ผู้ริเริ่มและอุทิศตนให้กับสถาปัตยกรรมโมเดิร์น
Philip Johnson สถาปนิกคนแรกที่ได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize ในปี 1979 “เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ทุ่มเทให้กับสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติ ในฐานะของนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ เรามองว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์น ถึงแม้เขาจะได้รับรางวัลนี้ตอนอายุ 73 ปี แต่ก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมเลยแม้แต่น้อย” คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล Pritzker Prize กล่าว
เขาเกิดที่เมือง Cleveland, Ohio, USA จบการศึกษาจาก Havard University สาขาประวัติศาสตร์และปรัชญา เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นผู้ดูแลนิทรรศการ ใน Museum of Modern Art อย่างไรก็ตามเมื่อเขามีโอกาสได้พูดคุยกับ Mies van der Rohe ก็เป็นการจุดประกายให้เขาเริ่มสนใจและศึกษาสถาปัตยกรรมโมเดิร์นขึ้นมา และในอีกหลายปีต่อมาเขาจึงผันตัวเองมาเป็นสถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ Modernism โด่งดังและเป็นที่รู้จักจวบจนทุกวันนี้
The Glass House
เมื่อ Philip Johnson เริ่มต้นอาชีพสถาปนิกอย่างจริงจังก็ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น เพราะเขาสังเกตและศึกษาเรื่องราวในแวดวงสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ในปี 1949 เขาออกแบบ The Glass House ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Farnsworth House โดย Miesvan der Rohe โปรเจคนี้เป็นโปรเจคทดลองที่ Façade อาคารใช้กระจกเป็นวัสดุหลัก เมื่อบ้านเสร็จสมบูรณ์ Philip Johnson และ Miesvan der Rohe จึงมีโปรเจคออกแบบอาคารร่วมกัน เช่น Seagram Building ใน New York ซึ่งสร้างเสร็จในปี 1950
New York State Pavilion
Crystal Cathedral
Philip Johnson สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่น่าจดจำมากมาย เช่น Munson Williams Proctor Arts Institute (1960), New York State Pavilion ซึ่งจัดแสดงในงาน New York World’s Fair ช่วง 1964 – 1965 และประติมากรรม Sculpture Garden (1953) อย่างไรก็ตามในปี 1967 เขาได้ร่วมงานกับ John Burgee การร่วมงานกันครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก เช่น โปรเจค Crystal Cathedral (1980) ที่เมือง Los Angeles, USA
AT&T
ไม่นานหลังจากเขาได้รับรางวัล Pritzker Prize แวดวงสถาปัตยกรรมก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากยุค Modern สู่ยุค Postmodern ซึ่งเน้นการใช้องค์ประกอบต่างๆ ตกแต่งอาคาร จึงทำให้โปรเจคอาคาร AT&T ใน New York (ปัจจุบันคืออาคารของ Sony) ของเขาและ John Burgee ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
Puerta de Europa
Philip Johnson จึงตัดสินใจเกษียณงานในปี 1989 อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงเป็นสถาปนิกคนสำคัญผู้จุดประกายความคิด และเป็นที่ปรึกษาให้กับ John Burgee สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เช่นเคย เช่น Puerta de Europa ในเมือง Madrid, Spain ซึ่งในเวลาต่อมาผลงานชิ้นนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง Madrid งานหนึ่ง
Seagram Building
Seagram Building ตั้งอยู่ใจกลางเมือง New York, USA อาคารนี้ออกแบบโดย Mies van der Rohe และ Philip Johnson ซึ่งในขณะนั้นทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารสไตล์โมเดิร์น อาคารนี้เป็นอาคารสำนักงานซึ่งมีความสูงถึง 38 ชั้น
ตัวอาคารโดดเด่นในการเลือกใช้วัสดุที่ทันสมัยและรูปแบบอาคารโมเดิร์น Seagram Building เป็นอาคารออฟฟิศแรกของพวกเขา ในการพยายามก่อสร้างอาคารสำนักงานที่สูงถึง 156 เมตร พร้อมทั้งใช้พื้นหินแกรนิตขนาดใหญ่ในส่วนพลาซ่าด้านล่าง
อาคารนี้ออกแบบโดยใช้วัสดุยุคโมเดิร์น เช่น กระจก เหล็ก (ยุคอุตสาหกรรม) จนกลายเป็นมาตรฐานในการออกแบบออฟฟิศสูงในระยะเวลาต่อมา แม้อาคารนี้จะมีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ก็ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้เยี่ยมเยือนทุกครั้ง และในปัจจุบันอาคารนี้ยังคงเป็นอาคารต้นแบบสำหรับการออกแบบตึกสูง International style อีกด้วย
The Glass House
The Glass House บ้านที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Farnsworth House ของ Mies van der Rohe โดยบ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว ขนาด 10 x 17 เมตร ออกแบบโดย Philip Johnson ซึ่งถูกจัดว่าเป็นงานที่น่าจดจำที่สุดงานหนึ่งของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น เนื่องจากมีการออกแบบอาคารที่เรียบง่ายแต่น่าใช้งาน
มากไปกว่านั้นยังเป็นบ้านหลังแรกๆ ที่วางผังคารแบบ Open plan ที่มีกระจกสูงจากพื้นถึงฝ้า พันรอบ Façade อาคาร โดยฝ้าเพดานกว้าง 5.5 เมตร ถูกเชื่อมกันด้วยเหล็กแนวตั้งสีดำและคานเหล็กหน้าตัดรูป H คอยทำหน้าที่ยึดกระจก ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้ ทำให้ Mies van der Rohe ถึงกับบ่นว่าการวางโครงสร้างเช่นนี้แสดงถึงการขาดความใส่ใจเรื่องรายละเอียดในบ้านเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามรายละเอียดส่วนอื่นๆ ในบ้าน ล้วนถูกยอมรับและชื่นชมมากมาย เช่น Façade กระจกรอบบ้าน ซึ่งช่วยทำให้บ้านมีความโปร่ง โล่ง และเกิดความต่อเนื่องระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร มีเพียงส่วนโครงสร้างอิฐทึบทรงกระบอก ซึ่งทำหน้าที่กั้นความเป็นส่วนตัวให้กับห้องน้ำและเตาผิงไฟเท่านั้น The Glass House สร้างเสร็จในปี 1949 โดยสร้างเสร็จก่อนบ้านต้นแบบ Farnsworth House เป็นระยะเวลา 2 ปี
นอกจากรางวัล Pritzker prize ที่ Philip Johnson ได้รับในปี 1979 แล้ว เขายังได้รับเหรียญทองจาก The American Institute of Architects (AIA) อีกด้วย ด้วยผลงานการออกแบบที่นำกระจกมาใช้เป็นวัสดุหลัก จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกสถาปัตยกรรมในขณะนั้น และส่งผลให้เขากลายเป็นสถาปนิกผู้มากอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Archdaily, Pritzkerprize, The Glass House, Seagram Building, Newyorker, Achievement