อากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคนคงชอบใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากกว่าระเบียง พื้นที่กลางแจ้งและกึ่งกลางแจ้งใช่ไหมคะ เพราะไหนจะอากาศร้อนอบอ้าว ลมที่พัดพาแต่ความร้อน หรือแม้แต่แสงแดดเจิดจ้า ก็ดูเป็นบรรยากาศไม่เหมาะสมกับการนั่งพักผ่อนนอกบ้านซักเท่าไหร่
แต่ที่ Nonthaburi House นั้น ได้มีการออกแบบส่วนต่อเติมบ้านหรือ Sport Pavilion โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศร้อน และยังมีต้นไม้น้อย – ใหญ่ อยู่เคียงข้างทุกการใช้งานอีกด้วย ส่วนแนวคิดการออกแบบจะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกันค่ะ
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ซอยไทยานนท์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีคุณศรันย์ เลิศหิรัญวงศ์ เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งคุณพ่อของคุณศรันย์นั้นอยู่ในวัยเกษียณ ที่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านและเพลิดเพลินไปกับการดูแลต้นไม้ในสวน คุณพ่อจึงมีความคิดจะต่อเติมพื้นที่ว่างติดบ้านเดิมให้กลายเป็น Sport Pavilion เล็กๆ สำหรับครอบครัว เขาจึงอยากให้พื้นที่ส่วนนี้มีบรรยากาศร่มรื่นสามารถนั่งพักผ่อน ชมทิวทัศน์ได้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งต้องมีความกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมและสวนรอบนอก โดยมีแนวความคิดง่ายๆ คือออกแบบโดยคำนึงถึงความสวยงาม ความแข็งแรง และการดูแลรักษาไปควบคู่กัน
โดยในการออกแบบส่วนต่อเติมบ้านครั้งนี้ คุณวราและคุณจิตตินันท์ จิตรประทักษ์ จาก Plan Architect เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
ผังอาคาร
เชื่อมต่อบ้าน ด้วยคอร์ทกลาง
เนื่องจากบริเวณ Sport Pavilion เป็นส่วนต่อเติมจากบ้านเดิม การออกแบบโดยคำนึงถึงบ้านเดิมจึงเป็นส่วนสำคัญ คุณวราและคุณจิตตินันท์ จึงออกแบบให้ Sport Pavilion และส่วนบ้านเดิมมีการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกัน ด้วยการมี Pool deck ยาวต่อเนื่องจนถึงคอร์ทกลางบ้านเดิม โดยความกว้างของ Deck จะมีเสมอเป็นแนวเดียวกันกับบ้านเดิมอีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต่างเชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน และมีการใช้งานที่ทับซ้อน เชื่อมโยงถึงกัน
ถึงแม้จะเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและคอร์ทกลาง แต่ระหว่างทางเดินนั้นก็มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นแซมตลอดทาง เพราะนอกจากการทำสวนจะเป็นงานอดิเรกเจ้าของบ้านแล้ว ต้นไม้ ธรรมชาติยังช่วยให้เกิดสภาวะอยู่สบาย สร้างความสวยงามให้กับบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อคุณศรันย์มองออกไปนอกอาคารจะพบกับต้นไม้ พืชพันธ์นานาชนิด และเห็นพื้นที่สีเขียวที่เกิดจากความชื่นชอบของเขา
กลมกลืนกับธรรมชาติ
ในพื้นที่ Sport Pavilion จะมีครบครันทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ ซาวน่า ห้องอาบน้ำ และห้องพักแม่บ้าน โดยความต้องการของเจ้าของบ้าน คือออกแบบให้สถาปัตยกรรมกลมกลืนกับสวนและธรรมชาติรอบข้าง สถาปนิกผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาโจทย์นี้ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้เปิดกว้าง โล่ง โปร่ง และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากที่สุด โดยใช้โครงสร้างทรัสท์ ที่มี Span ยาว 12 เมตร และใช้เสาในโครงการเพียง 4 ต้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้โครงสร้างรบกวนมุมมองจากภายนอก สามารถซึมซับบรรยากาศธรรมชาติ ได้รับลมพัดผ่านตลอดวัน ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถใช้ Sport Pavilion ได้ตลอด แม้จะอยู่ในฤดูร้อนก็ตาม
และยังเลือกใช้โครงสร้างและวัสดุ ที่สร้างความโล่ง โปร่ง ดูแลรักษาง่าย โดยทางสถาปนิกเลือกใช้เหล็กที่ให้ความรู้สึกเบา ลอย แต่แข็งแรง และใช้ไม้เทียมสร้างความอบอุ่น ผ่อนคลาย ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิดของเจ้าของบ้านที่ให้ความสำคัญระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติเท่ากัน
“พอเราทำบ้าน แล้วผู้ใช้งานได้เข้าไปอยู่จริงๆ เราก็รู้ทันทีเลยว่าต้นไม้มีความสำคัญอย่างไร นอกจากต้นไม้จะทำให้บ้านสวยยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้บ้านเป็นบ้าน ทั้งในแง่จิตใจ กายภาพ เช่น เกิดความร่มรื่น ได้รับอากาศบริสุทธิ์ หรือแม้แต่เรื่องการมองเห็น การให้ร่มเงา เพราะทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน” คุณวราสถาปนิกผู้ออกแบบกล่าวถึงความสำคัญของการมีต้นไม้ในงาน
ออกแบบอย่างไร ให้ไม่ร้อน ?
พื้นที่กึ่งกลางแจ้งอย่างนี้ จุดสำคัญอยู่ที่การวางทิศทางของตัวอาคารให้ตรงกับช่องลมหรือทิศทางที่ลมจะพัดผ่านตลอดวัน โดยในหน้าร้อนลมจะมาจากทางทิศใต้ ซึ่งเป็นลมที่ช่วยลดความร้อนในอากาศลงได้ แต่ถ้าไม่สามารถจัดวางอาคารให้สอดคล้องกับทิศทางลม ก็ควรออกแบบพื้นที่อาคารให้โล่ง โปร่ง ช่วยให้กระแสลมพัดผ่าน และเลือกใช้วัสดุสีอ่อน ไม่อมความร้อน ส่วนพื้นที่หลังคาควรติดฉนวนกันความร้อนและออกแบบชายหลังคาที่ไม่สั้นจนเกินไปนัก เพื่อป้องกันไอแดดและยังป้องกันฝนสาดเข้ามาในอาคารได้อีกด้วย
และอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่สุดคือการมีบ่อน้ำและปลูกต้นไม้รอบๆ พื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพราะลมจะพัดพาความชื้นจากน้ำเข้ามายังภายในอาคาร ส่วนต้นไม้ใหญ่จะช่วยบังแดด เป็นร่มเงาให้กับอาคารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลูกหญ้าหรือพืชคลุมดินควบคู่ไปกับการปลูกต้นไม้ก็จะยิ่งช่วยลดความร้อนในอาคาร เพราะพืชเหล่านี้สามารถดูดซับความชื้นจากดิน ทำให้พื้นเย็นขึ้นนั่นเอง
เป็นส่วนตัว แต่เปิดโล่ง
Sport Pavilion จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ในบ้าน ที่ทางผู้ออกแบบต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน ด้วยการแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนระหว่าง Public Space และ Private Space โดย Public Space จะเปิดโล่งและมีระแนงไม้พรางตาจากภายนอก ส่วน Private Space นั้นใช้ผนังกั้นห้องแบ่งแยกสัดส่วนชัดเจน
ซึ่งการเลือกใช้ระแนงไม้แทนการใช้ผนังปิดทึบทุกส่วน ก็เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความโปร่ง โล่ง เปิดรับมุมมองจากภายนอก มีลมพัดผ่านนั่นเอง และทางผู้ออกแบบยังนำประโยชน์จากระแนงไม้และสวนรอบข้างกั้นความเป็นส่วนตัวจากผู้คนภายนอก แต่ในทางกลับกันก็มีคอร์ทกลางบ้าน เพื่อเปิดรับทิวทัศน์จากภายใน มากไปกว่านั้นแสงธรรมชาติที่สาดส่องผ่านระแนงไม้ ยังทำให้เกิด Transition Space เล็กๆ ระหว่างสวนและ Sport Pavilion อีกด้วย
Sport Pavilion พื้นที่เล็กๆ สำหรับครอบครัว แต่การออกแบบและการคิดแบบโครงสร้างนั้นไม่เล็กตามขนาดพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอย การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เดิมและส่วนต่อเติม หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับสวนและธรรมชาติที่ทางเจ้าของบ้านและสถาปนิกให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ ก็ล้วนประกอบขึ้นมาจากความชอบและความใส่ใจ เพื่อสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ในบ้านให้เกิดความผ่อนคลาย ใช้งานได้จริง และอยู่สบายมากที่สุด …
Location: Nonthaburi, Thailand
Owner: Sarun Lerdhirunwong
Architect: Wara Jithpratuck, Jittinun Jithpratuck, Plan Architect
Photographer: Chitsanupong Ploythanachot