OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Whereder Poshtel พอชเทลไร้สไตล์ ที่ผสมผสานกลิ่นอายไทยบ้านอีสานออกมาผ่านความรู้สึก

“ต้อนรับนักเดินทางในอุดรด้วยความอบอุ่น”

Whereder Poshtel
Location: อำเภอเมือง, อุดรธานี
Architect: วิรัช ปัณฑพรรธน์กุล Rice popper design studio
Owner: หจก.ประจักษ์โฮลดิ้ง555
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความน่ารักของลูกเล่นไทยพื้นบ้าน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการตกแต่งที่ Whereder Poshtel แห่งนี้ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นหัวใจตั้งแต่ครั้งแรกที่มาเยือนเมืองอุดรธานี เพราะด้วยบรรยากาศตั้งแต่ภายนอกที่ใช้ไม้ไผ่ วัสดุพื้นบ้านไทยมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมิติกรอบภาพของอาคารได้อย่างน่าสนใจ ยิ่งเพิ่มความอยากรู้จักมักจี่กับพื้นที่แห่งนี้มากขึ้นอีกเท่าตัว

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณรัช ปัณฑพรรธน์กุล” สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่แห่งนี้ และหุ้นส่วนของโปรเจกต์ เกี่ยวกับความเป็นมา กว่าจะเป็นพอร์ชเทลแห่งนี้ไว้ว่า ตึกแถวสองคูหานี้เป็นอาคารเก่า เดิมทีมีคนมาเช่าทำเป็นสำนักงานบ้าง ธนาคารบ้าง ผ่านมาหลายสิบปีอาคารเริ่มทรุดโทรมจึงได้ทำการรีโนเวทพื้นที่ทั้งหมด โดยตอนแรกตั้งใจจะปรับปรุงเพื่อให้เช่าต่อไป แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเปิด Whereder Poshtel เพราะด้วยตำแหน่งที่ติดถนนใหญ่ใจกลางเมือง เหมาะสำหรับที่พักต้อนรับนักเดินทางในอุดรเป็นที่สุด

ความน่ารักใต้ถุนตามแบบฉบับอีสาน

ด้วยความที่เมืองอุดรมีความเป็นคนเมืองสูง รูปแบบของตึกรามบ้านช่องในแบบอีสานจึงถูกกลืนกิน และจางหายไป สถาปนิกจึงอยากดึงจิตวิญญาณของอีสาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งลักษณะนิสัย ลักษณะการตกแต่ง วัสดุ มาใช้เป็นแนวคิดสำคัญในการออกแบบที่นี่ โดยเริ่มต้นจากการสัมผัสลักษณะนิสัยของคนอีสานที่ต้อนรับแขกด้วยความอบอุ่น และดูแลเป็นอย่างดี คล้ายกับการไปนอนบ้านเพื่อน พื้นที่ชั้นล่างสุดจึงเป็นดั่ง “ใต้ถุน” ส่วนต้อนรับของผู้ที่มาพักพอชเทลและร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูอีสานแบบใหม่ให้ได้ลิ้มลองความอร่อยกัน

และเพื่อให้คนอ่านภาษาของพื้นที่ได้ง่ายขึ้น สถาปนิกจึงออกแบบที่นั่งชั้นลอย เพื่อเกิดพื้นที่ด้านล่าง ที่เมื่อไปนั่งแล้วจะสัมผัสความรู้สึกใต้ถุนบ้านเรือนไทยอย่างแท้จริง

พื้นที่นั่งด้านบนชั้นลอย

เฮือนนอนแสนม่วนใจ๋

ห้องพักของที่นี่มีทั้งแบบห้องมิกซ์ดอร์ม นอนรวม 10 เตียง 6 เตียง และ 4 เตียง โดยมีห้องน้ำรวมแยกเป็นชายในชั้น 2 และหญิงในชั้น 3 และยังมีห้องเฉพาะสำหรับผู้หญิง หรือมาเป็นแบบครอบครัว 4 เตียง โดยมีห้องน้ำภายในตัวอย่างสะดวกสบาย ภายในตกแต่งโดยใช้วัสดุไม้เป็นหลัก เพื่อให้นักเดินทางทุกคนสัมผัสได้ถึงวิถีพื้นบ้านและใกล้ชิดกับองค์ประกอบตามแบบฉบับของเรือนนอนในบ้านไทยแบบอีสานได้อย่างอบอุ่น

นอกจากนี้ยังมีห้องนอนแบบส่วนตัวด้วย โดยบนผนังหัวเตียง จะมีคำอวยพรเกี่ยวกับเดินการเดินทาง “อยู่ให้…มีชัย ไปให้…มีโชค” ด้วยตัวอักษรสีส้ม บนเตียงตกแต่งด้วยหมอนขิด หรือหมอนอิงที่แสดงความเป็นอีสานได้เป็นอย่างดี

ความไม่เข้ากันอย่างตั้งใจ

คนอีสานชอบสร้างบ้านคนอื่นก่อนบ้านตัวเอง บางทีสร้างบ้านตัวเองยังไม่เสร็จก็พักไว้ก่อน พอมีงานก็ไปช่วยกันสร้างบ้านคนอื่นให้เสร็จแล้วค่อยกลับมาสร้างบ้านตัวเอง ถ้าลองสังเกตดีๆ จะมีการใช้องค์ประกอบที่ดูไม่เข้ากัน เฟอร์นิเจอร์ที่หลากหลาย เพราะเกิดจากความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆปะติดปะต่อก่อสร้างและตกแต่งนั่นเอง” คุณรัชเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านอีสานสมัยก่อน ที่นำมาใช้ในการตกแต่งภายใน ด้วยการหยิบจับสิ่งใกล้ตัว อย่างเก้าที่ที่หลากหลาย สีสันที่ดูเหมือนไม่เข้ากันอย่างตั้งใจ ไม่มีสไตล์ที่ชัดเจน เสมือนเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับที่นี่

สีสันสุดตาของลิฟต์สีเหลือง และบันไดเหล็กพับสีน้ำเงิน

ความหลากหลายของรูปแบบเก้าอี้และโต๊ะที่เกิดขึ้น

เครื่องมือเครื่องจักรสานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระด้ง จ่อเลี้ยงไหม ไซดักปลา ถูกนำมาเป็นสิ่งประดับตกแต่งผนัง โมบายคราฟท์ และโคมไฟโคมไฟ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่เราจะได้สัมผัสความน่ารักของคนอีสาน

ไม้ไผ่ วัสดุดั้งเดิมที่ถูกใช้เป็นรั้วบ้าน หรือเครื่องมือทำมาหากินต่างๆ ถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นผนังตกแต่งภายในชั้น 3 ในส่วนของพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร และส่วนครัว รวมถึงยังเป็น Double Skin หรือเปลือกอาคาร ที่ช่วยกรองแสงแดดจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในอาคารได้อย่างพอดิบพอดี

“เราสามารถออกแบบได้ ทดลองในสิ่งที่เราไม่เคยทำอย่างแรงบันดาลใจที่ได้จากความเป็นอีสาน ผลลัพธ์ไปสู่การออกแบบที่ยกระดับความเป็นอีสานที่คนมองว่าเชย ให้กลายเป็นอีสานแบบใหม่ได้อย่างภูมิใจ” ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ ที่คุณรัชกล่าวถึงบทสรุปของภาพรวมที่ได้ออกแบบที่นี่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการหยิบจับองค์ประกอบต่างๆมาปะติดปะต่อกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีสไตล์ที่ชัดเจน แต่เน้นใส่ความรู้สึกให้ทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความน่ารักตามแบบฉบับของอีสานว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร นั่นแหละเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่า