สถาปนิกผู้ใส่ใจสื่อความหมายด้วยการรับรู้จากประสาทสัมผัส การลงลึกในรายละเอียด มากกว่าแค่ความสวยงามในงานสถาปัตยกรรม
Peter Zumthor สถาปนิกที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้างสถาปัตยกรรมเรียบง่ายในรูปแบบร่วมสมัย และยังเป็นสถาปนิกที่ถ่ายถอดอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างละเอียด ลุ่มลึก โดยสื่อสารผ่านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น The Therme Vals และ Kunsthaus Bregenz ในปี 1996 และ 1997 เป็นต้น
Peter Zumthor เกิดวันที่ 26 เมษายน 1943 เมือง Basel ประเทศ Switzerland ในช่วงวัยรุ่นเขาฝึกงานเป็นช่างไม้เต็มตัว จากนั้นจึงเข้าเรียนด้านงานฝีมือและช่าง ที่ Basel Arts and Crafts School ในเมืองบ้านเกิด และเรียนต่อด้าน Industrial Design ที่มหาวิทยาลัย Pratt Institute ใน New York เมื่อเขาเรียนจบ งานแรกของเขาคือการเป็นสถาปนิกอนุรักษ์ในเมือง Graubünden, Switzerland
The Therme Vals
Peter Zumthor เป็นสถาปนิกที่ไม่ได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตรง แต่จากความตั้งใจแสวงหาความรู้และการทำงานของเขา ส่งผลให้เขามีความเชี่ยวชาญในด้านงานฝีมือ โครงสร้าง และวัสดุต่างๆ งานสถาปัตยกรรมของเขาจึงมีความน่าสนใจ ทั้งจากการลงลึกในรายละเอียดและการใส่ใจองค์ประกอบของการออกแบบ
The Therme Vals
ลึกลับ น่าค้นหา แฝงความรู้สึก
ดูเผินๆ สถาปัตยกรรมของ Peter Zumthor อาจไม่เด่นชัด แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือการสร้างประสบการณ์และการรับรู้ที่จับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก Martin Heidegger นักปรัชญาผู้โด่งดังในอดีต โดยเขาเชื่อว่าการที่จะเข้าใจงานออกแบบอย่างถ่องแท้นั้น สถาปัตยกรรมควรจะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานและสื่อสารผ่านทางที่ว่างและวัสดุ ปราศจากคำพูดหรือการอธิบายใดๆ
Serpentine Gallery Pavilion 2011
Steilneset Memorial
Peter Zumthor เปรียบเสมือนสถาปนิกผู้เป็นทั้งฤๅษีและนักปราชญ์ที่มีทั้งความสุขุมและน่านับถือ เขาเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก แต่กลับเลือกที่จะตั้งออฟฟิศของเขาในหมู่บ้านเล็กๆ กับจำนวนพนักงานในสตูดิโอเพียงไม่กี่คน ใกล้กับเทือกเขาแอลป์บ้านเกิดของเขา และเลือกที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมจำนวนไม่เยอะมากในแต่ละปี เพราะเขาเชื่อว่า ‘คุณภาพนั้นสำคัญมากกว่าปริมาณผลงาน’
Kunsthaus Bregenz
ผลงานของเขาสร้างผลกระทบต่อวงการสถาปัตยกรรมทั่วโลก และแฝงด้วยความลึกลับอยู่ภายใน ซึ่งแต่ละอาคารที่เขาออกแบบจะไม่แสดงถึงรูปแบบงานที่ชัดเจน เพราะเขาตระหนักถึงบริบท วัสดุ และการสร้างประสบการณ์มากกว่าความสวยงามที่จับต้องได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงจะกลายเป็นความหมายอันแท้จริงของงานสถาปัตยกรรม
Saint Benedict Chapel
ตลอดระยะเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลต่างๆมากมาย เช่น Praemium Imperiale ของ Japan Art Association ในปี 2008 รางวัล Carlsberg Architecture Prize ใน Denmark ปี 1998 รางวัล Mies van der Rohe Award สำหรับสถาปนิกยุโรป ในปี 2009 รางวัลเหรียญทองจาก Thomas Jefferson Foundation จากมหาวิทยาลัย University of Virginia และเขาได้รับรางวัล Pritzker prize หรือรางวัลที่ทรงคุณค่าของสถาปนิกมากที่สุดในปี 2009 นี่เอง

Los Angeles Country Museum of Art
Location: Los Angeles, USA
Peter Zumthor ออกแบบและวางแผนผังอาคารแห่งใหม่ของ Los Angeles Country Museum of Art (LACMA) ในเมือง Los Angeles โปรเจคนี้เป็นการรื้ออาคารเดิมทิ้งและสร้างใหม่ โดยมีการออกแบบพื้นที่กลางแจ้งแห่งใหม่ 3 แห่ง ที่ประกอบด้วยสวนจากประติมากรรมต่างๆ และสวนจากการผสานพืชพื้นถิ่นและพืชเมืองร้อน
ผังและแนวคิดอาคาร


เขาออกแบบพิพิธภัณฑ์ใหม่โดยคำนึงถึง “พื้นฐาน” และ “ความคงทน” ภายใต้พื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 36,000 ตารางเมตร โดยมีห้องแสดงผลงาน 7 ห้อง ตั้งอยู่ในชั้นต่างๆ โดยนำเส้นสายจากธรรมชาติมาประยุกต์เป็นขอบเขตของอาคาร และเลือกใช้กระจกโปร่งแสงเป็นวัสดุหลัก เพื่อเชื่อมต่อภายในสู่ภายนอกอาคาร
เป้าหมายของโปรเจคนี้คือการสร้างอาคารใหม่แทนอาคารเก่าซึ่งค่อนข้างทรุดโทรม และเพื่อพัฒนาพื้นที่การใช้งานให้เหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งนอกจากแกลเลอรีแล้ว โปรเจคนี้ยังมีโรงละครอีกด้วย ซึ่งการรื้อถอนอาคารเดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2018 และพร้อมเปิดให้ใช้งานภายในปี 2023

Kolumba Museum
Location: Cologne, Germany
พิพิธภัณฑ์ Kolumba ตั้งอยู่ที่เมือง Cologne ประเทศ Germany ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เดิมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นบ้านที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปะสไตล์ Roman Catholic ซึ่งมีอายุมากกว่าพันปี Peter Zumthor จึงออกแบบอาคารโดยใช้เศษซากปรักหักพังของบ้านที่ถูกทำลายทิ้ง มาเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงถึงการอนุรักษ์และคงอยู่ของเรื่องราวในอดีต

เขาใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ ภายนอกจะเป็นอาคารสไตล์ร่วมสมัย ด้วยการใช้อิฐสีเทาเจาะรู เพื่อกรองแสงและระบายอากาศภายใน

พิพิธภัณฑ์ถูกสร้างครอบคลุมซากอาคารเดิมและใช้โครงสร้างของอาคารเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องจากอาคารเดิม โดยเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และสถานที่ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวในอดีต และสร้างความเงียบสงบท่ามกลางซากปรักหักพัง ที่หวนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องแสดงนิทรรศการแบบเวียนและถาวรจำนวน 16 ห้อง

Brother Klaus Field Chapel
Location: Wachendorf, Germany
โบสถ์ที่เรียบง่ายตั้งตระหง่านท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเขียวในเมือง Wachendorf, Germany สร้างขึ้นเพื่อสรรเสริญนักบุญ Saint Nicholas von der Flüe หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brother Klaus โดย Peter Zumthor ได้รับการมอบหมายจาก Hermann-Josef Scheidtweiler และ Trudel ภรรยาของเขาให้ออกแบบโบสถ์แห่งนี้ ซึ่งมีเพื่อนบ้านและช่างฝีมือในชุมชนต่างช่วยกันสร้างโบสถ์ให้เสร็จสมบูรณ์
โดยตอนเริ่มแรก โบสถ์นี้เกิดจากภาพสเกตช์มือของ Peter Zumthor จากนั้นจึงพัฒนาเป็นโบสถ์ในปัจจุบัน
โครงสร้างของโบสถ์เกิดจากการนำท่อนไม้จำนวน 112 ต้น มาขัดกันคล้ายกับโครงเต็นท์ จากนั้นจึงเทคอนกรีตผสมและแปะคอนกรีตติดตามโครงสร้างทั้งหมด 24 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความหนาถึง 50 เซนติเมตร และเมื่อคอนกรีตเซทตัว ก็ทำการเผาไม้ภายในโบสถ์ เพื่อสร้างโพรงและผนังสีเข้มภายในอาคาร

เมื่อเข้ามาภายในโบสถ์จะพบกับหลังคาเจาะทะลุตรงกลาง คอยสะท้อนภาพบรรยากาศจากท้องฟ้าและดวงดาวภายนอก แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาเมื่อผู้ใช้งานมาเยือน
Peter Zumthor and Swiss Sound Box, Swiss Pavilion, Expo 2000
Peter Zumthor สถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ผ่านความเงียบสงบ ความสมบูรณ์แบบ และประวัติศาสตร์ ด้วยการออกแบบประสบการณ์การรับรู้ภายในอาคาร ให้แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งนี่คือรูปแบบงานที่ชัดเจนของ Peter Zumthor ผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่สื่อถึงตัวตนและเรื่องราวของอาคารได้ด้วยตนเอง
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Archdaily, Dezeen, Designboom, Pritzkerprize, Arcspace