“ใส่ลักษณะธรรมชาติในองค์ประกอบอาคาร”
Multi-Purpose Hall of Shaoxing Hotel
Location: Shaoxing, China
Architect: UAD
ยังคงเผยภาพงานออกแบบให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ สำหรับการปรับปรุงรีโนเวทครั้งยิ่งใหญ่ของโรงแรม “Shaoxing Hotel” ที่หลังจากการแปลงโฉม Lobby สถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิมอันสวยสง่าให้เสร็จสมบูรณ์มาไม่นาน ล่าสุด UAD สถาบันการออกแบบสถาปัตยกรรมและการวิจัยของมหาวิทยาลัย Zhejiang University ผู้ออกแบบงานรีโนเวทโรงแรมแห่งนี้ ก็เผยภาพงานออกแบบอาคารอเนกประสงค์ (Multi-Purpose Hall) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโรงแรม โดยออกแบบโถงที่สามารถบรรจุคนได้มากถึง 1000 คน ซึ่งสวนทางกับขนาดของพื้นที่ที่เล็ก และนี่คือจุดเริ่มต้นของความท้าทายที่เกิดขึ้น

Shaoxing Hotel โรงแรมในเมืองเส้าซิง ประเทศจีน พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมจีนโบราณ บูรณะมาจาก “Lingxiao Pavilion” ที่มีส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ในรูปแบบดั้งเดิมอย่างผนังสีขาว หลังคากระเบื้องสีดำ ทางเดินกึ่งภายนอกที่ลมสามารถผัดผ่านได้ สะพานข้ามทางน้ำ หรือการจัดสวนที่ลงตัว จุดมุ่งหมายหลักในการรีโนเวทพื้นที่แห่งนี้จึงเป็นเรื่องของความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของเมือง และการดำรงไว้ซึ่งอารยธรรมทางสถาปัตยกรรม

สัมผัสธรรมชาติในรูปด้าน
เมื่อใช้ธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานในการออกแบบ การนำองค์ประกอบอย่างภูเขา และหิน มาเรียบเรียงให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมใหม่ที่มีเอกลักษณ์จึงเกิดขึ้น อย่างในส่วนของหลังคาที่สถาปนิกรื้อของเก่าออก และใส่หลังคาจั่วสองชั้นขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนภาพวาด“ภูเขาสองลูกซ้อนทับกัน” และกำแพงที่มีการจัดเรียงอย่างเรียบง่าย ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่ช่วยสื่อสารความหมายแห่งธรรมชาติออกมา ภายใต้สถาปัตยกรรมจีนที่งดงามเมื่อมองจากรูปด้าน


หน้าต่างและเสาที่แกะสลักเส้นตรง แสดงให้เห็นถึงเส้นชีวิตระหว่างเมืองและธรรมชาติ
เสาทองแดงที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติทั่วไป นอกจากจะทำหน้าที่รับโครงสร้างของชายคาแล้ว ยังเป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ ที่ทำให้รับรู้และสัมผัสแนวคิด ‘urban forest’ หรือแนวคิดการสร้างป่าในเมืองนั่นเอง


ภายนอกอาคารดูเหมือนอาคารสามชั้น แต่ทว่า ภายในกลับดูโปร่งโล่ง ด้วยพื้นที่หลักเพียงชั้นเดียวที่เพียงพอสำหรับการรองรับการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ และบรรจุคนได้มากพอสมควร แตกต่างจากอาคารเก่าในพื้นที่เดิมที่ค่อนข้างเป็นกลุ่มของอาคารเล็กๆเชื่อมต่อกัน ขนาดของหลังคาถูกเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับบริบททางสถาปัตยกรรมโดยรอบ ดังนั้นหากมองจากภายในจะทำให้เห็นหลังคามีความลาดเอียง
ภาพ Siteplan ระหว่างพื้นที่ก่อนและหลังการรีโนเวท
ส่วนประกอบอาคารและพื้นที่ภายใน


กลมกลืนบริบท ลดทอนอาคาร ด้วยการใส่ธรรมชาติ
ด้านทิศตะวันตกของอาคารที่เป็นภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ สถาปนิกก็พยายามที่จะหล่อหลอมอาคารหลังใหญ่นี้ให้เข้ากับเมือง ด้วยการใส่ธรรมชาติหรือการจัดสรรพื้นที่ภูมิทัศน์ใหม่ให้มีมิติมากขึ้น โดยคำนึงถึงบริบทเมืองโดยรอบและการที่ใส่ธรรมชาติเข้ามานั้นเมื่อมองจากภายนอกจะทำให้ก้อนอาคารที่ดูใหญ่ดูเบาบางลงอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วนในทิศใต้ก็มีการสร้างธรรมชาติขึ้นมาเพิ่มเช่นกัน ด้วยลักษณะของสวนที่ทอดยาวจากถนนเข้าสู่ตัวอาคาร ซึ่งไม่เพียงแต่ต้นไม้เท่านั้นที่เข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสวนแห่งนี้ แต่ยังมีสระน้ำที่จะสะท้อนแสงและเงา มาช่วยสร้างบรรยากาศที่จะทำให้ผู้ใช้งานในอาคารสัมผัสได้ถึงธรรมชาติได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นทางเข้าหลักและทาง drop off

ในทิศเหนือมีการออกแบบชายคาซ้อนทับกันในระดับที่แตกต่างกัน เสมือนการค่อยๆเปลี่ยนถ่ายจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจากภายในมาสู่ความโมเดิร์นมากขึ้น เพราะอยากให้กลมกลืนกับอาคารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน นั่นคือโรงเรียน Datong ที่อาคารมีชายคาซ้อนทับกันสองชั้นนั่นเอง ส่วนสิ่งที่ยังคงความดั้งเดิมขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจีนเอาไว้ นั่นคือสะพาน ที่มีเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นเมืองได้อย่างน่าสนใจ
ดีเทลชายคาที่ออกแบบให้มีระดับที่แตกต่างกันซ้อนทับกันอยู่ ช่วยเพิ่มมิติของอาคารและกลมกลืนกับบริบท
การบูรณะพื้นที่ภายในโรงแรม Shaoxing Hotel แห่งนี้ ให้กลายเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่สามารถสะท้อนความดั้งเดิมในรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนพื้นถิ่นไว้ เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่กลมกลืนกับบริบท ใส่ความหมายของธรรมชาติเข้าไปได้อย่างลงตัว และเชื่อว่ายังคงมีงานบูรณะในส่วนอื่นๆภายในโรงแรมมาให้เราได้ติดตามกันอีกอย่างแน่นอน