OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Nanxianglou Art Hotel บทสนทนาระหว่างสถาปัตยกรรมเก่าและใหม่ ในรูปแบบที่แตกต่างอย่างลงตัว

บรรจุสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ลงในพื้นที่ร่องรอยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจีน

Nanxianglou Art Hotel
Location: Gankeng Old Town, Shenzhen, Guangdong, China
Architects: PleasantHouse Design
Photographs: En Xiao

“Nanxianglou” หนึ่งในจุดชมวิวที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดใน “Gankeng” หมู่บ้านอันเก่าแก่ของเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งแห่งประเทศจีน ที่มีความโด่งดังในเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ วัฒนธรรมไปจนถึงสถาปัตยกรรมอันสวยงามเก่าแก่ ซึ่ง “Nanxianglou Art Hotel” ก็เป็นหนึ่งในโรงแรมที่ตั้งอยู่ภายใต้พื้นที่ร่องรอยประวัติศาสตร์แห่งนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ PleasantHouse Design สถาปนิกจีนที่สร้างบทสนทนาระหว่างสถาปัตยกรรมเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสถึงความสวยงามของบริบท พร้อมกับชมสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า และค้นหาความหมายทางวัฒนธรรมที่แอบแฝงอยู่ภายใน

วัฒนธรรมชาวจีนแคะ และสถาปัตยกรรมดั้งเดิม

สถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมนั้น มีอาคารสองหลัง ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมทั้งสองหลังมาจากสถาปัตยกรรมจีนพื้นถิ่น สังเกตได้จากการใช้วัสดุอย่างผนังกระเบื้องสีเทา ประตูไม้ที่มีความหนาพิเศษ โครงสร้างและคานเป็นโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ และลักษณะของหลังคาแบบจีนทีโดดเด่นด้วยรูปทรงมุมปลายหลังคาที่เชิดสูงขึ้นฟ้า ซึ่งทั้งหมดถูกหล่อหลอมขึ้นมาตามแบบฉบับของชาวฮักก้า หรือคนเชื้อสายจีน ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “จีนแคะ” ชนชาติพื้นเมืองของที่แห่งนี้นั่นเอง

ในส่วนของอาคารด้านขวา ชั้นล่างมีเสาไม้กลมขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ผนังกระเบื้องหิน และบานประตูไม้ที่มีรูปแบบตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมจีน ส่วนด้านบนเป็นระเบียงกว้าง ที่มีสถาปัตยกรรมจีนพื้นถิ่นเล็กๆ สองหลังตั้งอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสงดนิทรรศการ

ส่วนอาคารทางด้านซ้าย เป็นอาคารสามชั้น ชั้นล่างสุดเป็นส่วนต้อนรับ ร้านอาหาร และร้านค้า ส่วนชั้นสองและชั้นสามเป็นห้องพักทั้งหมด 52 ห้อง โดยรูปแบบทั้งภายในและภายนอกถูกรีโนเวทใหม่ทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ดีมากขึ้น มีเพียงชั้นล่างสุดที่ยังคงผนังหินไว้ในรูปแบบเดียวกับอาคารอีกหลัง

ด้านหลังของอาคารถูกออกแบบให้มีพื้นที่ทางเดินยาวติดกับแม่น้ำ

แปลนชั้นล่างสุดของโรงแรม

แปลนชั้นสองของโรงแรม

เติมเต็มช่องว่างระหว่างสถาปัตยกรรม
Put two glass volumns into traditional

สถาปัตยกรรมใหม่ในรูปแบบของเรือนกระจกรูปทรงพีระมิดที่สถาปนิกได้ทำการสอดแทรกเข้ามาภายในโรงแรม เป็นส่วนต่อขยายที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ระหว่างอาคารดั้งเดิมทั้งสอง เสมือนตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ของอาคารเก่าเข้าด้วยกัน ออกแบบให้เป็นโครงสร้างเหล็กและวัสดุมุงหลังคาเป็นกระจกใสทั้งหมด ทำให้พื้นที่ดูเปิดโล่งและแสงสามารถผ่านเข้ามาได้ทั่วทั้งพื้นที่ในเวลากลางวัน

พื้นที่ภายในเปิดโล่ง เพื่อเชื่อมต่อกับ Art bookstore และส่วนต้อนรับของโรงแรม ซึ่งข้อดีของการที่รูปทรงพีระมิดของเรือนกระจกนี้ นอกจากจะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนให้สถาปัตยกรรมเก่าและใหม่แล้ว ยังช่วยให้ห้องพักชั้นสองและชั้นสามบนอาคารเก่าด้านที่ติดกัน สามารถเปิดหน้าต่างและชมทัศนียภาพโดยรอบได้

นอกจากนี้ยังมีเรือนกระจกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างสถาปัตยกรรมเล็กๆสองหลังบนอาคารเก่าทางขวามือ กรุกระจกใสล้อมรอบกรอบบานไม้เพื่อให้เกิดความกลมกลืน ออกแบบแสงภายในส่องสว่างในยามค่ำคืนเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์มากขึ้น

หลากหลายแต่ลงตัว

การตกแต่งภายในเป็นไปในรูปแบบทันสมัย มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบเส้นสายที่มีความโค้ง วงกลม และเฟอร์นิเจอร์ พรมที่มี่สีสัน ดูโฉมเฉี่ยวและมีดีไซน์ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับโรงแรมแห่งนี้ ในส่วนของห้องพักโรงแรม ประกอบด้วยห้องพักทั้งหมด 52 ห้อง มี 3 รูปแบบ จัดวางกระจายออกรอบตัวอาคาร เพื่อให้ทุกห้องมีช่องเปิดสู่ภายนอก โดยออกแบบลิฟท์และบันไดให้อยู่ตรงส่วนกลางของอาคาร ทำหน้าที่โครงสร้างไปด้วย

การตกแต่งภายในส่วนล็อบบี้

โถงลิฟท์และบันไดที่ด้านบนมีสกายไลท์ เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในได้

แปลนห้องพักทั้ง 3 รูปแบบของโรงแรมที่ตกแต่งด้วยหลากหลายสีสันและวัสดุ

ภาพภายในห้องพัก กับการตกแต่งในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อสร้างความหลากหลายทางการออกแบบ และดูสนุกสนานต่างจากภายนอกที่ดูนิ่งสงบ

ความหมายที่แอบแฝงอยู่ภายในสถาปัตยกรรมเก่าและใหม่นี้ คงเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากความหลากหลายที่สะท้อนออกมา ผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สถาปัตกรรมพื้นถิ่นที่เก่าแก่เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรักษา แต่หากการออกแบบที่บรรจุสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ลงไปในสถาปัตยกรรม โดยสร้างความแตกต่าง แต่กลับเติมเต็มความสมบูรณ์แบบในเรื่องของพื้นที่ การใช้งาน และความสวยงามแล้วนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเปลี่ยนแปลง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Archdaily