OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Chez Mou ส่วนผสมของความคลาสสิค และความทันสมัย ในตึกแถวอายุกว่า 100 ปี

 “รีโนเวทตึกแถวเก่าที่มีหน้ากว้างไม่ถึง 4 เมตร ให้กลายเป็นห้องพักและคาเฟ่”

Location: เจริญกรุง 44, กรุงเทพฯ
Owner: คุณหมู ล่ำวัฒนนนท์ 
Architect: sea monkey coconut
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“อาคารพาณิชย์” หรือ “ตึกแถว” ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเภทอาคารที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ไม่ว่าจะไปแห่งหนใด เราก็สามารถพบเจอตึกแถวได้ง่ายดาย ซึ่งในแต่ละย่านรูปแบบจะแตกต่างกันออกไป และส่วนใหญ่มีความเก่าแก่ด้วยกันทั้งนั้น การรีโนเวทอาคารประเภทนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย “Chez Mou” ก็เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ของการรีโนเวทตึกแถวย่านเจริญกรุงที่มีอายุอานามมากกว่า 100 ปี และถูกปล่อยร้างมาแรมปี แต่ด้วยความตั้งใจของเจ้าของ “คุณหมู ล่ำวัฒนนนท์” ที่ไว้วางใจให้สถาปนิกที่ตนชื่นชอบผลงานอย่าง “คุณป๊อก แห่ง sea monkey coconut เข้ามาสานฝันให้ตึกแถวนี้ กลายเป็นคาเฟ่และห้องพัก โดยใส่ส่วนผสมของความวินเทจ และความทันสมัยลงในตึกแถวนี้ได้อย่างลงตัว

3 ชั้น 2 ฟังก์ชัน

“เริ่มต้นการออกแบบด้วยการมองความเป็นไปได้ เพราะว่าหน้าตาของตึกก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน” คุณป๊อกเล่าถึงแนวทางการออกแบบแรกหลังจากได้รับโจทย์ของโปรเจคนี้ ตึกแถวหน้ากว้างไม่ถึง 4 เมตรที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากตึกรามบ้านช่องรอบข้าง เนื่องจากตึกนี้ผ่านการใช้งานมาหลายช่วง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง จึงต้องสำรวจโครงสร้างและความเป็นไปได้ของฟังก์ชันที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ก่อนทำการรีโนเวท

ซึ่งสุดท้ายความลงตัวของ “Chez Mou” ตึกแถว 3 ชั้น ที่มี 2 ฟังก์ชัน คือ ห้องพักAirbnb จำนวน 2 ห้อง จัดวางอยู่ในชั้นสองและชั้นสาม ส่วนชั้นล่างสุดเป็นคาเฟ่ ที่ยินดีต้อนรับคนภายนอกให้เข้ามาลิ้มรสชาติของกาแฟและขนมอบฝีมือคุณหมูเอง

ไดอะแกรม ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ภายในตึก

ส่วนผสมเก่า ปรุงรสชาติใหม่

อะไรที่เป็นของเก่า เราจะเก็บรักษาไว้ ส่วนอะไรที่เป็นของใหม่ เราจะทำใหม่ให้รู้เลย” คำอธิบายของสถาปนิกเกี่ยวกับภาพโครงสร้างเก่าและใหม่ที่ผสมผสานกันอยู่ภายในตึกแถวนี้ เหตุเพราะเมื่อสกัดผนังเดิมเพื่อดูสภาพก่อนทำการรีโนเวท พบว่าผนังอิฐบางส่วนเป็น “Wall Bearing” หรือระบบผนังที่เป็นโครงสร้างอาคาร รับน้ำหนักและถ่ายแรงสู่โครงสร้างใต้ดินโดยตรงมีความทรุดโทรมตามกาลเวลา รวมถึงพื้นเดิมที่มีรอยร้าว สถาปนิกจึงตัดสินใจเก็บเพียงผนังที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคารเดิมไว้ และเพิ่มโครงสร้างใหม่เป็นโครงสร้างเหล็กที่มีระบบการรับน้ำหนักแยกออกมาจากโครงสร้างเดิมอย่างสิ้นเชิง

ภาพก่อนการรีโนเวท

ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก หน้ากว้างไม่ถึง 4 เมตร สถาปนิกจึงเลือกใช้เสาเข็มแบบไมโครไพล์ ที่สะดวกและมีความแข็งแรงเทียบเท่ากับเข็มเจาะที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก และวิธีการก่อสร้างแบบแห้งเป็นหลักเพื่อย่นระยะเวลาและง่ายต่อการขนย้ายวัสดุก่อสร้าง

ในส่วนของชั้นล่างที่เป็นคาเฟ่ ผนังอิฐเดิมที่ตัดกับโครงสร้างเหล็กสีดำอย่างชัดเจน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์วินเทจผสมผสานความทันสมัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างบรรยากาศความร่มรื่นภายในร้าน

ห้องน้ำภายในห้องพักชั้น 2 ที่ด้านซ้ายเป็นผนังก่ออิฐเดิม บานหน้าต่างเดิม ผสมผสานการตกแต่งที่ทันสมัย เลือกใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุที่เรียบง่าย อย่างลายหินอ่อน และตู้ไม้โทนอบอุ่น

สถาปนิกได้ย้ายทิศทางของบันไดจากเดิมซึ่งอยู่ทางด้านซ้าย มาทางด้านขวา และเชื่อมต่อตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบนสุด และออกแบบช่องหน้าต่างบานกระจกใสที่ชั้นบนสุด เพื่อเปิดรับแสงจากธรรมชาติเข้ามาสู่บันไดทางขึ้น ซึ่งข้อดีคือทำให้ภายในห้องพักสามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างลงตัว และใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

ห้องน้ำอยู่หน้า ห้องนอนอยู่หลัง

ความพิเศษของห้องพักในชั้น 2 และ ชั้น 3 นอกจากจะออกแบบให้แต่ละห้องมีพื้นที่กว้างขวางและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแล้ว ยังมีการวางแผนแบบ Open Plan ที่พื้นที่เชื่อมต่อกัน ทำให้ภายในห้องดูโปร่งโล่ง แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ การจัดวางห้องน้ำไว้ด้านหน้าของอาคาร ซึ่งแตกต่างจากจากการออกแบบทั่วไป ทั้งนี้นอกจากสร้างเอกลักษณ์ให้กับห้องพักแล้ว ยังช่วยเรื่องการระบายอากาศและความชื้นในห้องน้ำได้ดีกว่าด้วย

ส่วนนั่งเล่นของห้องพักชั้น 3 จึงถูกจัดวางไว้ด้านหลังของอาคารแทน

ซึ่งเมื่อมองกลับไปทางด้านหน้าอาคาร จะเป็นส่วนของห้องนอน และห้องน้ำ

เมื่อเปิดประตูกระจกฝ้าออกไป จะพบกับห้องน้ำ ที่มีระเบียงออกสู่ภายนอกให้ผู้เข้าพักสามารถสัมผัสกับบรรยากาศเมืองได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

เชื่อมต่อแสงธรรมชาติ ในสองทิศทาง

“เราเสียพื้นที่ก็จริง แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือ แสงที่จะทำให้พื้นที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น” เหตุผลที่สถาปนิกบอกกับเราเมื่อถามถึงช่องแสงด้านหลังที่เชื่อมต่อกันตั้งแต่ชั้นล่างสุดจนถึงบนสุด การซุกซ่อนพื้นที่ต้อนรับธรรมชาติ อย่างแสงแดด ลม และฝนนี้ ทำให้ห้องพักในแต่ละชั้นนั้น สามารถรับแสงธรรมชาติในเวลากลางวันได้ บรรยากาศน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ด้วยหน้าต่างที่สามารถเลือกปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว และเปิดเพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในห้องพักชั้น 3 ยังมีฝ้าเพดานที่สามารถเปิด-ปิดด้วยระบบชักรอก เพื่อเลือกเปิดรับแสงในช่วงเวลาที่ต้องการ ซึ่งในระบบชักรอกนี้ สถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากโกดังสินค้า ที่มักใช้ระบบการเปิดปิดหลังคาแบบชักรอกนั่นเอง

เปลี่ยนสถานะของเก่า ในรูปแบบใหม่

ด้วยความที่ตึกแถวมีอายุมาก ส่วนประกอบต่างๆอย่างประตู หน้าต่างบานไม้ ในบางจุดค่อนข้างทรุดโทรม ซึ่งหากคงไว้คงใช้งานได้ไม่ดีนัก แต่หากจะทิ้งก็เสียดาย สถาปนิกจึงหยิบนำส่วนต่างๆเหล่านี้ มาปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นเสมือนภาพแห่งความทรงจำ แขวนตกแต่งไว้ตามฝาผนังในส่วนที่ปรับปรุงใหม่

ส่วนพื้นไม้เดิมที่ถูกรื้อทิ้งเนื่องจากความผุพังตามกาลเวลา ถูกนำมาใช้เป็น Partition โอบล้อมพื้นที่ด้านหลังที่เป็นช่องเปิดโล่งไว้ เพื่อความเป็นส่วนตัวของห้องพักที่มากขึ้น

ในห้องพักชั้น 3 ในส่วนด้านหน้าอาคารที่เป็นห้องน้ำ จะมีร่องรอยของหลังคาเดิมอยู่ ซึ่งหลังจากทำการรีโนเวท ได้ถูกปรับเปลี่ยนระดับความลาดชันของหลังคาให้สูงขึ้น และเปลี่ยนทิศทางของจั่วหลังคา เพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งให้กับพื้นที่ภายในมากขึ้นกว่าเดิม ร่องรอยเหล่านี้จึงกลายมาเป็นการตกแต่งสุดคลาสสิคที่สร้างเอกลักษณ์ และระลึกภาพของรูปแบบอาคารเก่าไม่ให้จางหายไปอีกด้วย

ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเก่าและใหม่ ที่หลอมรวมอย่างกลมกล่อมภายในตึกแถวแห่งนี้ คงเป็นอีกหนึ่งผลงานดีๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้าง และอนุรักษ์รูปแบบอาคารดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี