OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Maibaan : คาเฟ่ไม้เชิงทดลองด้านสถาปัตยกรรมและความรู้สึก เสมือนการตัด MASS MODEL 1:1

“สัมผัสบ้านไม้ ที่ไม้บ้าน”

Maibaan
Owner & Architect: คุณพี-พีระวัฒน์ เชียงไฝ
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

บ้านไม้ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่น ไม่แปลกใจเลยที่พื้นที่แห่งนี้จะทำให้เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แสนอบอุ่น… เรากำลังพูดถึง “Maibaan” คาเฟ่ไม้ที่เหมือนบ้านไม้หลายหลังใจกลางอุดรธานี สถาปัตยกรรมเชิงทดลองของ คุณพี-พีระวัฒน์ เชียงไฝ” สถาปนิกและเจ้าของผู้ออกแบบผลลัพธ์จากความชื่นชอบและถนัดในงานไม้สู่การต่อเติมพื้นที่ดื่มด่ำความสุขด้วยหลักการคล้ายการตัด Mass Model 1:1

หลังจากที่คุณพีกลับมาทำงานสถาปนิกและเปิดออฟฟิศเล็กๆของตัวเองที่อุดร บวกกับความชื่นชอบในงานไม้อยู่แล้ว ภาพจำงานออกแบบหลักๆของคุณพีจึงเป็นการทำสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์เกี่ยวกับไม้ จึงทำให้คุณพีอยากทดลองทดลองทำอะไรใหม่ๆอย่างการเปิดร้านกาแฟเล็กๆภายในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของออฟฟิศ และโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ด้านหลัง

คุณพี-พีระวัฒน์ เชียงไฝ ในห้องทำงานส่วนตัว

หลังเล็กหลังน้อย

เนื่องจากสภาพพื้นที่เดิม มีบ้านพักอาศัย 2 หลัง, ต้นไม้ใหญ่ และโรงงานไม้ด้านหลัง ทางเข้าออกในการขนย้ายเฟอร์นิเจอร์จึงเป็นตัวกำหนดให้พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่สถาปัตยกรรมที่ออกแบบใหม่มีลักษณะเป็นบ้านไม้หลังเล็กหลังน้อยกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งพื้นที่แทนที่จะเป็นอาคารขนาดใหญ่เพียงอาคารเดียว เพื่อหลบเส้นทางเข้าออกและคงรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมไว้นั่นเอง

พื้นที่ที่เกิดขึ้นระหว่างแต่ละหลังแทนที่จะปล่อยว่างเปล่า แต่คุณพีกลับมองเห็นเห็นความเฉพาะตัวของพื้นที่เหล่านี้ จึงเพิ่มพื้นที่สีเขียว จัดสวนและสร้างมุมนั่งเล่นต่างๆในบางจุด เพื่อให้ลูกค้าได้มานั่งดื่มด่ำกาแฟสัมผัสธรรมชาติภายนอกได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่น รู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสวนของบ้านอีกด้วย

ออกแบบเหมือนการตัด Mass Model

ที่นี่ตอนนี้ กับที่นี่อีก 1 เดือนข้างหน้า พื้นที่ก็อาจแตกต่างกันไปนะ” คุณพีเล่าต่อถึงเหตุผลว่าที่นี่มีการต่อเติม ดัดแปลงอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นการทดลองในเชิงสถาปัตยกรรมของตนเอง การออกแบบผนัง ช่องเปิดต่างๆ ไม่มีตายตัว คล้ายกับกำลังตัด Mass Model ในขนาด 1:1 อยู่ ซึ่งการทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความรู้สึกใหม่ๆกับพื้นที่ต่างๆที่เราอาจคาดไม่ถึงแล้ว ยังสร้างความหลากหลายให้กับพื้นที่ เหมือนมอบประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้าที่มาทานอาหารและกาแฟด้วย

โซนเคาน์เตอร์สั่งอาหารและเครื่องดื่ม

ภายในของร้านกาแฟฝั่งเดียวกัน อีกฝากโชว์แนวผนังอิฐ สังเกตได้ว่ามีหน้าต่างค่อนข้างมาก เพื่ออนุญาตให้แสงจากภายนอกเข้ามา ทำให้หพื้นที่ดูโปร่งโล่ง

โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ทุกๆพื้นที่

นอกเหนือจากบ้านพักอาศัย โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ และออฟฟิศ ยังเป็นเหมือนโชว์รูมโชว์เฟอร์นิเจอร์ไม้และเหมือนแกลอรี่เก็บสะสมผลงานของคุณพีไปในตัว เพราะไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ภาพติดฝาผนัง หรือของตกแต่งทั้งหมดภายในร้านกาแฟ ล้วนแล้วแต่เป็นไม้ที่คุณพีออกแบบเองทั้งหมด หากลูกค้าสนใจชิ้นไหนเป็นพิเศษ ก็ยังยังสามารถซื้อหรือสั่งทำได้อีกด้วย

โชว์รูมหลักจะอยู่ใต้อาคารทางซ้ายมือ ซึ่งมีพื้นที่ด้านบนเป็นออฟฟิศเล็กๆของคุณพีเอง

ชั้นลอยที่จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้อยู่ ที่เปิดให้ลูกค้า ขึ้นมาชมได้ ส่วนพื้นที่ด้านล่างเป็นที่นั่งทานอาหารและเครื่องดื่ม

นำเสน่ห์ไม้เก่า มาใช้ใหม่

สังเกตได้ว่าอาคารแต่ละหลังมีความแตกต่างกัน เพราะเป็นความตั้งใจออกแบบให้มีเอกลักษณ์และรายละเอียดเฉพาะตัว ไม้ที่นำมาก่อสร้างนี้ ส่วนใหญ่เป็นไม้เก่าที่ได้จากการรื้อถอนในโปรเจกต์ต่างๆทีเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น บานประตู บานหน้าต่าง ถูกนำมาใส่ในอาคารทุกๆหลัง ผสมผสานกับการออกแบบใหม่ ให้พื้นที่ภายในตอบโจทย์ด้านการใช้งานมากขึ้น

“จริงๆไม้เก่ามันจะมีร่องรอยของการใช้งาน ไม่ว่ารอยบาก รอยตะปู เวลานำมาใช้ อย่างเช่น ผนัง เราจะได้สัมผัสสีของมันที่ไม่สม่ำเสมอกัน มันก็จะกลายเป็นเสน่ห์ของไม้เก่า” คุณพีกล่าว

อย่างหน้าต่างกระจกใสที่ออกแบบให้เปิดกว้างตั้งแต่ชั้นลอยลงมาถึงพื้น เพื่อเปิดมุมมองจากภายนอกเข้ามาเห็นเฟอร์นิเจอร์และกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใน

โครงสร้างไม้เดิมที่เป็นเสา ส่วนใหญ่จะเป็นไม้แดง ไม้ประดู่ เพราะว่าเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรง เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นโครงสร้าง และเป็นที่นิยมในทางอีสาน

เมนูอาหารของที่นี่ มีทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ซึ่งในภาพเป็นเค้กชอกโกแลต ข้าวคลุกกะปิ และลาเต้เย็น

เศษไม้เล็กๆ บางทีเราอาจจะมองข้ามคุณค่าของมันไป จริงๆสามารถนำกลับมาใช้ได้หมดเลยไม่ว่าไซส์ไหนก็ตาม” คุณพีกล่าวมาถึงตอนสุดท้าย และทำให้เราเข้าใจทันทีเมื่อได้เห็นความน่ารักของบ้านหลังน้อยๆที่เรียงรายกันอยู่ภายในกล่องไม้ ที่ถึงแม้ว่าจะทำมาจากเศษไม้ที่หลงเหลือจากการผลิตไม้ขนาดใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของไม้ ซึ่งไม่ว่าขนาดจะเล็กแค่ไหนก็สามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดงานออกแบบดีๆได้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading