หรือ สัจจะวัสดุ ที่พยายามให้สถาปัตยกรรมเป็นเนื้อแท้เดียวกับโครงสร้าง และเห็นขั้นตอนของการก่อสร้างอยู่ในผิวอาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผนังหรือพื้นคอนกรีตที่ไม่มีการฉาบเรียบ หรือขัดมัน ไม่มีการทาสีใดๆ แต่จะดูแลรักษาด้วยการเคลือบสารกันเชื้อราแทน ส่งผลให้เกิดผิวสัมผัสที่เป็นไปตามไม้แบบที่หล่อ สวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ

ผนังคอนกรีต ที่สร้างผิวสัมผัสจากกระบวนการก่อสร้างอาคาร โดยเป็นลวดลายของไม้แบบที่หล่อ

ในส่วนของโครงสร้างเป็นโครงสร้างเหล็ก มีการทาสี และทาน้ำยากันสนิมไว้เพื่อรักษาความแข็งแรงของโครงสร้าง ส่วนเหล็กในส่วนอื่นๆอย่าง Facadeด้านหน้า ราวระเบียง ราวบันไดต่างๆ ก็จะปล่อยให้สีเปลี่ยนไปตามสภาพของตัวเหล็กเอง ซึ่งเมื่อสีสนิมเหล็กเริ่มกลืนเข้าหากัน เป็นเฉดสีที่เหมาะสมแล้ว ก็จะเคลือบน้ำยากันสนิม เพื่อเก็บรักษาความสวยงามอย่างเป็นธรรมชาตินั้นไว้

ชั้นสองโอบล้อมไปด้วย Facade ทั้งหมด 4 ด้าน ซึ่งในทิศเหนือ-ใต้ หรือด้านหน้า-ด้านหลังโครงการ เป็นเหล็กสนิมแผ่นที่มีช่องวงกลมเล็กๆทั่วทั้งแผ่น เพื่อให้ลมผ่านเข้ามาภายในพื้นที่ได้ ในขณะที่ช่วยกรองแสงให้ละมุนตามากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกรองเสียงที่เป็นมลภาวะจากหน้าถนนให้เบาบางลง

ส่วนด้านตะวันตก-ตะวันออก ใช้วัสดุอิฐบล็อกช่องลมที่มีรูปแบบเดียวกัน แต่พลิกแพลงหมุนด้านต่างกันให้เกิดมิติที่หลากหลาย เมื่อประกอบเข้าหากันจะคล้ายลายผ้าที่ถูกถักทอ โดยความงาม ความน่าสนใจจะขึ้นอยู่กับแสงแดดที่ตกกระทบเข้ามาทั้งด้านนอกและด้าน

“ยากพอสมควรครับ เพราะว่าอาคารสาธารณะ จะต้องรันในรูปแบบธุรกิจได้ด้วย แต่เราพยายามจะเชื่อมโยงความเป็นเมือง เก็บลักษณะธรรมชาติบางอย่าง จิตวิญญาณบางอย่างของซอยลาซาลไว้ โดยการดึงองค์ประกอบต่างๆเข้ามารวมกันอย่างกลมกลืนที่สุด” คำตอบของคุณภากรเมื่อถามถึงความยากง่ายในการออกแบบโครงการดาดฟ้า ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะแต่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนพื้นที่พักอาศัย ทุกเพศ ทุกวัย สามารถมาใช้ชีวิต สูดอากาศดีๆในพื้นที่สีเขียว กินอาหารที่รักสุขภาพ และใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันภายใต้สถาปัตยกรรมแห่งนี้