ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความถนัดในการออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กโดยเฉพาะตึกแถว เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากกว่าประเทศไทยถึง 30 ล้านคน แต่พื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยถึง 3 แสนตารางกิโลเมตร (ข้อมูลปี 2560) จึงทำให้ประเทศเวียดนามเป็นตัวเลือกแรก ที่ผมเลือกเป็นสถานที่สำหรับฝึกงานในช่วงชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย
โดยนอกจากความสนใจเรื่องการออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กของคนเวียดนามแล้ว ในด้านวัฒนธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและทำความรู้จักไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือง “ฮานอย” ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศเวียดนาม ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการ Gentrification หรือ “การเปลี่ยนผ่าน” จากพื้นที่วัฒนธรรมในอดีตไปสู่ความทันสมัย หลากหลายสิ่งกำลังเลือนหายไป และอีกหลายสิ่งกำลังปรับตัว ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ได้นำพาผมไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลา 3 เดือนแห่งการฝึกงาน
เรามาเริ่มทำความรู้จักเมืองนี้ตั้งแต่ในระดับของเมืองกัน โดยในส่วนของผังเมืองฮานอยนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากกายภาพของพื้นที่ที่เป็นเมืองอันอุดมไปด้วยทะเลสาบและแม่น้ำ การนัดหมายพบปะต่างๆ จึงมักอ้างอิงด้วยทะเลสาบเสียส่วนใหญ่ ส่วนแหล่งพักผ่อนจะกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่เหล่านี้ เช่น Old quarter อันเป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว คล้ายกับถนนข้าวสารบ้านเรา โดยเชื่อมอยู่กับ “ทะเลสาบคืนดาบ” สวนสาธารณะขนาดใหญ่และย่านอยู่อาศัยสำหรับชาวต่างชาติราคาแพงก็เชื่อมเข้ากับ West Lake ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฮานอย
ภาพจาก www.perkinseastman.com
ในขณะที่ย่านอยู่อาศัยสำหรับชนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นคล้ายกับกรุงเทพฯ คือขยายตัวออกนอกเมืองไปเรื่อยๆ พร้อมกับความเจริญจำพวกห้างสรรพสินค้าและมหาวิทยาลัย อาจพูดได้ว่าฮานอยคือเมืองที่การขยายตัว มาก่อนองค์ความรู้ด้านผังเมือง โดยสังเกตได้จากย่าน Old quarter ที่มีชื่อเล่นว่า 36 streets เพราะย่านเล็ก ๆ แห่งนี้ ประกอบขึ้นจากถนนขดแน่นกันกว่า 36 เส้น (ซึ่งอันที่จริงปัจจุบันขยายตัวไปถึง70เส้น) เรียกได้ว่ากระพริบตาไป 4 ที ก็เดินจากแยกหนึ่งไปเจออีกแยกหนึ่งได้สบาย
(ตรอกซอกซอยในย่าน Old quarter ที่เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอยู่มากมาย)
ด้วยความผูกพันกับทะเลสาบนี่แหละครับ ทำให้ชาวฮานอยมีวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะกันอย่างไม่เคอะเขิน เราสามารถพบกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ ตั้งแต่การสูบบุหรี่ด้วยบ้องไม้ไผ่ ไปจนถึงการกอดจูบกันในที่ลับตาข้างทะเลสาบ หากเทียบกับประเทศไทยแล้ว โครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการในกรุงเทพต่างมีพื้นที่ส่วนกลางเป็นสวนที่ร่มรื่นขนาดใหญ่แต่อาจไร้ผู้คนเข้าใช้งาน ต่างจากฮานอยที่เรามักจะอ้อยอิ่งรับลมหน้าตึกหลังเลิกงานเสมอ เพราะเมื่อแดดร่ม เหล่าผู้คนละแวกนั้นต่างออกมาใช้พื้นที่หน้าตึก เป็นพื้นที่สาธารณะกันอย่างคราคร่ำ โดยสามารถพบเห็นกิจกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ตั้งแต่การเผากระดาษเงินกระดาษทอง การจับกลุ่มเล่นกีฬา หรือการเจอคุณยามหน้าเหมือนลุงโฮจิมินห์มานั่งเป่าปี่คนเดียวสบายใจ
โดยอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้คนต่างยึดโยงและอยู่อาศัยกับพื้นที่สาธารณะอย่างทะเลสาบมาแต่โบราณ เมื่อความเป็นเมืองเกิดขึ้นมาซ้อนทับ กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับช่วยเกื้อหนุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพมากมาย
(พื้นที่บริเวณหน้าอาคารเวลาหลังเลิกงานในเมิองฮานอยมักสามารถพบเห็นกิจกรรมที่หลากหลาย)
แต่ก็ใช่ว่าชาวฮานอยจะฮิปสเตอร์ชิกๆ จูงสุนัขเดินเล่นตามสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ด้วยที่ประเทศเวียดนามมีประชากรมากถึงเกือบ 100 ล้านคน หากนับเฉพาะฮานอยก็ราวๆ 8 ล้านคน ซึ่งเกือบเท่ากรุงเทพ ดังนั้นความต้องการด้านพื้นที่ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตสาธารณะในเมืองฮานอยจึงเริ่มเปลี่ยนไป โดยพื้นที่สาธารณะที่ง่ายต่อการจัดการคือห้างสรรพสินค้าแต่ด้วยความรวยหรือพื้นที่ไม่พออย่างไรก็ไม่ทราบ ห้างฯในฮานอยหลายๆห้างฯจึงเริ่มขยับย้ายไปอยู่ใต้ดิน
ห้างที่ผมประทับใจมากๆ คือห้าง Royal Vincom mega mall เป็นโครงการขนาดยักษ์ที่ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าใต้ดิน โรงแรมหรูและคอนโดมิเนียม การเข้าห้างฯนี้ทำได้สองทาง ทางแรกคือเดินเข้าไปดื้อๆนี่แหละครับ แต่สิ่งที่คุณจะเจออย่างแรกคือประตูชัยแบบที่อยู่ในฝรั่งเศสตั้งอยู่ท่ามกลางตึกโรงแรมสูงลิบ วางผังแบบขนานกันเด๊ะ ราวกับหลุดมาจากยุคสมัยเรอเนสซองค์ ใช่ครับ ห้างราว 6 ชั้นยัดอยู่ใต้ประตูชัยนี้ ส่วนข้างบนจัดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนมาเดินเล่น เป็นสวนที่ประดับประดาเหล่าเทพเจ้าโรมันยืนขนาบข้าง แน่นอนว่าต้องยืนเป็นแกนสองข้างขนานกัน เรียกได้ว่าราวกับทุกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพื้นที่ด้านบนแทบจะยกมาจากยุคคลาสสิกมาทั้งดุ้น ส่วนทางเข้าอีกทางก็คือลงทางลาดไปที่จอดรถ ที่ดิ่งลงไปลึกมากๆ นึกออกไหมครับว่าปกติชั้นใต้ดินชั้นนึงจะสูง 2.4 เมตร แต่ที่นี่ต้องทำให้พอดีกับห้างด้วย ซึ่งห้างชั้นหนึ่งสูง 4-5 เมตร เท่ากับว่าเราขับรถดิ่งลงไปราวๆ เกือบ 30 เมตร หรือเท่าตึกจอดรถราว 12 ชั้น!
(บริเวณด้านบนของห้างใต้ดินขนาดยักษ์ที่จัดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยการวางผังแบบ Courtyard ที่ล้อมรอบด้วยตึกสูง พื้นที่บริเวณนี้จึงมีลมเย็นพัดตลอดวันและในยามค่ำคืนจึงคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ออกมาใช้งานพื้นที่)
ถ้าพูดกันตามตรงฮานอยตอนนี้ไม่ต่างกับกรุงเทพเท่าไรนัก ฮานอยมี Old Quarter ที่เป็นเมืองเก่า ถนนสายโลกีย์และโบราณสถาน ซึ่งเราก็มีย่านพระนครที่เป็นเมืองเก่า ถนนสายโลกีย์และโบราณสถานเช่นกัน ความหนาแน่นในย่านเศรษฐกิจก็เริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจกล่าวได้ว่าตอนนี้กรุงเทพเราได้เปรียบกว่านิดหน่อย ที่รู้ตัวเร็วกว่าฮานอยในการเริ่มลงทุนกับระบบโครงสร้างขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นระบบโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาเมือง อีกทั้งยังสามารถสังเกตได้ว่าการออกแบบเมืองในยุคใหม่ของฮานอยเริ่มมีความพยายามในการสร้างโครงการพักอาศัยขนาดใหญ่ที่จุคนเข้าไปมาก ๆ ซึ่งการออกแบบเช่นนี้อาจตอบโจทย์เรื่องการจัดการพื้นที่ที่คุ้มค่า แต่ก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่โครงการเหล่านี้กำลังจะตัดขาดผู้คนออกจากเมืองไปเรื่อยๆ ก็ต้องมารอดูกันซักพักครับว่า ทั้งสองเมืองนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ถ้าเราหยุดนิ่ง ไม่นานเวียดนามอาจแซงหน้าเราได้ง่ายๆ