“เมื่อความท้าทายของโครงสร้างเดิม ทำให้สถาปนิกคิดออก(แบบ)นอกกรอบ”
Architect: ACA Architects
Interior Designer: KIRIN design&living
Photographs: SkyGround architectural film & photography และ KIRIN design&living
หากผลลัพธ์ของการรีโนเวท คือความเปลี่ยนแปลงในรูปลักษณ์ใหม่ สำหรับ “คุณอนนท์ จิตรานุเคราะห์” สถาปนิกแห่ง ACA Architects และ “คุณคิริน ชัยชนะ” อินทีเรียดีไซน์เนอร์จาก KIRIN design&living แล้ว ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่งของการรีโนเวทในฐานะนักออกแบบ คือความสุขภายใต้การอยู่อาศัยใหม่ที่ลงตัว กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้อยู่อาศัย ซึ่งการรีโนเวทบ้านหลังนี้ได้รวมผลลัพธ์ทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน แต่ทว่าเรื่องราวระหว่างทางและวิธีการออกแบบ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรีโนเวทบ้านในมิติใหม่ที่น่าสนใจ
คิด ออก(แบบ) นอก “กรอบ”
เนื่องจากเจ้าของบ้านมีความต้องการรีโนเวทบ้าน จากบ้านจัดสรรหลังคาทรงปั้นหยาให้กลายเป็นบ้านที่มีความโมเดิร์น เรียบง่าย และทันสมัยมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างเดิมเป็นโครงสร้าง Precast หรือระบบบ้านสำเร็จรูป จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆได้ บวกกับมีส่วนต่อเติมแยกออกมาจากตัวบ้านหลัก ที่สถาปนิกคนก่อนได้ออกแบบไว้ในโครงสร้างเสาคาน ACA Architects สถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบภายนอกของสถาปัตยกรรมนั้น จึงคิดนอกกรอบด้วยการออกแบบ Façade หรือเปลือกอาคารสีขาวมาห่อหุ้มบ้านไว้อีกหนึ่งชั้น เสมือนการตีกรอบให้บ้านใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บ้านหลังเก่าเชื่อมต่อไปยังส่วนต่อขยาย ภายใต้แนวคิด “white canvas” ในสไตล์ modern minimalist
“บ้านเก่าและส่วนต่อเติมมีรูปแบบแตกต่างกันมาก ความท้าทายในการออกแบบของเราคือจะทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เราก็เลยคิดว่า ควรสร้าง Facade ภายนอกเพื่อรวมทั้งสองเข้าด้วยกัน และออกแบบให้ดูเรียบที่สุด คลีนที่สุด เนียน และบางเบา ให้เป็นภาษาใหม่ๆของที่อยู่อาศัย”
ขาวปิด โปร่งเปิด
ส่วนประกอบของ Façade สีขาวที่ปรากฏอยู่นั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆด้วยกัน คือ ส่วนทึบและส่วนโปร่ง โดยส่วนทึบใช้วัสดุ Aluminium sheet และส่วนโปร่งใช้แผ่นตะแกรงเหล็กฉีก เรียงรายในสัดส่วนที่เท่าๆกัน ส่วนการจัดวางตำแหน่งทึบและโปร่งนั้น เกิดขึ้นจากพื้นที่ภายใน และการเลือกเปิดมุมมองแต่ละฟังก์ชัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดมุมมองและรับแสงจากภายนอกเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านแล้ว ยังช่วยระบายอากาศได้ดีอีกด้วย
Facade ส่วนโปร่ง ที่มีส่วนเชื่อมต่อกับระเบียงของห้องนอนในชั้นสอง สามารถเลือกเปิดเพื่อสัมผัสมุมมองที่กว้างขึ้น หรือปิดเพื่อต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแต่ยังคงระบายอากาศได้
อีกทั้งทางเจ้าของบ้านทำธุรกิจขายเหล็กฉีก การเลือกวัสดุเหล็กฉีกมาประกอบกับภาพรวมของ Façade นั้น เป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวรู้สึกผูกพันและสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่อบอวลอยู่ในบ้านหลังนี้
หรือแม้กระทั่งรั้วหน้าบ้าน ก็ยังคงใช้เหล็กฉีกในรูปแบบเดียวกันนี้ พร้อมปลูกต้นไทรเกาหลี เพื่อเติมเต็มความร่มรื่น
พื้นที่เว้นวรรค คือหัวใจหลักของบ้าน
ส่วนต่อเติมใหม่ที่สถาปนิกคนเดิมออกแบบไว้นั้น มีการเว้นระยะห่างจากบ้านเดิมประมาณ 5 เมตร ทำให้เกิดพื้นที่ระหว่างบ้านเก่าและส่วนต่อเติม ซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบให้เป็นคอร์ทกลางบ้าน โดยใส่ความเขียวชะอุ่มของต้นหลิวที่มีใบบางเบาไว้เป็นจุดศูนย์กลาง และเปิดมุมมองด้านข้างของตัวบ้านสู่คอร์ทนี้ เพื่อสัมผัสบรรยากาศอันร่มรื่น รวมถึงFaçade ที่เชื่อมต่อกันในชั้นสองนั้น ยังเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่คล้ายการตีกรอบล้อมรอบคอร์ทนี้ เพื่อทำให้คอร์ทนี้กลายเป็นหัวใจหลักของบ้านได้มากยิ่งขึ้น
แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2
บรรยากาศภายในรั้วบ้าน
Modern Minimalist
ภายในตกแต่งสไตล์ Modern Minimalist ที่มีความเรียบง่าย ด้วยผนังและฝ้าสีขาว ส่วนเฟอร์นิเจอร์หลักๆเป็นโทนสีขาว เทา ทอง และทองแดง ที่มีความสวยงามและลงตัว ด้วยฝีมือการคัดสรรจาก KIRIN design&living ทำให้ทุกส่วนภายในบ้านดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพิ่มเติมความน่าสนใจด้วยลายหินอ่อนที่ปรากฎผลลัพธ์อยู่บนเคาน์เตอร์บาร์ในห้องครัว ผนังห้องนั่งเล่นใหม่ในส่วนต่อเติม และห้องน้ำ
“ไลฟ์สไตล์ของคนเรามันเปลี่ยนไปแล้ว หลายคนต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านให้เป็นไปในรูปแบบทันสมัย และตอบโจทย์การอยู่อาศัยให้ดีที่สุดในแบบที่ตนเองชอบ” คำกล่าวของคุณอนนท์ เมื่อเล่ามาถึงบทสรุปของการรีโนเวทบ้านหลังนี้ด้วยภาษาใหม่ๆ ที่แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ใช่ว่าความสร้างสรรค์จะถูกตีกรอบเสมอไป