OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

“Rombo IV” บ้านสีขาวที่ซ่อนองค์ประกอบทางเรขาคณิตไว้อย่างน่าค้นหา

สถาปัตยกรรมสีขาวอันเรียบง่ายสะอาดตา แปรเปลี่ยนหลากสีเป็นหลังพระอาทิตย์ตก”

Location: เม็กซิโก ซิตี้, เม็กซิโก
Architects: Miguel Angel Aragonés
Photographs: Joe Fletcher

เมื่อบ้านสีขาวเป็นตัวแทนความเรียบง่าย จึงไม่แปลกใจเลยหากจะเห็นบ้านในปัจจุบันนิยมใช้สีขาวเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้การอยู่อาศัยเป็นไปอย่างสุขสบาย ทุกอย่างในบ้านดูละมุนตา ซึ่ง Rombo IV ก็เป็นหนึ่งในบ้านสีขาวที่ภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่หากซ่อนช่วงเวลาที่แปรเปลี่ยนสีสันจากสีขาวเป็นสีนีออนหลังพระอาทิตย์ตก และใส่องค์ประกอบของรูปร่างเรขาคณิตเพื่อสร้างมิติมุมมองของพื้นที่ภายในบ้านได้อย่างน่าสนใจด้วย

Villa Rombo IV เป็นบ้านหลังที่ 4 (ตามชื่อ) ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันกับบ้านและสตูดิโออีก 3 หลัง ย่าน Bosque de las Lomas เมืองเม็กซิโก ออกแบบโดย Miguel Ángel Aragones สถาปนิกเม็กซิกันผู้หลงใหลในการออกแบบสไตล์มินิมอลและองค์ประกอบของรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งบ้านหลังนี้ก็เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่เผยให้เห็นถึงแนวคิดทั้งสอง

– สีขาวตอนกลางวัน สีสันตอนกลางคืน –

ลักษณะบ้านเป็นบ้าน 3 ชั้น สไตล์โมเดิร์น รูปทรงเรียบง่าย ออกแบบให้กรอบของบ้านกระจายเต็มที่ดินรูปร่างสามเหลี่ยมตัดมุม โดยภาพจำของบ้านภายนอกในช่วงเวลากลางวันจะเป็นภาพบ้านสีขาว กระทบกับแสงเงาของต้นไม้ที่แสงแดดเป็นผู้ช่วยออกแบบลวดลาย พาดผ่านลงบนบ้านสีขาวอย่างสวยงาม ส่วนภายในก็เป็นผนังสีขาวเรียบๆ ไม่มีการแขวนภาพใดๆบนผนัง

หน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมพื้นที่ด้านในกับธรรมชาติภายนอกเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นความตั้งใจของสถาปนิกคือต้องการให้มุมมองจากภายในบ้าน เมื่อมองออกไปด้านนอกจะพบกับสีเขียวของต้นไม้และสีฟ้าของท้องฟ้าให้มากที่สุด

ช่างแตกต่างจากภาพในช่วงเวลากลางคืน เพราะสถาปนิกได้ออกแบบแสงไฟนีออนภายในบ้าน ตามจุดต่างๆคล้ายกับการจัดแสดงผลงานศิลปะในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างมิติผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทดแทนแสงพระอาทิตย์ ทั้งนี้แสงไฟนีออน ยังเปลี่ยนสีได้ เพื่อความหลากหลายและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้อยู่อาศัย

โดยไฟที่ปรากฏในบ้านหลังนี้มี 5 สีด้วยกัน คือ สีฟ้า สีส้ม สีม่วง สีชมพู และสีแดง

– จัดองค์ประกอบรูปทรงเรขาคณิต –

พื้นที่ชั้นล่างมีการวางผังแบบ Openplan ทำให้พื้นที่ดูเปิดโล่งและเชื่อมต่อเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมด ดูเรียบง่าย สบายตา ซึ่งหากลองสังเกตดูดีๆในความเรียบง่ายนั้นจะพบกับรูปทรงทางเรขาคณิตสอดแทรกอยู่ตามโครงสร้างและองค์ประกอบของบ้านไม่ว่าจะเป็นเสา ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ โดยสถาปนิกตั้งใจเพิ่มลูกเล่น และความหลากหลายโดยใช้เส้นสายของรูปทรงเรขาคณิตอย่างวงกลม สี่เหลี่ยมจตุรัส ผืนผ้าแบบไม่สมมาตร สร้างเอกลักษณ์และสร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

แปลนบ้านชั้น 1

ผนังที่มีรูปร่างแตกต่างกัน ถูกออกแบบให้วางซ้อนกันเป็นเลเยอร์ เพื่อทำให้เกิดมุมมองพิเศษคล้ายกับมิติงานศิลปะที่ซับซ้อน

เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นสีขาวและดำ รวมถึงเป็นเฟอร์นิเจอร์บิวอินที่ออกแบบมาเพื่อพื้นที่นั้นๆโดยเฉพาะ

– ปะติดปะต่อเส้นสายจากวัสดุ –

นอกจากจะมีการออกแบบทีเลือกวัสดุที่มีสีขาวเป็นหลักทั้งพื้น ผนัง และฝ้าเพดานแล้ว ยังมีวัสดุสีดำพื้นผิวมีความมันวาว เสมือนแคทวอร์คที่ยกระดับสูงขึ้นมาจากพื้นเล็กน้อย หรือจะเป็นสระว่ายน้ำในชั้นที่สถาปนิกตั้งใจใส่เข้ามาเพื่อที่จะสะท้อนภาพของการออกแบบรูปทรงเรขาคณิตในสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ปะติดปะต่อเส้นสายของรูปทรงเรขาคณิตให้ไหลลื่นมากขึ้น คล้ายกับมีกระจกเงา มองแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ภาพสะท้อนจากเส้นสายของสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ

การสะท้อนของแสงเงา ทำให้ภาพเกิดมิติที่หลากหลายเหนือความคาดหมาย

แปลนชั้น 2

พื้นที่ Double Space ภายในห้องนั่งเล่นของบ้าน เป็นเหมือนพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างมุมมองภายนอกและภายใน

การใช้งานขององค์ประกอบแสงดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญของการออกแบบของสถาปนิกที่ช่วยลบภาพจำของความเรียบง่ายของสีขาวที่ดูเหมือนไม่มีอะไรให้มีความน่าสนใจและสร้างมิติของเลเยอร์สถาปัตยกรรมมด้วยวิธีการสะท้อน เพื่อเชื่อมต่อเส้นสายให้สมบูรณ์แบบ ทำให้บ้านกลายเป็นงานศิลปะในทุกๆพื้นที่

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก .. yatzer