“หลังเดียวกัน แต่แบ่งชัดเจน”
Location: เชียงใหม่
Owner: ดำรงศักดิ์ รอดเรือน
Architect: Mitr Architects
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
หากใครเคยได้ลองสัมผัสบรรยากาศในเมืองเชียงใหม่แล้วล่ะก็ ภาพจำคงหนีไม่พ้นอากาศสบายๆ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนาเป็นแน่แท้ แต่ในวันนี้นับว่าเป็นโชคดีที่เราได้มีโอกาสมาแอ่วบ้านของช่างภาพ “คุณเม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน” ที่ไว้วางใจให้เพื่อนอย่าง “คุณโน้ต- วรรัตน์ รัตนตรัย” รวมทั้งทีมสถาปนิกจาก Mitr Architects อย่าง “คุณเบล-พีระพงษ์ พรมชาติ และตั้ม-เกรียงไกร กันนิกา” มาออกแบบภาพของบ้านพักอาศัยและสตูดิโอให้เป็นจริง ภายใต้ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ถูกจัดเรียงในแบบที่แตกต่างจากเดิม ท่ามกลางบรรยากาศดีๆในเมืองเชียงใหม่
ทีมสถาปนิกจาก Mitr Architects
จากความต้องการของคุณเม่น เจ้าของบ้านผู้เป็นช่างภาพ ที่มีความต้องการบ้านพักอาศัยพร้อมทั้งสตูดิโอถ่ายภาพ Doccupine เพื่อตอบโจทย์การทำงานในอาชีพที่ตนเองรัก และกำหนดโจทย์ให้มีการแยกการใช้งานของฟังก์ชันทั้งสองออกจากกันอย่างชัดเจน โดยมีทางเข้าคนละทางเพื่อความเป็นส่วนตัวและสะดวกสบายมากกว่า ความท้าทายในการออกแบบจึงเริ่มต้นขึ้น…

ภายใต้หลังคาเดียวกัน
ด้วยความที่พื้นที่ทั้งหมดเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู และมีถนนรายล้อมทั้งสามด้าน การกำหนดทางเข้า-ออกของบ้านและสตูดิโอเป็นสองทางจึงเป็นไปอย่างพอเหมาะพอเจาะ โดยในการวางผังและรูปแบบของตัวบ้านนั้น สถาปนิกได้ออกแบบทุกฟังก์ชันให้อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน แต่ทว่าพื้นที่ภายในกลับมีการแบ่งการใช้งานกันอย่างชัดเจน โดยไม่มีทางเชื่อมต่อกันระหว่างสตูดิโอและบ้านพักอาศัยเลย ทั้งนี้เพื่อความเป็นส่วนตัวในขณะที่มีคนมาเช่าสตูดิโอถ่ายภาพนั่นเอง
ซึ่งบ้านและสตูดิโอถูกจัดวางตำแหน่งให้ค่อนไปทางด้านหลังติดกับส่วนทางเข้าของสตูดิโอ เพราะอยากให้ส่วนของบ้านมีพื้นที่ด้านหน้าเพื่อสร้างบริบทธรรมชาติให้รายล้อมมากที่สุด ทำให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสถึงการพักผ่อนและความร่มรื่นตลอดทุกช่วงเวลา
แปลนของบ้าน
Section ของบ้าน


พื้นที่รองรับแสง
เนื่องจากทิศหน้าบ้านเป็นทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่มีแสงแดดตกกระทบตลอดในช่วงกลางวัน สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ภายใต้ชายคาที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน 2 เมตร เพื่อป้องกันแสงแดดสาดส่องเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านอย่างห้องนั่งเล่นโดยตรง รวมถึงออกแบบผนังคอนกรีตสองชั้น(Double Skin) โดยพื้นที่ระหว่างผนังได้กลายเป็นสวนหิน จัดเรียงต้นไม้ในกระถางตามแนวกำแพง เพื่อเพิ่มสุนทรีภาพในการอยู่อาศัย แถมยังช่วยกรองแสงแดดให้เข้ามาอย่างพอดีอีกด้วย
สวนระหว่างผนัง ซึ่งผนังภายนอกมีการเจาะช่องในรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆเรียงกันเป็นแนว เพื่อให้บ้านดูไม่ทึบตัน และแสงผ่านเข้ามาได้เล็กน้อย
ภายในบ้านถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย จัดวางฟังก์ชันเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ห้องนั่งเล่นที่พื้นและฝ้าเพดานเป็นไม้ มีคานคอนกรีตที่ตัดกับพื้นผิวผนังสีขาวอย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของพื้นที่โดยไม่ต้องใช้การตกแต่งเพิ่มเติมมากมาย โดยจากห้องนั่งเล่นมีทางเชื่อมต่อไปยังโถงทางเดินที่เปิดมุมมองสู่คอร์ทเล็กๆกลางบ้าน ก่อนไปยังห้องนอนอีกสองห้องด้านหลัง
คานคอนกรีต และสกายไลท์ หรือช่องแสงด้านบนที่ยินดีต้อนรับแสงจากภายนอกเข้ามาสู่โถงทางเดินตรงกลางในเวลากลางวัน
ห้องนอนของคุณเม่น ที่ตกแต่งในสไตล์ที่ตัวเองชอบ
ส่วนสตูดิโอถ่ายภาพจะตกแต่งในสไตล์ Industrial และถูกกำหนดขนาดพื้นที่มาแล้วตามความต้องการของคุณเม่น เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะกิจกรรม หรืองานที่จะเกิดขึ้นภายใน

กลิ่นอายเชียงใหม่ และเรื่องเล่าของวัสดุ
“จริงๆไม้พวกนี้มันมีเสน่ห์ตรงที่มีตำหนิ เพราะแต่ละชิ้นมันจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน” คุณเบล สถาปนิกจาก MITr เล่าให้เราฟังถึงความโดดเด่นของไม้เนื้อแข็งเก่าที่ตอนนี้ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นเสา 6 ต้นเรียงกันบริเวณหน้าบ้าน ที่นอกจากทำบ้านดูน่าสนใจมากขึ้นแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยประคองน้ำหนักของชายคาที่ยื่นออกมากว่า 2 เมตรให้แข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
ปลายชายคา


สถาปนิกยังตั้งใจออกแบบบ้านหลังนี้ โดยใส่ “กลิ่นอายเชียงใหม่” ด้วยการเลือกวัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น แต่มีการนำมาจัดเรียงใหม่ในรูปแบบที่ทันยุคทันสมัย ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ดัดแปลงพื้นผิวของผนังคอนกรีตด้วยการกะเทาะออก เผยพื้นผิวขรุขระออกมาลบภาพจำของผนังคอนกรีตฉาบเรียบแบบเดิมๆ เป็นการสร้างภาษาของคอนกรีตที่หลากหลายมากขึ้น

เรื่องเล่าของสัดส่วน
หากลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่าสัดส่วนต่างๆภายในบ้านหลังนี้เป็นไปอย่างพอดีพอเหมาะ ไม่เล็กเกินไป หรือใหญ่เกินไป อย่างชานคอนกรีตที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน นอกจากเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องเข้าพื้นที่ภายในบ้านโดยตรงแล้ว ยังถูกออกแบบให้มีระดับความสูงเหมาะสำหรับการนั่ง โดยปล่อยเท้าให้สัมผัสกับพื้นหญ้า เสมือนพื้นที่ของชานในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเดิมของเชียงใหม่
รวมถึงประตูและหน้าต่าง ถูกจัดวางในตำแหน่งที่เปิดไปสู่พื้นที่สีเขียวภายนอก มีการเลือกใช้กระจกที่เข้ามุม เพื่อเปิดมุมมองออกไปสู่พื้นที่สีเขียวภายนอกได้กว้างมากขึ้น เป็นจุดเชื่อมต่อกันระหว่างบ้านและธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ปล่อยตามกาลเวลา
“เราไม่สามารถแต่งเติมสีสันวัสดุได้ทั้งหมดของชีวิตเรา เวลามันจะช่วยระบายทุกอย่างในวัสดุเอง” คำตอบของทีมสถาปนิก MITr เมื่อถามถึงการบำรุงรักษาวัสดุต่างๆภายในบ้าน อย่างไม้ที่มีการเคลือบน้ำยาต่างๆในส่วนที่เป็นโครงสร้างแล้ว ที่เหลือจะปล่อยให้วัสดุเปลี่ยนแปลงตามเวลา และเป็นไปตามธรรมชาติของวัสดุ เพราะเชื่อว่าเวลาจะสามารถเล่าเรื่องราวระหว่างทางของวัสดุได้ดีที่สุด
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือ Vernacular ที่สถาปนิกพยายามออกแบบบ้านหลังนี้ออกมาในภาษาที่หลากหลายมากกว่าการเป็นเรือนไทยอย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏออกมาในงานออกแบบชิ้นนี้ จึงเป็นการหาความหมายใหม่ๆให้กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และการเรื่องตีความวัสดุในแบบใหม่ๆอีกด้วย